องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันอังคาร (1 มิ.ย.) ระบุ “เดลตา” เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยเดียวของตัวกลายพันธุ์โควิด-19 ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย ที่ตอนนี้ถูกพิจารณาว่าเป็นตัวกลายพันธุ์ “ที่น่ากังวล” ส่วนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ อีก 2 ตัวได้ปรับลดระดับลงแล้ว
ตัวกลายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ B.1.617 ซึ่งถูกกล่าวโทษว่าเป็นปัจจัยโหมกระพือการแพร่ระบาดรุนแรงในอินเดียได้รับฉายาว่าเป็นทริปเปิลมิวแทนต์ (triple mutant) เนื่องจากมันแยกออกเป็นสายพันธุ์ย่อย 3 สายพันธุ์
เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลกประกาศให้สายพันธุ์ย่อยทั้งหมดของตัวกลายพันธุ์นี้เป็น “ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” หรือ VOC แต่ในวันอังคาร (1 มิ.ย.) หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ระบุว่ามีเพียงแค่สายพันธุ์ย่อยเดียวที่ควรถูกบรรจุอยู่ในบัญชีดังกล่าว
“มันปรากฏหลักฐานว่าปัจจุบันมีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขใหญ่หลวงขึ้นที่เกี่ยวข้องกับตัวกลายพันธุ์ B.1.617.2 แต่ในขณะเดียวกันนั้นพบว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ มีอัตราการแพร่เชื้อในระดับต่ำ” องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์ด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์เกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่
สายพันธุ์ย่อยเดลตา B.1.617.2 ยังคงเป็น “ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” ร่วมกับตัวกลายพันธุ์อื่นๆ อีก 3 ตัว ประกอบด้วยตัวกลายพันธุ์สหราชอาณาจักร B.1.1.7 หรืออัลฟา (Alpha) ตัวกลายพันธุ์ B.1.351 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ หรือเบตา (Beta) และตัวกลายพันธุ์ P.1 พบครั้งแรกในบราซิลหรือแกมมา (Gamma) ซึ่งถูกมองว่ามีความอันตรายมากกว่าตัวดั้งเดิม เนื่องจากแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า รุนแรงกว่า หรือมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้บางส่วน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ (31 พ.ค.) องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศระบบเรียกชื่อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ โดยใช้อักษรภาษากรีกแทนชื่อประเทศที่พบไวรัสครั้งแรก ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตีตราบาปประทับประเทศเหล่านั้นว่าเป็นต้นตอการระบาด
“เราจะเดินหน้าสังเกตการติดเชื้อที่แบบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่รายงานพบการระบาดของตัวกลายพันธุ์นี้” องค์การอนามัยโลกระบุถึงตัวกลายพันธุ์เดลตา “การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของตัวกลายพันธุ์นี้ยังเป็นเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญสูงสุด”
การจับตามองขององค์การอนามัยโลก สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าตัวกลายพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเวียดนามแถลงเมื่อวันเสาร์ (29 พ.ค.) ดูเหมือนว่าจะเป็นสายพันธุ์ย่อยหนึ่งของเดลตา
“เรารู้ว่า B.1.617.2 ตัวกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยเดลตาเพิ่มการแพร่เชื้อ ซึ่งนั่นหมายความว่ามันสามารถแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้คนได้ง่ายกว่าเดิม” มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาด้านโรคติดต่อ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกกล่าวในวันอังคาร (1 มิ.ย.)
ขณะเดียวกัน ตัวกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย B.1.617.1 หรือที่เรียกว่าแคปปา ถูกปรับลดระดับสู่ “ตัวกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ” ส่วนตัวกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย B.1.617.3 ไม่อยู่แม้กระทั่งในบัญชีตัวกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ องค์การอนามัยโลกระบุ เนื่องจากจนถึงตอนนี้มีรายงานเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ดังกล่าวเพียงน้อยนิดที่แจ้งมายังองค์การอนามัยโลก ขณะที่มันไม่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อตั้งชื่อตามชุดตัวอักษรภาษากรีกแต่อย่างใด
(ที่มา : เอเอฟพี)