xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาศาสตร์พื้นฐานของ “วัคซีน” ที่ “ธนาธร” ต้องเรียนรู้ก่อนใส่ร้ายป้ายสีด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ


ภาพเอเอฟพี
ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ
วิศวกรเคมี


คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่า ผมเป็นวิศวกรเคมี แต่ไปทำปริญญาเอกด้านการจำลองเชิงกลของโมเลกุลทางเคมีและไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกด้านเมมเบรนกับชีวเคมีมาด้วย ผมจึงมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนอยู่พอสมควร ทั้งในเชิงของชีวเคมี และวิศวกรรมเคมี

ผมได้ฟังธนาธรออกมาพูดเรื่องวัคซีนอย่างใส่ร้ายป้ายสีเพื่อพยายามด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เคยทำมาสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ที่ไม่น่าประหลาดใจเลยสำหรับผมก็คือการที่ธนาธรพูดเรื่องวัคซีนอย่างปราศจากความเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐานเอาเสียเลย ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่ธนาธรกล่าวถึงวิชา Thermodynamics ว่าเรียนไม่รู้เรื่องเลย ทำข้อสอบไม่ได้เลย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจบปริญญาตรีมาได้อย่างร่อแร่อย่างไรบ้าง

ผมเองก็กลัวคนไทยจะหลงเชื่อคนโง่ที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ก็จำเป็นที่จะต้องเขียนอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐานของวัคซีนให้คนที่ดีแต่พูดสร้างความเสียหาย ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้หายโง่กันเสียที และให้คนไทยได้รู้เท่าทันธนาธร เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนทางปัญญาให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง

การวิจารณ์แบบมั่ว ๆ ตาม ๆ กันของธนาธรและลิ่วล้อ แสดงถึงเจตนาต่ำตมในการบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยขาดความรู้และสติปัญญา แม้ว่าบริษัท Siam Bioscience จะไม่ได้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่บริษัท Siam Bioscience ผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงนำมาใช้เป็นวัคซีนได้อีกด้วย

ยาสำคัญที่บริษัท Siam Bioscience ได้รับการรับรองแล้วผลิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง รักษาภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง และ ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) สำหรับกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวควบคู่กับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) รวมถึงไวรัสเวกเตอร์ (Viral vectors) ที่ถูกนำมาใช้เป็นวัคซีนสำหรับไวรัสโควิดด้วยเช่นกัน

การขาดทุนของบริษัท Siam Bioscience มาจากการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ภายใต้เจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา และดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัท Astrazeneca เลือกบริษัท Siam Bioscience เป็นฐานในการผลิตวัคซีนโควิดพร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มเติมให้อีกด้วย

ดังนั้นการออกมาบิดเบือนให้ร้ายบริษัท Siam Bioscience เพื่อให้กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ในครั้งนี้ เป็นการแพร่เชื้อโรคแห่งความโง่ แทนที่จะช่วยกันสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตให้กับประชาชน แต่คนเหล่านี้กลับปิดกั้นไม่ให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัย ด้วยยัดเยียด การบิดเบือนเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพและชีวิตของประชาชนชาวไทยให้กลายเป็นเรื่องล้มเจ้าตามที่พวกเขาต้องการ


ไวรัสโควิด-19 หน้าตาเป็นอย่างไร?

ไวรัสเป็นอนุภาคชีววัตถุขนาดเล็ก มีโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยสารพันธุกรรมหรือกรดนิวคลีอิกและโปรตีนห่อหุ้ม ต้องอาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตในการเพิ่มจำนวน โดยไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้เองในธรรมชาติ

ในกรณีของไวรัสโควิด SARS-CoV-2 มีสารพันธุกรรมชนิด RNA เป็นไวรัสแบบมีเปลือก ซึ่งมีเปลือกไขมันห่อหุ้มแกนกลางที่เป็น RNA กับโปรตีนอีกชั้นหนึ่ง จึงไม่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แสงแดด ตลอดจนสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ และน้ำสบู่

นอกจากนี้เปลือกไขมันนี้ยังมีปุ่มโปรตีนยื่นออกมาโดยรอบ เรียกว่า สไปค์ (Spike) ที่เป็นกลไกสำคัญในการเกาะและแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ชนิดที่มีโปรตีนตัวรับชื่อว่า ACE2 อยู่บนผนังเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ในระบบทางเดินหายใจ และรูปร่างของโปรตีนสไปค์นี่เองที่เป็นที่มาของชื่อโคโรนาไวรัสเพราะมีรูปร่างดูคล้ายมงกุฎ

ภูมิคุ้มกันไวรัสคือวัคซีน

ไวรัสโควิดแพร่ระบาดผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เมื่อร่างกายได้รับไวรัสโควิด ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา หากสามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ ร่างกายก็จะสามารถต้านทานไวรัสโควิดได้ ตลอดจนไม่มีการแสดงอาการใด ๆ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนติดไวรัสโควิดแล้วไม่แสดงอาการป่วย ในขณะที่บางคนแสดงอาการป่วย

การรับเชื้อไวรัสโควิดโดยตรงแล้วปล่อยให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจึงถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต ดังนั้นวัคซีนจึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเชื้อไวรัสตามธรรมชาติ และเมื่อมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส ไวรัสก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอแล้ว

เทคโนโลยีวัคซีนแบบดั้งเดิมในการผลิตวัคซีนโควิด-19

ในปัจจุบันวัคซีนโควิดมีหลายชนิด ตั้งแต่แบบที่เป็นเทคโนโลยีวัคซีนดั้งเดิม เช่น

ประเภทหนึ่ง วัคซีนแบบเชื้อเป็น (Live Attenuated Vaccine) คือ การนำไวรัสที่อ่อนฤทธิ์จนไม่สามารถก่อโรคได้เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และ

ประเภทสอง วัคซีนแบบเชื้อตาย (Inactivated vaccine) คือ การนำไวรัสที่ตายแล้วมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

สำหรับไวรัสโควิดขณะนี้มีแค่เพียงวัคซีนแบบเชื้อตายเท่านั้น เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่และการทำให้ไวรัสอ่อนฤทธิ์มีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่า

แม้วัคซีนแบบเชื้อตายจะผลิตขึ้นมาจากเชื้อตายที่ไม่ก่อโรคซึ่งมีความปลอดภัย แต่วัคซีนแบบเชื้อตายมีราคาแพง เพราะอาศัยเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตจำนวนมากในการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่มีความปลอดภัยสูง ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท Sinovac และ Sinopharm จากประเทศจีน

.
พันธุวิศวกรรมกับเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตวัคซีนโควิด-19

แต่เทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ โดยเฉพาะพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน จึงไม่จำเป็นต้องใช้อนุภาคของเชื้อไวรัสทั้งอนุภาค หากแต่สามารถนำส่วนหนึ่งส่วนใดของอนุภาคไวรัสมาใช้ผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่าปุ่มโปรตีนที่ยื่นออกมาโดยรอบของไวรัสโควิด หรือ สไปค์ เป็นกลไกสำคัญในการเกาะและแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ชนิดที่มีโปรตีนตัวรับชื่อว่า ACE2 อยู่บนผนังเซลล์ จึงจัดได้ว่าเป็นแอนติเจน (Antigen) หรือ สิ่งแปลกปลอมที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี (Antibody) นั่นก็คือ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง โดยแอนติบอดีสามารถระงับและป้องกันการทำงานของสไปค์เหล่านี้ได้

เมื่อสไปค์ไม่สามารถใช้เกาะและแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ดังกล่าว ไวรัสโควิดก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนและหมดฤทธิ์ไปในที่สุด เป็นไปตามหลักการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นส่วนหนึ่งส่วนใดของอนุภาคไวรัสจึงสามารถนำมาทำเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้

เทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ในการผลิตวัคซีนนี้ แบ่งได้เป็นสามประเภท

ประเภทหนึ่ง วัคซีนแบบใช้โปรตีน (Protein-based Vaccine) คือ การนำโปรตีนของไวรัสโควิดโดยเฉพาะส่วนของสไปค์มาฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยสามารถใช้ยีสต์ แบคทีเรีย หรือพืชบางชนิด เช่น ใบยาสูบ ในการผลิตโปรตีนของไวรัสโควิดได้ วัคซีนชนิดนี้สามารถผลิตได้ง่าย มีความรวดเร็ว ราคาไม่แพง แต่อาจต้องใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท Novavax จากประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้บริษัท Baiya Phytopharm ของไทยเองก็กำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนแบบใช้โปรตีนด้วยความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเภทสอง วัคซีนแบบใช้สารพันธุกรรมกรดนิวคลีอิก (Nucleic-acid Vaccine) แบ่งออกเป็นสองประเภท คือวัคซีน RNA (RNA Vaccine) และ วัคซีน DNA (DNA Vaccine)

สำหรับไวรัสโควิด วัคซีนที่มีความคืบหน้าจนเริ่มมีการฉีดแล้ว คือ การนำสารพันธุกรรม mRNA (Messenger RNA) ของสไปค์มาฉีดในการสร้างภูมิคุ้มกัน การใช้วัคซีนชนิดนี้เป็นการใช้ครั้งแรกในมนุษย์จึงถือได้ว่าอาจมีความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากเป็นการฉีดสารพันธุกรรมโดยตรง อีกทั้งยังจำเป็นต้องอาศัยอุณหภูมิที่เย็นจัด -20 องศา ถึง -70 องศา ในขบวนการขนส่ง รวมไปถึงราคาที่ค่อนข้างแพงของวัคซีน แม้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีผลเคียงข้างในอนาคตหรือไม่ จึงนับว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย และที่ประเทศนอร์เวย์พบผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท Pfizer/BioNTech และ Moderna จากประเทศสหรัฐอเมริกา

.ประเภทสาม วัคซีนแบบใช้ไวรัสเวคเตอร์ (Viral Vector Vaccine) คือ การใส่สารพันธุกรรมของไวรัสจากสไปค์เฉพาะส่วนที่กระตุ้นภูมิต้านทาน เข้าไปในไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ แล้วนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดยวัคซีนประเภทดังกล่าวมีการผลิต และศึกษาวิจัยในมนุษย์แล้ว เช่น วัคซีนอีโบล่า เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท AstraZeneca จากประเทศอังกฤษ

ประเทศไทยโชคดีที่มีฐานการผลิตวัคซีนโควิดเป็นของตัวเอง เนื่องจากบริษัท AstraZeneca ได้คัดเลือกให้บริษัท Siam Bioscience ของประเทศไทย ที่มีศักยภาพในด้านบุคลากรและกำลังการผลิตที่มากถึง 200 ล้านโดส ตลอดจนความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีในการผลิตชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 และเป็นฐานการผลิตเพียงแค่บริษัทเดียวในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมดเป็นเพราะการลงทุนมหาศาลของบริษัท Siam Bioscience ในการวางรากฐานของเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงสำหรับการผลิตชีววัตถุคล้ายคลึง ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าการผลิตยาสามัญทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ให้คนไทยได้เข้าถึง ยาชีววัตถุ ในราคาถูกและปลอดภัย

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพระราชวิสัยทัศน์อันยาวใกลในพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ทรงเสี่ยงลงทุนในการผลิตยาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมาก และทรงยึดถือหลักการขาดทุนคือกำไรเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และการสืบสานต่อยอดพระราชดำริและงานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงงานพระราชทานนี้ทำให้ไทยเราได้เปรียบหลายประเทศ ทำให้เรารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้

ภาษิตจีนได้กล่าวไว้ว่า กินน้ำ อย่าลืมคนขุดบ่อ และ ลูกหลานกตัญญู โชคดี เช่นเดียวกับที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวไว้ว่า เกิดเป็นคุณ ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ขอขอบคุณทีมไทยแลนด์และสยามไบโอไซนส์ ที่ทำงานหนัก เสียสละที่ทำงานนี้เพื่อประเทศชาติ และขอกราบสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

รายการอ้างอิง
Ewen Callaway. Nature. (April 28, 2020). The race for coronavirus vaccines: a graphical guide. https://www.nature.com/articles/d41586-020-01221-y
MANUEL CANALES et al. National Geographic. (October 14, 2020). INVASION AND RESPONSE. https://www.nationalgeographic.com/magazine/2020/11/explore-how-coronavirus-attacks-the-body-and-how-the-body-fights-back/
British Embassy Bangkok. GOV.UK. (October 12, 2020). Thailand joins forces with AstraZeneca on COVID-19 vaccine manufacturing. https://www.gov.uk/government/news/thailand-joins-forces-with-astrazeneca-on-covid-19-vaccine-manufacturing--2



กำลังโหลดความคิดเห็น