xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์สถานการณ์สรรหา กสทช. ในการแสดงวิสัยทัศน์วันสุดท้าย 21 ม.ค. 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ



โดย พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่


บทวิเคราะห์นี้ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง เป็นการคาดเดารายชื่อผู้สมัครว่าท่านใดจะผ่านการสรรหาบ้าง จากความเห็นส่วนตัวที่ได้มาจากแหล่งข่าวที่เสวนากันเป็นปกติวิสัยของสังคมไทยที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง แล้วนำมาวิเคราะห์ประกอบกับหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าวต้องยอมรับว่า คณะกรรมการสรรหา กสทช. ชุดนี้ วิ่งเต้นไม่ได้จริงๆ ตัดสินตรงไปตรงมา บิ๊กเนมจาก กสทช. ตกม้าตายเรียบ คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาส ทหาร คสช. เกษียณ และทหารเหลือใช้จากกองทัพก็ไม่ได้เข้ารอบทุกคน แต่ก็ยังมีข้อกังขามากมายจากความเห็นของผู้สมัครที่ผ่านการแสดง วิสัยทัศน์และตอบคำถามคณะกรรมการสรรหาแล้วสงสัยว่า “ครูออกข้อสอบ แต่ไม่มีคำตอบที่ถูกไว้ตรวจ” เช่นคำถามว่าวิสัยทัศน์สวยหรูของผู้สมัครที่จะนำเทคโนโลยีพัฒนาบ้านเมืองนั้นใช่หน้าที่ของ กสทช.หรือไม่? หรือเป็นหน้าที่ของ Operator ลงมือปฏิบัติ? แม้จะได้รับคำตอบอย่างไรก็เหมือนจะไม่พอใจเพราะมีธงคำตอบที่ไม่ถูกไว้ตรวจ

นอกจาก กสทช.เป็น Regulator แล้วแม้ไม่ใช่ Operator แต่ก็ลงมือปฏิบัติเองบางเรื่องตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมายที่เปิดกว้างไว้อุดช่องรั่วไม่ให้ปฏิเสธโอกาสพัฒนาบ้านเมืองด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร กสทช. จัดให้มีอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลครอบคลุมทั่วประเทศเป็นหมื่นหมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ผู้ประกอบการไม่ยอมลงทุนเพราะเห็นว่าจะขาดทุนแน่ หรือในปีนี้ กสทช. โดยกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า กทปส. ได้กำหนดกรอบวงเงินการจัดสรรเงินจากกองทุนประจำปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,100 ล้านบาท โดยมี เงื่อนไขการอนุมัติงบฯ จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G โครงข่ายไร้สายประสิทธิภาพสูง สู่การพัฒนา งานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนใน 3 กลุ่มสำคัญ คือ

1.กิจการโทรคมนาคม ด้วยการสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ พร้อมปั้นบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน 5G

2.กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ด้วยการพัฒนาระบบวิทยุดิจิทัล และเทคโนโลยี 4K 8K ในกิจการ โทรทัศน์ และ

3.การคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบการสื่อสารต่างๆ ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสทช.นำเทคโนโลยีวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมพัฒนาประเทศต่อเนื่องปิดทองหลังพระมาโดยตลอด ตรงข้ามกับสิ่งผู้สมัครแหล่งข่าวกล่าวว่า กรรมการสรรหาไม่ติดตามข่าว และไม่แม่นกฎหมาย อำนาจหน้าที่ของ กสทช. เมื่อตั้งธงไว้ในใจว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ กสทช. ใครตอบว่าใช่ก็ผิดหมด และไม่มีโอกาสนำหลักฐานมาชี้แจง

21 มกราคม เป็นวันสุดท้ายในการแสดงวิสัยทัศน์ และกรรมการสรรหาเลือกในทางลับเสร็จสิ้นแล้ว และแหล่งข่าวเชิงลึกทำการนั่งทางในเดาผลการสรรหา กสทช.ทั้ง 7 ด้านๆ ละ 2 คน ดังนี้

ด้านกิจการกระจายเสียง
พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาท อายุ 60 ปี อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ
นางอรษา มุขเดียร์ เปอร์ตี

ด้านกิจการโทรคมนาคม
นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อายุ 54 ปีอดีต CEO Cat telecom

รองศาสตราจารย์ ดร.อธิคม ฤกษบุตร อายุ 58 ปี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

ด้านกฎหมาย
นายจิตรนรา นวรัตน์ อายุ 65 ปี อดีตผู้ตรวจการอัยการ

ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยตยะ อายุ 46 ปี ผู้ชำนาญการ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ด้านวิศวกรรม
นายอานนท์ ทับเที่ยง อายุ 58 ปี ประธานสาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล
ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ อายุ 53 ปี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

ด้านเศรษฐศาสตร์
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา
นายณรงค์ เขียดเดช อายุ 61 ปี อดีตผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ดร.วรรณชัย สุวรรณกาญจน์ อายุ 60 ปี อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์

นางสาวอารีวรรณ จตุทอง อายุ 48 ปี ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว

ด้านกิจการโทรทัศน์
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
นางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร อายุ 54 ปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและ เยาวชนแห่งชาติ

รายชื่อทั้งหมดเป็นการคาดเดาจากแหล่งข่าวซึ่งไม่น่าจะเป็นจริง เพราะบางท่านน่าจะขาดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม หรือไม่ก็ไม่ได้ทำงานด้านนั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นายทหารหลุดเข้ามาน้อยกว่าที่ คาด ผู้เกี่ยวข้องกับ กสทช. หลุดมาสองท่าน แต่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครแข็งปึกมาถึงสอง ท่าน

เรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการพิจารณา และเป็นที่น่าสังเกตว่า การสรรหาครั้งนี้ คณะกรรมการไม่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ ยอมให้ผู้สมัครแปดสิบกว่ารายเข้าแสดง วิสัยทัศน์ทั้งหมด แล้วใช้ดุลยพินิจเลือก ข้อสงสัยข้อด่างพร้อยทดไว้ในใจไม่มีโอกาสอธิบายชี้แจง และที่น่าสนใจ กรรมการสรรหาที่จบกฎหมายจริงๆ มีแค่สองท่าน การตีความตามกฎหมายย่อมไม่แม่นว่า ใครคือผู้ประกอบการ ใครคือผู้รับใบอนุญาต ใครคือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนน แน่นอน

ขอยกลักษณะต้องห้ามของ กรรมการ กสทช. ที่สำคัญ และน่าสนใจบางข้อตาม มาตรา 7ข. ใน พ.ร.บ. กสทช. ดังไปนี้
(1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(2) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง
(13) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สองกรณีนี้เป็นสิ่งส่งผลต่อความรู้สึกด้านลบไวมาก แต่การชี้ชัดว่า “ตำแหน่งทางการเมือง” คือ อะไร? ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า
(1) นายกรัฐมนตรี
(2) รัฐมนตรี
(3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(4) สมาชิกวุฒิสภา
(5) ข้าราชการการเมืองอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษา เป็นต้น
(6) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ซึ่งคือข้าราชการประจำในสภา ระดับกลาง ระดับสูง และบรรดาเลขานุการประธานสภา โฆษก ที่ปรึกษา เป็นต้น
(7) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
(8) ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลนคร
(9) ผู้บริหารหรือสมาชิก อบต.

แต่ยังมีคนทำงานการเมืองอื่น ที่ไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7ข. ใน พ.ร.บ. กสทช. ที่ยังมีสิทธิสมัคร เช่น กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษากรรมาธิการหรือแม้แต่ผู้ติดตาม ส.ส. “ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง” และแน่นอนว่าผู้สมัครหลายท่านเป็นกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรย่อมทำให้เกิดอคติในการเกี่ยวพันทางการเมือง ทั้งที่เป็นงานที่มีศักดิ์ศรีสูงสุดเพราะอำนาจสูงสุดคือประชาชน ประชาชนส่งมอบให้ ผู้แทนราษฎร และผู้แทนราษฎรแต่งตั้งกรรมาธิการ ทีนี้หากคณะกรรมการสรรหาไม่ได้หารือข้อวินิจฉัยชี้ชัดให้ กระจ่างแจ้งผู้สมัครย่อมเสียสิทธิในการชี้แจง

ส่วนใน มาตรา 7 ข. (2) ห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง “ตำแหน่งในพรรคการเมือง” คืออะไร?

มาตรา 21 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ถึง “ตำแหน่งในพรรคการเมือง” เป็นองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องมีหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค การเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ พรรค

คำถามว่า สมาชิกพรรค เจ้าหน้าที่พรรค ลูกจ้างหรือแม่บ้าน เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ใช่ และเสรีภาพของประชาชนย่อมสมัครเป็นสมาชิกพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงกันเพื่อ เสนอนโยบายพัฒนาบ้านเมืองโดยไม่ถูกตัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ การเป็นสมาชิกพรรค การเมืองต้องไม่เป็นเหตุอ้างเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน ประชาชนทุกคนควรเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และบริจาคภาษีสนับสนุนด้วยซ้ำ

ลักษณะต้องห้ามของ กรรมการ กสทช. ที่สำคัญ และน่าสนใจบางข้อตาม มาตรา 7 ข. ใน พ.ร.บ. กสทช.

(12) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงานผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนใน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก

(14) เคยเป็นผู้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด เพราะเหตุมี ลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือ หุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

มาตรา 7 ข. ใน พ.ร.บ.กสทช. (12) กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก เป็นข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้บรรดาบิ๊กเนมตกม้าตายกันเป็นแถว เช่น พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง ซึ่งได้งานหลังเกษียณเป็น กรรมการ กฟภ.ก็เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ตกม้าตายมาสมัครโดยไม่อ่านระเบียบตรวจสอบคุณสมบัติตัวเองให้รอบคอบ

“กรรมการหรือผู้บริหาร นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือ กิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก” แหล่งข่าวกล่าวว่า บรรดาผู้บริหาร กสทช. และ กตป. โดนข้อนี้ในฐานที่มีสถานีวิทยุ 1 ปณ. อยู่ในองค์กร และลาออกยังไม่ถึง 1 ปีรวมทั้ง เสธฯ ไก่อู อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนดัง ก็มีทั้งสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ แต่ที่น่าสนใจแล้วกองทัพล่ะ? กองทัพก็เป็นนิติบุคคลมีสถานีวิทยุกระจายเสียงเช่นกัน

พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ อายุ 60 ปี อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 ไม่ถึงเดือนก็ลงสมัคร กสทช. เมื่อตุลาคม 2563 มีแววได้งานทำหลังเกษียณทันที

ถ้าหาก กสทช. คือนิติบุคคลมีสถานีวิทยุ 1 ปณ. ที่ประกอบธุรกิจกระจายเสียง แล้วกองทัพอากาศซึ่ง เป็นนิติบุคคลแน่นอน มีสถานีวิทยุกระจายเสียงไม่รู้กี่สถานีทำธุรกิจแข่งขันในตลาดมีทั้งโฆษณามีทั้งให้ สัมปทานออกอากาศชัดเจน ซึ่งท่านอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศก็อ้างว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายเสียง เช่นกัน และเพิ่งเกษียณไม่ถึง 1 ปีทำไมถึงได้รับการคัดเลือก? กฎหมายตีความตามตัวอักษรก่อน ถ้าไม่เข้าใจ ค่อยไปดูเจตนา อาจจะเป็นหนึ่งช่องว่างส่อแววเอาไว้ล้ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเทศไทยโดยใครไม่รู้ตีความว่า ข้อห้าม กรรมการหรือผู้บริหารนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีเอาแน่ เอานอนไม่ได้บ้างก็ว่าไม่นับคนที่ประกอบธุรกิจเฉยๆ แต่ต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ที่กำกับดูแลอยู่เท่านั้นถึงจะเป็นประโยชน์ทับซ้อน แต่ในกฎหมายมาตรานี้กลับยกเว้น นายทหารจาก คสช. กรรมการบริษัท วิทยุการบิน ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคมจาก กสทช. โดยตรง แต่กลับได้รับเลือกเป็น กตป. จาก สนช. เมื่อสองปีก่อนอย่างหน้าตาเฉย แหล่งข่าวแถว่าบริษัทวิทยุการบินไม่ประกอบธุรกิจก็ไม่เห็น จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเลย

มาตรา 7 ข. ใน พ.ร.บ.กสทช. (14) “ผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการ” มาตรานี้น่าสนใจตรงที่ไม่ค่อยมีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้แบบนี้ส่วนใหญ่เป็นการไล่ออกแต่การพ้นจากตำแหน่งในบริษัทมหาชนโดยไม่ได้รับความไว้วางใจในการบริหารมีหลายรูปแบบ ทั้งมติกรรมการหรือการประท้วงกดดันก็เป็นได้ และเมื่อลองค้นในกูเกิลดูชื่อผู้คาดเดาว่าผ่านการสรรหาก็มีมูลจริงๆ

ในคราวที่แล้วผู้เขียนได้เขียนจับตาการสรรหา กสทช. ด้านวิศวกรรม ซึ่งยากที่จะเอาทหารที่ไม่ใช่วิศวกรตามกฎหมายมาทำงานวิศวกรรม ซึ่งต้องขอยอมรับคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ที่อย่างน้อยก็ได้วิศวกรตัว จริงมาหนึ่งท่านแม้จะเป็นวิศวกรไฟฟ้ากำลัง แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีวิศวกรเลยทั้งที่ บอร์ด กสทช. ทำงานวิศวกรรม โทรคมนาคมอย่างแท้จริง นอกจากอาจจะขัดกฎหมายแล้วยังส่งผลต่อการยอมรับของสื่อมวลชน อย่างไรก็ดี

แหล่งข่าวทราบว่า ผู้สมัครด้านวิศวกรรมบิ๊กเนมนายทหารจบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากต่างประเทศ แต่กรอกในใบสมัครเป็นภาษาไทยว่าตนจบวิศวกรรมศาสตร์อ้างว่า ก.พ.เทียบวุฒิให้ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายของสภาวิศวกร ถูกคณะกรรมการซักจนซีด ทั้งที่เจ้านายของตนเองผลักดันให้มี กสทช.ด้านนี้เพื่อวางตัวให้ตนเข้าสู่ทรัพยากรเลี้ยงดูนายไปยาวๆ แต่ต้องมาตกม้าตาย ติดตามบทความเจาะลึกแบบนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น