xs
xsm
sm
md
lg

‘อนามัยโลก’อนุมัติแล้ว วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ‘ซิโนแวค’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงในวันอังคาร (1 มิ.ย.) ว่า อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตเวชภัณฑ์สัญชาติจีน ในกรณีฉุกเฉินได้ ถือเป็นวัคซีนของแดนมังกรตัวที่ 2 ที่ได้รับโอกาสให้นำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในบรรดาประเทศยากจน

การอนุมัติเช่นนี้ ซึ่งเรียกกันอย่างเป็นทางการคือการได้บรรจุในบัญชีรายชื่อวัคซีนที่สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉิน เท่ากับ WHO ส่งสัญญาณไปถึงพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบในเรื่องยาของประเทศต่างๆ ว่ารับประกันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้

นอกจากนั้นวัคซีนในบัญชีนี้ยังสามารถนำไปใช้ในโครงการ “โคแวกซ์” ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่มุ่งจัดซื้อจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วคือชาติยากจนทั้งหลาย ทั้งนี้ในปัจจุบันโคแวกซ์กำลังเผชิญปัญหาหนักหนาสาหัสในเรื่องการเสาะหาวัคซีนให้เพียงพอแก่ความต้องการ สืบเนื่องจากพวกประเทศร่ำรวยพากันไปกว้านซื้อเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาล ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นชาติผู้ส่งออกวัคซีนรายใหญ่ ก็เผชิญการระบาดของโควด-19 อย่างร้ายแรง และประกาศระงับไม่ให้ส่งออกวัคซีนเป็นการชั่วคราว

จนถึงเวลานี้ นอกจาก ซิโนแวค แล้ว วัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นๆ ซึ่งได้เข้าบัญชีสามารถใช้ฉุกเฉินของ WHO ยังมี วัคซีนของ ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, แอสตราเซเนกา ที่ผลิตในอินเดีย, เกาหลีใต้, และสหภาพยุโรป ซึ่งถูกนับแยกกัน, และ ของซิโนฟาร์ม

คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระที่เป็นผู้พิจารณาเรื่องอนุมัติวัคซีนของ WHO ระบุในคำแถลงเผยแพร่ในวันอังคาร (1) ว่า แนะนำให้ใช้วัคซีนของซิโนแวคแก่ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นมา โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ แต่ไม่มีการระบุอายุสูงสุดที่จะใช้ได้ เนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ว่าน่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันในกลุ่มผู้สูงวัย

กลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคขององค์การอนามัยโลกกลุ่มนี้ ซึ่งเริ่มประชุมเรื่องวัคซีนซิโนแวคในวันที่ 5 พฤษภาคม มีมติออกมาในคราวนี้ภายหลังทบทวนข้อมูลทางคลินิกล่าสุดเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ รวมทั้งวิธีปฏิบัติในการผลิตของบริษัทอีกด้วย

ในคำแถลงวันอังคาร WHO ระบุว่าผลการวัดประสิทธิภาพวัคซีนแสดงให้เห็นว่า วัคซีนซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ในอัตรา 51% ของผู้ได้รับการฉีดวัคซีน และป้องกันการล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง ตลอดจนการล้มป่วยถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ในอัตรา 100% ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา

รอยเตอร์บอกว่า คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระขององค์การอนามัยโลก ได้เคยระบุในเอกสารทบทวนก่อนหน้านี้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ในการทดลองทางคลินิคขั้นที่ 3 ในหลายๆ ประเทศ ออกมาต่างๆ กัน โดยอยู่ในระหว่าง 51% ถึง 84%

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเคยแถลงเมื่อวันที่ 12 พฤษาคมว่า จากการศึกษาของทางกระทรวงในหมู่บุคลากรสาธารณสุข 120,000 คนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค พบว่ามันมีประสิทธิภาพ 94% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ

ทางด้าน เทดรอส อัดฮานอม เกรเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวในการแถลงข่าววันอังคารว่า องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินวัคซีนซิโนแวค – โคโรนาแวค หลังจากพบว่า วัคซีนนี้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีแน่ใจได้ในเรื่องคุณภาพ

“ข้อเรียกร้องของโคโรนาแวคในการเก็บรักษาที่ทำได้ง่าย ทำให้มันมีความเหมาะสมมากสำหรับสถานที่ซึ่งมีทรัพยากรต่ำ” เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่า “เวลานี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่จะต้องนำเอาเครื่องมือช่วยชีวิตเหล่านี้ไปให้ถึงประชาชนที่ต้องการมันโดยรวดเร็ว”

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)




กำลังโหลดความคิดเห็น