xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (19): สิ่งมีชีวิตกับการย้ายและไม่ย้ายถิ่นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร  ที่ผมต้องจั่วหัวบทความผมด้วยชื่อของ “ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช” ผู้เป็นอาจารย์ของผม ก็เพราะว่า หากไม่มีท่าน ผมก็คงไม่ได้เขียนบทความนี้และเรื่องที่กำลังเขียนอยู่นี้ด้วย ถ้าอยากรู้ว่าเพราะอะไร ? มันเกี่ยวกันยังไง ? ท่านผู้อ่านก็คงต้องย้อนกลับไปอ่านตอนก่อนๆ
 
ตอนที่แล้ว ผมได้ยกข้อความอันหนึ่งมาลงท้าย นั่นคือ  “การที่ผู้คนไม่มีความรักในประเทศ (country) หรือกษัตริย์ของพวกเขา” มิได้หมายความว่า “คนเหล่านั้นไม่ชื่นชอบผืนแผ่นดิน (landscape) ที่เขาอยู่” (“The people had no love for their country or their king” which does not mean, I (เกียทซ์) take it, that they disliked the landscape.”)  โดยคำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวของ  โทมัส มาเคาลีย์ (Thomas Macaulay)  นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษในศตวรรษที่สิบเก้าผสมกับนักมานุยวิทยาชาวอเมริกันในศตวรรษที่ยี่สิบที่ชื่ คลิฟฟอร์ด เกียทซ์ (Clifford Geertz) 

และผมได้ตั้งคำถามขึ้นว่า ถ้าผู้คนไม่มีความรักในประเทศ กษัตริย์และรวมทั้งผืนแผ่นดินที่พวกเขาอยู่ เราจะอธิบายอย่างไร ? และได้ให้คำตอบไปว่า คำตอบที่เป็นธรรมชาติและเป็นเหตุเป็นผลที่สุดก็คือ สิ่งมีชีวิตย่อมย้ายถิ่นฐานเพื่อการมีชีวิตรอดหรือชีวิตที่ดีกว่าเสมอ ต้นไม้ยืนต้นยังแผ่กิ่งไปในทิศทางที่มีแสงแดด ไม้เลื้อยย่อมเลื้อยไปสู่ที่ที่มีน้ำอาหารความชุ่มชื้นแสงแดดฉันใด สัตว์ก็ย้ายถิ่นฐานฉันนั้น

แต่การย้ายหรือไม่ย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ มนุษย์อาจมีความต้องการอะไรอื่นๆที่จำเป็นมากกว่าความต้องการของพืชและสัตว์ ?
การย้ายหรือไม่ย้ายถิ่นฐานของสิ่งมีชีวิต ที่ได้แก่ สัตว์และมนุษย์ (จริงๆ พืชก็ย้าย แต่ย้ายได้ยากและสังเกตได้ยากกว่า) สัมพันธ์กับประเด็นใหญ่มากประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ประเด็นเรื่องมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมหรือมนุษย์กับธรรมชาติ มีนักวิชาการชาวเยอรมันท่านหนึ่งชื่อ  เมชทิลด์ โอคเสลิล (Mechthild Oechsle)  ได้เขียนหนังสือเรื่อง  ธรรมชาตินิยมในนิเวศวิทยา (Der okologische Naturalismus)  ซึ่งถูกหยิบยกมาอธิบายขยายความเป็นภาษาอังกฤษโดย  ไรเนอร์ กรุนด์มาน (Reiner Grundmann) ซึ่งสรุปความได้ว่า 
     
 มนุษย์นั้นเป็นทั้งส่วนหนึ่งของธรรมชาติและอยู่เหนือธรรมชาติ (Ubernatur) และนอกจากจะเป็น “ส่วนหนึ่ง” และ “เหนือ” ธรรมชาติแล้ว ยัง “อยู่นอก” (outside) ธรรมชาติด้วย นั่นคือ มนุษย์ไม่ได้มี “ที่ทางเฉพาะแน่นอนตายตัว” (fixed place) ในการดำรงชีวิต อาจจะกล่าวได้ว่า มนุษย์สามารถจะไปอยู่ได้ในทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ และจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆเกือบทั้งหมด และรวมทั้งพืชด้วย เพราะสัตว์และพืชจะอยู่รอดได้ภายใต้พื้นที่ที่เอื้อต่อชีวภาพของมัน เข้าทำนอง “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก” (แต่นายกฯ จะต้องเป็นของลุงตู่เสมอไป ก็คงไม่ใช่ !!) ดังนั้น แม้สัตว์และพืชจะย้ายถิ่นฐานได้ แต่ก็ต้องถูกจำกัดโดยพื้นที่ ภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่จำกัด เพราะถ้าสัตว์และพืชต้องไปอยู่ในที่ๆมีสภาพแตกต่างไปจากสภาวะทางชีวภาพของมัน ก็ถือว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคงปลอดภัย (insecure environment) อาจจะตาย หรือถ้าแต่ละตัวไม่ตาย แต่ก็อาจจะขยายพันธุ์ไม่ได้และสูญพันธุ์ไปนั่นเอง เช่น สภาพแวดล้อมทำให้สามารถยังดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่เอื้อให้ขยายพันธุ์ 
 


แล้วมนุษย์หละ ? สามารถอยู่รอดภายใต้สภาพที่แปลกแยกจากถิ่นฐานที่เคยอยู่ได้อย่างไร ?
คำตอบคือ มนุษย์สามารถสร้าง-ดัดแปลงและปรับสิ่งแวดล้อมที่แปลกแยกทางชีวภาพของตนให้กลายเป็น  “ธรรมชาติที่สอง” (a second nature)  ของตัวเองขึ้นมา คำว่า “ธรรมชาติที่สอง”  นี้หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่ตาม “ธรรมชาติที่หนึ่ง” (ธรรมชาติดั้งเดิมแรกเริ่ม ที่มนุษย์ไม่ได้ไปทำอะไรกับมันมากนัก)  อาจจะไม่เอื้ออำนวยกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ด้วยศักยภาพเฉพาะของมนุษย์ที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มนุษย์สามารถ  กระทำต่อธรรมชาติที่หนึ่ง” โดยการดัดแปลงปรับจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่หรือ  “ธรรมชาติที่สอง”  นั่นเอง

ถ้าจะเปรียบเทียบกับสัตว์ จะพบว่า ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต สัตว์จะเข้าสู่กระบวนการวิวัฒนาการทางชีวภาพของตัวมันเองเพื่อจะมีชีวิตรอด ถ้าวิวัฒนาการทัน ก็รอด ถ้าไม่ทัน ก็ตายและสูญพันธุ์ไป ส่วนมนุษย์นั้น นอกจากจะอยู่ภายใต้กฎวิวัฒนาการไม่ต่างจากพืชและสัตว์อื่นๆ แล้ว มนุษย์ยังสามารถสร้าง  “ธรรมชาติที่สอง” ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความต้องการจำเป็นของมนุษย์ในการต่อสู้กับสภาพธรรมชาติที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต 

 นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ รุสโซ (Rousseau) ได้กล่าวถึง สภาพที่ไม่ตายตัวของมนุษย์ นั่นคือ แม้ว่าแรกเริ่มเดิมที มนุษย์จะเป็นสัตว์กินพืช แต่ถึงเวลาหนึ่ง มนุษย์กินสัตว์ได้ด้วย และเมื่อไม่มีสัตว์ มนุษย์ก็สามารถกินพืชอย่างเดียวก็ได้ และก็ไม่ตาย แถมยังสืบพันธุ์ได้ด้วย ต่างจากสัตว์ ที่หากเป็นสัตว์กินพืชแล้ว ยามไม่มีพืชก็กิน ก็อดตาย มิพักต้องพูดถึงการสืบพันธุ์ เช่นเดียวกัน สัตว์บางชนิดเป็นสัตว์กินเนื้อ ถ้าไม่มีเนื้อ มีแต่กล้วย มันก็อดตายแน่นอน ไม่เชื่อก็ลองดู แต่ไม่ควรทดลองจนมันขาดอาหารหมดแรงตายไปต่อหน้าต่อตา ถือว่าผิดจริยธรรมการทดลอง ! 

 ดังนั้น ความสามารถในการแปลงและสร้าง “ธรรมชาติที่สอง” นี้คือ การแก้ปัญหาของมนุษย์ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ดูจะย้อนแย้ง ที่ว่าย้อนแย้งก็คือ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต่อต้านหรือพยายามจะ “เอาชนะหรืออยู่เหนือ” ธรรมชาติด้วย แต่กระนั้นก็ยัง “อยู่ในและเป็นส่วนหนึ่ง” ของธรรมชาติอยู่เสมอ  


การแก้ไขหรือพยายามจัดการกับปัญหาที่มีความย้อนแย้งนี้ทำให้เกิดมิติที่แปลกใหม่โดยรวมขึ้นมา อันทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อย่างยิ่ง นั่นคือ จากการที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์สร้างและใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยี ซึ่งคำว่าเทคโนโลยีนั้นมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ นั่นคือ techne อันหมายถึงศิลปะหรือความรู้ที่เป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

และจากการประดิษฐ์สร้างและใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ทำให้เกิดผลพวงตามมา นั่นคือ จากการที่มนุษย์บริหารจัดการชีวิตของตนโดยสร้าง “ธรรมชาติที่สอง” ผ่านการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือและเทคโนโลยี ทำให้กล่าวได้ว่า มนุษย์ไม่มี “ศัตรูโดยธรรมชาติ” จริงๆ อย่างที่สัตว์เกือบทุกชนิดมี แม้ว่าในบางครั้งมนุษย์จะมีบางส่วนของธรรมชาติที่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการดำรงชีวิตของตน แต่มนุษย์ก็มักจะเอาชนะหรืออยู่เหนือมันไปได้
ในขณะที่สัตว์ไม่สามารถเอาชนะได้ เช่น น้ำย่อมเป็น “ศัตรูโดยธรรมชาติ” สำหรับสัตว์บางชนิด และมันไม่มีวันจะเอาชนะศัตรูนี้ได้เลย ทำได้อย่างเดียวคือ หลีกหนีน้ำไปไกลๆ

จากมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์กับธรรมชาติ” ที่กล่าวมานี้ ที่ว่า “มนุษย์แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ก็อยู่เหนือและอยู่นอกธรรมชาติ นั่นคือ อาศัยอยู่ในธรรมชาติ แต่ก็กระทำต่อธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดจนเกิดการ “สร้างธรรมชาติที่สอง” ขึ้นผ่านการประดิษฐ์สร้างและใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี” นั้น ได้นำไปสู่  “การอยู่เหนือธรรมชาติ (Ubernatur)” 

 นั่นคือ มนุษย์เป็นทั้ง “ส่วนหนึ่ง” และทั้ง “เหนือ” และทั้ง “นอก” ธรรมชาติในเวลาเดียวกัน 

กล่าวได้ว่า ทรรศนะที่ว่านี้เป็นโลกทัศน์ในแบบ  “anthropocentric” ที่สรุปสั้นๆได้ว่าหมายถึงการเห็นว่า “มนุษย์เป็นใหญ่เหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย” และเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ซึ่งจัดเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ เพราะมนุษย์ในสมัยโบราณไม่ได้คิดแบบนี้ เราอาจเคยได้ยินปรัชญาจีนโบราณที่ว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และควรจะดำรงชีวิตให้ประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ อย่าได้คิดหาญกล้าเอาชนะมัน เพราะไม่มีทางจะชนะได้เลย

เมื่อกล่าวถึงการ “อยู่เหนือธรรมชาติ” (Ubernatur)  ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติจนเกิดธรรมชาติที่สอง ขณะเดียวกัน มนุษย์ไม่ได้กระทำต่อธรรมชาติเท่านั้น เพราะในกระบวนการที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ มนุษย์ก็กระทำต่อตัวเองและธรรมชาติของตัวเองด้วย อันทำให้มนุษย์สร้าง “ธรรมชาติที่สอง” หรืออาจจะมีที่สาม ที่สี่..จนนับไม่ถ้วน ! อันส่งผลให้มนุษย์อยู่ในสภาวะที่  “อยู่เหนือมนุษย์หรืออยู่เหนือธรรมชาติของตัวมนุษย์”  เองด้วย

ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ อาจจะทำให้หลายคนที่เคยอ่านงานของนักปราชญ์ชาวเยอรมันที่ชื่อ   นิทเช่ (Nietzsche  นึกถึงแนวความคิดอันโด่งดังของเขาเรื่อง Übermensch หรือ “Overman หรือ Superman”  ที่พบได้ในหนังสือชื่อ Thus Spoke Zarathustra (1883)  โดย Übermensch หรือ การเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือมนุษย์ คือ เป้าหมายหนึ่งของมนุษย์ ที่มนุษย์ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อตัวมนุษย์เอง 


ดังนั้น การที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถพิเศษเหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มนุษย์จึงสามารถที่จะ “ย้ายถิ่นฐาน”  ไปไหนก็ได้ ตราบเท่าที่เขาสามารถประดิษฐ์สร้างและใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการปรับสิ่งแวดล้อมต่างๆให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของตน เมื่อกล่าวเช่นนี้ หลายคนคงนึกถึงการเดินทางไปยังดาวดวงอื่นในสุริยจักรวาล ที่แม้สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย แต่มนุษย์ก็มีสิ่งประดิษฐ์สร้างและเทคโนโลยีติดตัวไปด้วย ดังที่เห็นจากในหนังภาพยนตร์หรือสารคดีเกี่ยวกับการตั้งสถานีอวกาศก็ดี หรือการเดินเล่นบนดวงจันทร์ (หวังว่าคงไม่ได้หลอกกัน) หรือไม่ต้องไปไกลถึงดาวอังคาร แค่การที่มนุษย์ลงไปใช้ชีวิตใต้น้ำได้เป็นเวลานานๆ โดยใช้ชุดประดาน้ำพร้อมถังออกซิเจน หรืออยู่ในเรือดำน้ำหรือสถานีใต้น้ำ หรือใส่ชุดที่มีเครื่องไอพ่นติดหลังและบินขึ้นไปในอากาศ ก็ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์สามารถย้ายถิ่นฐานไปไหนก็ได้ (แม้ว่าตอนนี้ จะอยู่ในน้ำและในอากาศไม่ได้นานเหมือนเดินบนพื้นดิน แต่นานๆไปก็ไม่แน่)

ดังนั้น น้ำจึงไม่จำเป็นต้องเป็นของปลา และฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นของนกเท่านั้นอีกต่อไป แต่เป็นของมนุษย์ด้วย นกยังบินไปได้ไม่ไกลถึงดาวอังคาร ปลายังดำลึกไม่ได้เท่ามนุษย์ก็มี

ขณะเดียวกัน ด้วยความสามารถในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเดิมไม่อำนวย

มนุษย์ก็สามารถปรับและแปรเปลี่ยนให้มันเอื้ออำนวยกับการดำรงชีวิตของตนได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเหมือนสัตว์ เพราะสัตว์ปรับเปลี่ยนธรรมชาติไม่ได้

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง มนุษย์ที่ย้ายถิ่นฐานเพราะไม่สามารถคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมได้ จึงมีสองเหตุผลใหญ่ๆ นั่นคือ

 หนึ่ง มนุษย์เหล่านั้นมีความสามารถไม่ต่างจากสัตว์มากนัก สอง มีความสามารถมากก็จริง แต่สภาวะแวดล้อมมันเกินเยียวยา จึงจำต้องทิ้งหรือย้ายถิ่นฐานไป แม้ว่าจะรักถิ่นฐานนั้นมากแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อต้องเลือกระหว่างสุนทรียะแห่งอารมณ์บรรยากาศความหลังที่คุ้นเคย กับ การมีชีวิตรอด ก็คงต้องเลือกอันหลัง  

แต่ก็น่าคิดว่า จะมีสัตว์บางตัวไหม ที่ไม่ยอมย้ายถิ่นฐาน แม้ว่าจะต้องตายคาถิ่นเกิดที่เคยเนา (เนา แปลว่า อยู่) ?
แต่สำหรับ มนุษย์ มี ! ซึ่งก็น่าสงสัยว่า ตกลงแล้ว มนุษย์พรรค์นั้นโง่หรือฉลาดกว่าสัตว์กันแน่ ?

และเพราะอะไรมนุษย์เหล่านั้นจึงไม่ยอมย้ายถิ่นแปรฐาน แต่กลับยอมตายคาบ้านเกิดเมืองนอนที่เคยเนา ? คงมีอะไรที่สำคัญกว่าแค่การมีชีวิตรอดเฉยๆ ที่ทำให้คนเหล่านี้ยอมตายเสียดีกว่าจะย้ายถิ่นฐาน

 ขณะเดียวกัน หลายคนก็คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ถ้าอยู่ต่อไปแล้วต้องเป็นทาส ก็ขอไปดีกว่า หรือ ถ้าไปแล้วต้องเป็นทาส ก็ขอตายอย่างเสรีดีกว่า 

และถ้า techne หมายถึงศิลปะหรือความรู้ที่เป็นเครื่องมือให้มนุษย์สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและปลอดภัย คำถามคือ การคิดค้นรูปแบบการปกครองหรือวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้นเข้าข่ายเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งหรือไม่ ?

 เรื่องมันชักจะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ! 




กำลังโหลดความคิดเห็น