ไม่รู้เหมือนกันว่า ในประเทศอื่นนั้นโควิดและวัคซีนถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ แต่ในประเทศไทยเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ต้น ถามว่าความผิดพลาดของรัฐบาลนั้นมีไหมก็ต้องตอบว่า เหตุของการระบาดในระลอกที่สองและสามนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความบกพร่องของกลไกรัฐทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีความประมาทของประชาชนมีส่วนอยู่ด้วยก็ตาม
แต่เมื่อเรามองไปอีกหลายประเทศที่ยังประสบกับภัยคุกคามของโควิด พบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถรับมือได้ดี ส่วนใหญ่แล้วยังจะต้องเผชิญกับโควิดอย่างหนักหน่วงกันแทบทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่า แต่ละประเทศมีผู้นำที่ดีหรือไม่ดี เผด็จการหรือประชาธิปไตย
สิ่งที่อยากเห็นในภาวการณ์เผชิญหน้ากับสถานการณ์ความรุนแรงของโควิดในระลอกสามที่กำลังรุนแรง และยังไม่มีแนวโน้มเลยว่าเราจะลดยอดการติดเชื้อให้น้อยลงกลับมาเป็นศูนย์เหมือนที่เราทำสำเร็จในระลอกแรกได้เมื่อไหร่ก็คือ การที่ทุกฝ่ายแยกแยะเรื่องการเมืองออกจากโควิดแล้วช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เมื่อนั้นแหละเราจะไปถึงทางรอดที่รวดเร็วขึ้น
เพราะในท่ามกลางสถิติการติดเชื้อในแต่ละวันยังสูง และมียอดผู้เสียชีวิตที่สูง ทางออกเดียวที่เราจะต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ในยามนี้ก็คือ การฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ เพราะจนถึงขณะนี้เมื่อรัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มโรคเสี่ยงกลับมีผู้มาลงทะเบียนน้อยมาก
รัฐบาลเตรียมวัคซีนไว้เพื่อฉีดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมถึง 16 ล้านโดส กลับมีผู้ลงทะเบียนเพียงล้านเศษเท่านั้น ทั้งที่หากเราลงทะเบียนฉีดวัคซีนกันซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ได้วันละ 3 แสนโดส ในเดือนสองเดือนข้างหน้าเราจะมีผู้ฉีดวัคซีนสูงกว่าใครในอาเซียน เพราะว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เราแทงม้าตัวนี้เอาไว้นั้นวิ่งเข้าเป้า
เข้าใจเอาว่า กลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่อยากจะฉีด หลายคนคิดว่าตัวเองอายุมากแล้ว พร้อมจะไปวันนี้พรุ่งนี้ บางคนคิดว่าตัวเองไม่ได้ออกไปไหน ระมัดระวังตัวตลอดเวลาจึงไม่อยากฉีดเมื่อรวมกับข่าวคราวของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็เชื่อว่าอยู่อย่างนี้จะปลอดภัยกว่า
แต่มีจำนวนไม่น้อยที่พบว่า ผู้สูงอายุในบ้านได้รับการติดเชื้อจากลูกหลานของตัวเอง เพราะไม่ได้ระมัดระวังตัวดีพอ เชื่อว่าเป็นคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด และเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนักกว่าคนหนุ่มสาวและหลายคนต้องจากลูกหลานไปในที่สุด
ผมคิดว่า ใครที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านในครอบครัวหรือคนรู้จักคุ้นเคย แนะนำให้ฉีดวัคซีนกันเถอะครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัคซีนตัวไหนป้องกันโรคได้ 100% หลังจากฉีดครบโดสแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ถ้าเป็นหรือติด ส่วนใหญ่อาการจะน้อย อาจไม่ถึงขั้นรุนแรงจนต้องนอนห้องไอซียู หรือเสียชีวิต
ประเมินเอาว่า การไม่อยากฉีดหรือกลัวการฉีดวัคซีนนั้นมาจากข่าวคราวการเกิดผลข้างเคียงหลังการฉีด ที่สื่อมักจะรายงานในแง่ของการตื่นตระหนก มากกว่าการให้ความรู้และการอธิบายที่รอบด้าน
ขณะที่หมอส่วนใหญ่แนะนำว่า เราควรจะฉีดวัคซีนเพราะอัตราการเกิดผลข้างเคียงนั้นน้อยมาก ในขณะที่อัตราการติดเชื้อโควิดจนมาถึงการเสียชีวิตนั้นมีสูงกว่า แต่คนส่วนใหญ่กลับเชื่อข่าวที่เล่าต่อกันมาในโซเชียลมีเดียมากกว่าจะเชื่อหมอ
บางคนไม่เชื่อในวัคซีนที่เรามีคือแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค บางคนบอกว่ากลัววัคซีนจีน แต่จริงแล้วซิโนแวคเป็น “วัคซีนเชื้อตาย” ถือเป็นเทคโนโลยีแรกสุดที่มนุษย์ใช้ในการพัฒนาวัคซีน เป็นแพลตฟอร์มแบบดั้งเดิมในการผลิตวัคซีน ข้อดีในแง่ของการผลิต เพราะปลอดภัยและระบบการผลิตมีเสถียรภาพสูงกว่าการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ
แม้จะมีข่าวว่ามีการเกิดอาการคล้ายอัมพาตของการฉีดวัคซีนซิโนแวคในประเทศไทย อาการคล้ายๆ สโตรก (โรคหลอดเลือดสมอง) แต่สุดท้ายพบว่าไม่ใช่สโตรก และพบว่าอาการหายไปภายในหนึ่งวันซึ่งองค์การอนามัยโลกยืนยันว่าเคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในวัคซีนอื่นๆ ด้วย ซึ่งเรียกว่า Immunization Stress-Related Responses (ISRR) หรืออาการที่เกิดจากความวิตกกังวลและความเครียด ซึ่งสะท้อนว่า ไม่ใช่เป็นผลมาจากวัคซีนโดยตรง
เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ใน 3 ชาติที่มีการทดลองใช้วัคซีนซิโนแวคก่อนใคร พบว่าในตุรกีเผยผลเบื้องต้นของการทดลองวัคซีนซิโนแวคในตุรกีว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 91.25 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาบราซิลเปิดเผยผลการทดลองเบื้องต้นของวัคซีนตัวเดียวกันนี้ในประเทศตนว่าอยู่ที่ระดับ 78 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอินโดนีเซียแถลงเมื่อวันที่ 11 มกราคม ว่าผลการทดลองวัคซีนซิโนแวคในประเทศตน ให้ประสิทธิภาพอยู่ที่ 63 เปอร์เซ็นต์
ตอนเขียนอยู่นี้ แม้องค์การอนามัยโลกจะยังไม่รับรองซิโนแวค และมีข่าวว่าจะรับรองในสัปดาห์นี้นั้น ผลการพิจารณาของคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization-SAGE) ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคมีดังนี้
ป้องกันอาการโควิด 67% ป้องกันการแอดมิตเนื่องจากโควิด 85% ป้องกันการเข้าไอซียูเนื่องจากโควิด 89% ป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากโควิด 80%
ลองคิดดูสิครับว่า จีนซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเป็นชาติแรกของโลกทำไมสามารถคุมสถานการณ์ได้อย่างราบคาบ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลของเขามีความเด็ดขาดหรือคนของเขามีวินัยอย่างเดียวหรอก แต่วัคซีนจีนก็ต้องมีส่วนไม่น้อย ตอนนี้มีข่าวว่าจีนระดมฉีดไปได้ 300 กว่าล้านโดสแล้ว แถมบางคนเข็มแรกได้ซิโนแวค เข็มสองได้ซิโนฟาร์มคนละยี่ห้อกันก็มี แต่ทั้งสองยี่ห้อพัฒนามาจากเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน
ส่วนกรณีของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) เกี่ยวกับกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า โดย 2 หน่วยงานสรุปว่า เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในอัตรา 2-4 ต่อล้านการฉีดเท่านั้นเอง
ส่วนผลข้างเคียงส่วนใหญ่จากการฉีดวัคซีนทุกชนิดที่พบคือ อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ มีอาการคลื่นไส้ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับวัคซีนทุกยี่ห้อ ไม่ใช่เฉพาะที่เรามี
ดังนั้นถ้าจะช่วยชาติและกลับมาใช้ชีวิตปกติให้เร็วต้องช่วยกันรณรงค์ให้มาฉีดวัคซีนให้มากที่สุด บางคนดูแคลนวัคซีนที่เรามีอยากจะฉีดยี่ห้ออื่น ถ้าไม่มีเงินมากพอที่จะบินไปฉีดที่ต่างประเทศอย่างที่คนรวยเขาทำกัน ก็อาจจะต้องรอถึงปลายปีหรือต้นปีหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนจะสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือกมาได้ ดังนั้นทางออกที่แนะนำคือ ฉีดไปก่อนเถอะครับเพื่อรักษาชีวิตและความเสี่ยง หลังจากนี้ปีหน้าเรามีวัคซีนทางเลือกแล้วค่อยฉีดวัคซีนที่เราต้องการซ้ำอีกก็ได้
เอาวัคซีนออกจากการเมืองสักเรื่อง เมื่อเราชนะโควิดแล้วค่อยกลับมาตะลุมบอนกันต่อก็ไม่ว่ากัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan