นายกสภามหา’ลัย พร้อมด้วย อธิการบดี ม.ขอนแก่น นำทีมคณะกรรมการสภาฯ-คณะผู้บริหาร ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพหลวงพ่อวิริยังค์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล พร้อมถวายรางวัลพระธาตุพนมทองคำ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่หลวงพ่อผู้มีผลงานด้านวิชาสมาธิ นำไปสู่การเผยแพร่ทั่วโลก
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีถวายรางวัลพระธาตุพนมทองคำ พร้อมเป็นเจ้าภาพพิธีบำเพ็ญพระกุศลสวดพระอภิธรรมอุทิศถวายแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล และอดีตประธานกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศแคนาดา โดยมีพระเทพสังวรญาณ (จิรพล อธิจิตฺโต ป.ธ.๗) เจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ วัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์วิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในการนี้ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และดร.เตช บุนนาค อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์และรางวัลพระธาตุพนมทองคำ ร่วมเป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เข้าร่วมพิธี ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์วิหาร เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีมติเห็นสมควรถวายรางวัลพระธาตุพนมทองคำประจำปี 2563 ให้แด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล ซึ่งทางมหาวิทยาลัยตั้งใจนำมาถวายท่านในวันทำบุญอายุวัฒนมงคล ซึ่งตรงกับวันที่ 7 มกราคม แต่ท่านละสังขารเสียก่อนจึงได้นำมาถวายที่หน้าโกศมณฑปในงานสวดพระอภิธรรมศพ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป สำหรับผลงานที่โดดเด่นของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ คือ ท่านเป็นผู้อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ และสร้างวิชาสมาธิให้เป็นที่ประจักษ์ต่อบุคคลทุกหมู่เหล่า โดยนำไปเผยแผ่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การสร้างสันติสุขในโลก นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างสถาบันพลังจิตตานุภาพ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกทำสมาธิ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 288 สาขาทั่วประเทศ
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า รางวัลพระธาตุพนมทองคำ ถือเป็นรางวัลสูงสุดของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มอบให้กับบุคคลที่ทำประโยชน์ให้สังคมระดับประเทศเป็นประจำทุกปี โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ เสนอ และคัดเลือก ซึ่งในแต่ละปีจะมอบให้เพียงบุคคลท่านเดียวเท่านั้น สำหรับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก ทางกรรมการสภาฯ จะดูจากความโดดเด่นทางด้านผลงานที่เป็นประจักษ์ต่อปวงชนมากที่สุด ขณะเดียวกันตลอด 24 ปีที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับคัดเลือกมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ส่วนพิธีรับรางวัลจัดขึ้นในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย สำหรับวิชาสมาธิเป็นวิชาที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่งกำลังผลักดันให้วิชาดังกล่าวมีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นระดับประถมศึกษาเป็นต้นไปรวมถึงคนในวัยทำงานด้วย เพราะมองว่าเทคโนโลยีที่เจริญ เป็นเพียงการเจริญทางวัตถุที่ก่อให้เกิดความเครียด ความแปรปรวนทางด้านอารมณ์ ดังนั้นวิชาสมาธิจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยขัดเกลาจิตใจและสร้างสมดุลให้กับสังคม
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันที่เล็งเห็นความสำคัญของการทำสมาธิ และยังเป็นที่ตั้งของสถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาที่ 78 เราจึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะดำเนินรอยตามคำสอนของหลวงพ่อวิริยังค์ และสานต่องานด้านวิชาสมาธิของท่าน โดยทางมหาวิทยาลัยได้สร้างศูนย์เรียนรู้สมาธิขนาดใหญ่ เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาเข้ามาเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ยังนำวิชาสมาธิไปเปิดสอนในวิชาการศึกษาทั่วไป เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาฝึกสมาธิ และนำพื้นฐานของวิชาดังกล่าวไปปรับใช้ในการเรียนและชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลตอบรับดีมาก นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับครูสอนสมาธิจากสถาบันพลังจิตตานุภาพสาขาที่ 78 และมูลนิธิพลังจิตตานุภาพ โดยจัดทำหลักสูตรอบรมครูเพื่อให้ครูไปสอนสมาธิให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ในภาคอีสานด้วย โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ปี จัดอบรมครูอย่างน้อยปีละ 3 รุ่นๆประมาณ 40-60 คน” อธิการบดีม.ขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย