คุณหมอไพโรจน์ นิงสานนท์ เป็นลูกหม้อพันธุ์แท้ของกรมอนามัยระดับตำนาน ผู้เชื่อมั่นในการสาธารณสุขป้องกัน หรือนโยบายสร้าง(สุขภาพ)นำซ่อม (สุขภาพ)มาตั้งแต่เข้ารับราชการในกรมอนามัยเป็นหัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานรักษาประชาชนในเขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ในปี2497 ท่านมักเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า ท่านเป็นบัณทิตแพทยศาสตร์ ศิริราชรุ่นโชคดีที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี2496 หลังจากที่เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อปลายปี2494 และความทรงจำที่ท่านไม่เคยลืมเลือนคือ การที่ได้เข้าเฝ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ณ วัดกุฎี อำเภอเขาย้อย ที่แพทย์ชั้นผู้น้อยเช่นท่านรับผิดชอบอยู่ตรงนั้นพอดี
เส้นทางแพทย์อนามัยสายป้องกันโรคของท่านมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยิ่งเป็นแพทย์สายบู๊ก็ย่อมมีแรงเสียดทานพอสมควร กว่าจะได้เข้ากระทรวงก็ต้องตะเวนเป็นหมออนามัยไป 5 จังหวัด จนได้ฉายาว่า”ชายห้าโบสถ์”ด้วยความที่แก่ประสบการณ์เชิงบู๊นี่เอง จึงเข้าตาผู้ใหญ่สายปฏิรูปอย่างศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รมช.กระทรวงสาธารณสุขยุคนั้น ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับหัวหน้ากอง แต่ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานผ่าตัดกระทรวงสาธารณสุขหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยมีลูกพี่ใหญ่คือศาสตราจารย์ นพ.สมบูรณ์ วัชโรทัย เป็นหัวหน้าทีม ทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงที่เอางานรักษาพยาบาลและงานป้องกันโรคมาไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนกรมต่างๆเป็นกรมวิชาการ แล้วกระจายอำนาจการบริหารงานสู่ภูมิภาคอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นตัวแทนของกระทรวงฯในระดับจังหวัดซึ่งยึดถือกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
พูดได้เลยว่า ถ้าครั้งนั้นไม่ปฏิรูปกระทรวงโดยทีมแพทย์หัวกระทิสายป้องกันแล้ว เวลาเกิดวิกฤติโรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ดุจากต่างประเทศ อย่างเช่น เอดส์ ไข้หวัดนก ซาร์ส ไข้หวัดใหญ่2009 จนถึง โควิด-19 ประเทศไทยคงไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่ามาตรการป้องกันที่เข้มแข็งได้ผลยิ่งกว่าการรักษา เพราะจริงๆแล้วก็ยังไม่มียาใดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา อสม.ไทยที่ดังไกลไปทั่วโลกในฐานะเป็นกองทัพอาสาสมัครสาธารณสุขภาคประชาชนที่ตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 ก็เป็นผลงานของบรรดานักรบอนามัยระดับตำนาน ซึ่งแน่นอนหนึ่งในนั้น มีชื่อของคุณหมอไพโรจน์อยู่แถวหน้าด้วย
ดิฉันยังจำได้ว่าสมัยที่ดิฉันกำลังบุกเบิกงานโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองไล่เลี่ยกับช่วงเริ่มก่อตัวของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.เมื่อ 40 ปีก่อน พรรคพวกแกล้งถามว่า”รู้ไหม อสม.ย่อมาจากอะไร?”แล้วเขาก็เฉลยให้เสร็จสรรพว่า ย่อมาจาก “อมรสร้างมา” คนในวงการสาธารณสุขย่อมรู้จักดีว่า”อมร”หมายถึง คุณหมออมร นนทสุต”อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้สร้าง”อสม.”ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในระดับหมู่บ้านอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมในงานสาธารณสุขของประเทศอย่างเข้มแข็ง โดยมีคุณหมอไพโรจน์ นิงสานนท์ เพื่อนร่วมวิสัยทัศน์ของท่าน ผู้กว้างขวางทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ช่วยเป็นหัวหอกผลักดันงานอสม.ให้บรรลุความสำเร็จ จนมีคนกล่าวกันว่า”อสม.”แปลว่า”อมรสั่งมา”ให้ไพโรจน์ทำ !
ตอนที่คุณหมอไพโรจน์เป็นอธิบดีกรมอนามัย ใครๆก็คิดว่าท่านคงสิ้นสุดชีวิตข้าราชการในตำแหน่งนั้น เพราะท่านปลัดอมรกับท่านจะเกษียณอายุพร้อมกัน แต่แล้วก็เกิดสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด คุณหมออมรลาออกจากตำแหน่งปลัดก่อนเกษียณ เปิดโอกาสคุณหมอไพโรจน์เพื่อนของท่านก้าวขึ้นมาแทนเพื่อสานงาน”นโยบายสร้างนำซ่อม”ให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป ช่วงที่ท่านเป็นปลัด มีคนตั้งฉายาท่านว่า”ปลัดมาเฟีย” ซึ่งใครๆก็ทราบว่าท่านคือ ”มาเฟียแห่งความดี”ผู้มีจิตใจกว้างขวาง เป็นมือประสานสิบทิศให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันทำงานเพื่อส่วนรวม โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา นอกจากนี้คุณหมอไพโรจน์ยังมีอัตลักษณ์พิเศษไม่เหมือนปลัดคนใดคือท่านเป็นหลานตาของท่าน”หมอเพชร หมอพลอย”แพทย์แผนไทยประจำราชสำนัก ท่านภูมิใจที่จะบอกกับใครต่อใครว่าท่านถือกำเนิดด้วยมือหมอตำแยคุณตาหมอพลอย คุณหมอไพโรจน์นี่แหละเป็นผู้เปลี่ยนคำว่า”แผนโบราณ” ที่แปลจากภาษาฝรั่ง มาเป็นคำว่า”แผนไทย”เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับการแพทย์ในวัฒนธรรมของไทยเราเอง เหมือนดังในอดีตที่เราใช้คำว่า”แพทย์สยาม”เพื่อให้แตกต่างจาก”แพทย์ฝรั่ง” ท่านเป็นผู้ผลักดันให้การแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการก่อตั้ง”สถาบันการแพทย์แผนไทย”เป็นหน่วยงานระดับกองขึ้นในกรมการแพทย์เมื่อปี2535
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ด้วยความกว้างขวางของท่าน เมื่อท่านนายกฯ อานันท์
ปันยารชุนฟอร์มรัฐบาลในช่วงปี2534-2535 จึงมีชื่ออดีต”ปลัดมาเฟีย”ร่วมครม.ในฐานะแม่ทัพขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุขเข้าสู่ยุคปฏิรูปทางการเมืองปี2540 ซึ่งแพทย์ผู้บริหารกระทรวงฯรุ่นหลังท่านได้สานต่อก่อตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี2545 อันเป็นจุดกำเนิดของนโยบาย30บาทรักษาทุกโรคที่สร้างความเสมอภาคทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนโดยถ้วนหน้า ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของรัฐบุรุษทางการแพทย์ทุกคน รวมทั้ง นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์
รสนา โตสิตระกูล
19 มีนาคม 2564