ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปแล้ว สำหรับโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการ "สู้โควิด-19" ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 10 โครงการ กรอบวงเงินไม่เกิน 11,326.2783 ล้านบาท
หลังถูกปรับลดจาก คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
เป็น 10 จาก 35 โครงการ ที่ถูกปรับลด 34,940.8188 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการที่เห็นควรสนับสนุน 10 โครงการ ปรับลดจากข้อเสนอ 30,714.8372 ล้านบาท เป็น 11,326.2783 ล้านบาท หรือลดลง 19,388.5489 ล้านบาท 2. โครงการที่เห็นควรไม่สนับสนุน 5 โครงการ 1,366.5950 ล้านบาท และ 3. โครงการที่เห็นควรทบทวน 20 โครงการ 2,859.3866 ล้านบาท
ครม.ยังมอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง“ทบทวน”รายการครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ที่ควรมุ่งเน้นการจัดบริการแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยตรงเป็นลำดับแรกก่อน
ในรายงานของคณะกรรมการฯ ระบุตอนหนึ่งว่าได้เห็นร่วมกันว่า ในช่วงที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการฯ ของ สธ. อาจจะยังไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร และหลายจังหวัดทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยง และความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง ทำให้ผลการพิจารณาของ คณะอนุกรรมการฯ อาจจะยังไม่ครอบคลุมถึงความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม การแก้ปัญหา ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้
ทีนี้มาดู "ประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการฯ" ที่เห็นควรสนับสนุน ไม่ควรสนับสนุน และ เสนอให้ทบทวน ทั้ง 35 โครงการ มีความเป็นมาอย่างไร
"โครงการกลุ่มที่ 1 เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค" มีข้อเสนอ 9 โครงการ เห็นควรสนับสนุน 5 โครงการ วงเงิน 3,422.1607 ล้านบาท และไม่สนับสนุน 4 โครงการ โดยมีความเห็นสนับสนุน ดังนี้
1.1 "โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน”ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับลดจาก 4,726.377 ล้านบาท เป็น 1,474.447 ล้านบาท เนื่องจากการปรับลดจำนวนเดือน ในการจ่ายค่าตอบแทนจาก 9 เดือน เป็น 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงบุคลากร สาธารณสุขกลุ่มอื่นที่ต้องปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจุบันระเบียบฯของกระทรวงการคลัง ยังกำหนดให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมในเดือน มีนาคม - กันยายน 2563 เท่านั้น เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันของบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ และหากสถานการณ์ ยังคงอยู่ก็สามารถเสนอขอรับการสนับสนุนได้อีก
1.2 "โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการของกรมควบคุมโรค” ปรับลดจาก 443.8992 ล้านบาท เป็น 180.8472 ล้านบาท เนื่องจากการปรับแผนการดำเนินงานจาก 9 เดือน เป็น 6 เดือน
การปรับลดเพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการอายุของสินค้าคงคลัง และปรับลดงบประมาณในการจัดชื้อยาต้านไวรัสชนิด Remdesivir วงเงิน 50 ล้านบาท เนื่องจากยังสามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีอยู่ได้
โครงการนี้ มีการสอบถามถึงเหตุผลในการปรับลดรายการจัดชื้อยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ โดยเฉพาะการปรับลดรายการจัดชื้อยาต้านไวรัสชนิด Remdesivirเป็นผลจากการที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ปกติ สธ.จะใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งยังมีอยู่ประมาณ 400,000 เม็ด และจะสามารถรองรับการระบาดรุนแรง (Outbreak)ได้ไม่เกิน 3-4 ครั้ง หรือประมาณ 4 เดือน ประกอบกับ ยาต้านไวรัสชนิด Remdesivir ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก
สำหรับการปรับลดรายการจัดชื้อยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ เป็นผลจากการปรับแผนดำเนินงานและกรอบวงเงินในการจัดชื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ จาก 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย. 64) เป็น 6 เดือน (เม.ย. - ก.ย. 64) เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการอายุของสินค้าคงคลังและลดภาระงบประมาณในการจัดชื้อ
นอกจากนี้ กรรมการฯขอให้ "ผู้แทนกรมควบคุมโรค" ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความพอเพียงของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาป้องกันและควบคุมสถานการณ์ ในปัจจุบัน ในกรณีที่ได้มีการปรับลดรายการต่าง ๆ ซึ่ง ผู้แทนกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขป้ญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ วงเงินรวม 941 ล้านบาท
สำหรับรองรับการดำเนินงานของกรมฯ ในส่วนของงานสอบสวนควบคุมโรค (ซึ่งไม่รวมงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อจะเบิกจ่ายจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ต.ค.63 - มี.ค.64) ประกอบด้วย
ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ 211 ล้านบาท ค่าเบี้ยเลี้ยงโรคสอบสวนโรค 73 ล้านบาท ค่าวัสดุและเวชภัณฑ์ ที่สนับสนุนการสอบสวนและควบคุมโรค อาทิ นํ้ายาตรวจห้องปฏิบัติการ 416.8 ล้านบาท ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) 177 ล้านบาท การจ้างเหมาคัดกรองตามด่านตรวจโรค/สนามบิน 62.9 ล้านบาท
พร้อมทั้งยืนยันว่า การขอรับจัดสรรงบกลางฯ ดังกล่าวไม่มีความซํ้าซ้อนกับการดำเนินโครงการฯ ตามข้อเสนอ ซึ่งโครงการนี้ฯ จะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของกรมฯ ในช่วง 6 เดือนหลัง (เม.ย.- ก.ย.64)
ทั้งนี้ กรรมการฯ ยังเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด ยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูง และหากระยะเวลาในการจัดหายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่สอดรับกับสถานการณ์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในวงกว้างทั้งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ
ขณะที่การดำเนินโครงการฯ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ จะทำให้กรมฯ สามารถจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์การระบาด ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที จึงเห็นควรให้ความเห็นชอบการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ วงเงิน 503.8992 ล้านบาท
1.3 "โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน”ของ กรมควบคุมโรค ปรับลดจาก 542.7081 ล้านบาท เป็น 419.8444 ล้านบาทเป็น การปรับลดรายการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ งานระบาดวิทยา 111.8636 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏบัติการวัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ ที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ "ค่ารถเอกซเรย์ 1 คัน" วงเงิน 11 ล้านบาท
1.4 "แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน สำหรับประชาชนไทย”ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ปรับลดจาก 2,339.24 ล้านบาท เป็น 1,222 ล้านบาท เป็นการปรับลดกิจกรรมที่ยังไม่ส่งผลให้ได้วัคซีนภายในเดือนธ.ค.64 อาทิ กิจกรรมการปรับปรุงกระบวนการผลิตวัคซีนโดย "เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก" กิจกรรมการพัฒนาวัคซีน ต้นแบบที่พร้อมทดสอบทางคลินิก และการเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับการระบาดของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ ตลอดจนกิจกรรม การสำรองขวดแบ่งบรรจุวัคซีน
โครงการนี้ ผู้แทนสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานว่า กิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการเป็นกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมถึงเตรียมความพร้อมของครุภัณฑ์/ วัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็นเพื่อเข้าถึงวัคซีน ซึ่งสถาบันวัคซีนฯ คาดว่า ภายในปี 64 จะสามารถเห็นผล "การทำวิจัยทดสอบวัคซีนในมนุษย์" แต่ไม่สามารถส่งผลให้เกิดการผลิตวัคซีนสำเร็จรูปที่พัฒนา และพร้อมใช้ภายในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กิจกรรมของโครงการฯ ไม่รวมถึง "การจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ"
ประเด็นนี้ กรรมการฯ สอบถามว่าโครงการฯ มีความซํ้าซ้อนกับการระดมทุนของ "บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม หรือไม่ และจะมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันได้อย่างไร"
ซึ่งผู้ชี้แจง รายงานว่า การระดุมทุนของ "บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม" เป็นการระดมทุนเพื่อสร้าง "โรงงานต้นแบบ" ในการผลิตวัคซีนเพื่อทำการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งแตกต่างกับงบประมาณตามข้อเสนอ โครงการฯ ในกิจกรรมการทำวิจัยทดสอบวัคซีนชนิด VLP/Subunit Protein/อื่น ๆ ในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 6 ซึ่งจะมีลักษณะเป็นการสนับสนุนเงิน สำหรับการทำวิจัยทดสอบวัคซีนในมนุษย์ให้กับผู้ที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จก่อนเป็นรายแรก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับลดงบประมาณ สำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการแบ่งบรรจุวัคซีนจากต่างประเทศ และการสำรองขวดแบ่งบรรจุวัคซีน โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า จากบริษัท AstraZeneca จะสามารถจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโด๊ส สำหรับประชากร 13 ล้านคน ประกอบกับ สธ. ได้มีนโยบายจัดหาวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย ร้อยละ 50 ของประชากร (ประมาณ 35 ล้านคน) จึงอาจต้องสำรองเงินไว้ สำหรับจัดหาวัคซีนในอนาคต ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงปรับลดงบประมาณในกิจกรรมดังกล่าว
สำหรับประเด็นความพอเพียงของเงินงบประมาณ เพื่อจัดหาวัคซีนในอนาคตนั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่า หากวงเงินภายใต้แผนงานที่ 1 ไม่เพียงพอสำหรับการจัดหาวัคซีนในอนาคต ก็สามารถโอนวงเงินกู้จากแผนงานที่ 3 มาใช้สำหรับการจัดหาวัคซีนดังกล่าวได้
จึงเห็นควรให้ความเห็นชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแบ่งบรรจุวัคซีนจากต่างประเทศ และปรับลดกิจกรรม/รายการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่
(1) การเตรียมความพร้อมและยื่นขอรับการรับรองของกิจกรรมการปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนรองรับเทคโนโลยี Viral Vector วงเงิน 180 ล้านบาท
(2) การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย วงเงิน 45 ล้านบาท
(3) การปรับปรุงกระบวนการผลิตวัคซีนโดย "เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก" วงเงิน 180 ล้านบาท ทำให้วงเงินของโครงการฯ ปรับลดจาก 2,339.24 ล้านบาท เป็น 1,810.68 ล้านบาท
1.5 "โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3" เพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยการติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่และเชื้อโรคระบาด อื่นๆ ในเขตภาคเหนือ (Boom) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรับลดวงเงินจาก 40 ล้านบาท เป็น 24 ล้านบาท โดยปรับลดในส่วนของงบดำเนินงาน
ต่อมา "โครงการกลุ่มที่ 2 กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ" มีข้อเสนอรวมทั้งสิ้น 23 โครงการ เห็นควรสนับสนุน 3 โครงการ วงเงินรวม 6,168.0639 ล้านบาท และทบทวน 20 โครงการ ที่เป็นโครงการของกรมการแพทย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เนื่องจากมีบางรายการที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาลในการบริการรักษาพยาบาลและบางรายการสนับสนุน การจัดการเรียนการสอน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการจัดบริการแก่ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง ประกอบด้วย
2.1 "โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์ ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค" ของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปรับลดจาก 10,633.2247 ล้านบาท เป็น 1,240.46 ล้านบาท เนื่องจากมีบางรายการไม่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการแก่ผู้ติดเชื้อ โดยตรง อาทิ การจัดซื้อเตียงคลอด เตียงผ่าศพ ยานพาหนะ การปรับปรุงทางเดินเชื่อมอาคาร รถบรรทุก รถโดยสาร ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์
จึงเห็นควรสนับสนุนเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับ "เครื่องช่วยหายใจ" เนื่องจากเป็นครุภัณฑ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดบริการ ในสำดับแรกไปก่อน สำหรับรายการ ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ให้เร่งหารือร่วมกับ สธ. อีกครั้งหนึ่ง โดยในการพิจารณาดังกล่าว นอกจากจำเป็นต้องพิจารณาจัดหาครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่จะสนับสนุนการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19
ประเด็นนี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ประสานข้อมูลกับกองบริหาร การสาธารณสุข รับแจ้งว่า โครงการฯ มีการจัดหาเครื่องมือแพทย์และอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้อง กับห้อง negative pressure จะมีวงเงินรวม 1,244.04 ล้านบาท และครุภัณฑ์ที่เป็น "เครื่องช่วยหายใจ" 792.64 ล้านบาท คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรอนุมติให้ดำเนินโครงการฯ ในช่วงแรกเป็นวงเงิน 2,037.6917ล้านบาท
2.2 "โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์การ ของหน่วยบริการสุขภาพ" ของ สป.สธ. ปรับลดในส่วนค่าบริหารจัดการ 134.9466 ล้านบาท เพื่อไม่ก่อให้เกิดเป็นภาระงบประมาณมากเกินความจำเป็น ทำให้ปรับลดจาก 2,062.7444 ล้านบาท เป็น 1,927.8089 ล้านบาท
2.3 "โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งซาติ (สปสช.) โดยเสนอขอปรับลดจาก 9,300 ลัานบาท เป็น 2,999.695 ล้านบาท
ต่อมา "กลุ่มที่ 3. โครงการสนับสนุน" มีข้อเสนอ 3 โครงการ เห็นควรสนับสนุน 2 โครงการ วงเงินรวม 27.20 ล้านบาท และไม่สนับสนุน 1 โครงการ โดยเห็นควรสนับสนุน ดังนี้
3.1 "โครงการจัดซื้อ จัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรค " ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) วงเงิน 17.48 ล้านบาท โดย สบส. ควรจัดทำแผนความต้องการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เป็นรายพื้นที่ในภาพรวมทั้งประเทศ เพื่อแสดงถึงประโยชน์การใช้งานที่กระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง มากกว่าการกระจุกตัวอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง
3.2 "โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ของการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ระลอกใหม่" ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยปรับลด 499.1527 ล้านบาท เป็น 9.72 ล้านบาท หรือปรับลด 489.4327 ล้านบาทซึ่งเป็นค่าคุ้มครองและชดเชยผู้ปฏิบัติการเฉพาะด้าน สำหรับการรับผู้ต้องสงสัย/ผู้ติดเชื้อเป็นระยะเวลา 3 เตือน ตั้งแต่มกราคม - มีนาคม 2564 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับการอนุมัติค่าตอบแทน อสม. และบุคลากร สาธารณสุขทั้งระบบ
สพฉ.ควรคำนึงถึงความชัดเจนของการจ่ายเงินซดเชยดังกล่าว รวมทั้ง พิจารณาที่มาของแหล่งเงินภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวช้องกับการดำเนินงานของ สพฉ. ซึ่งกรรมการเห็นว่า การให้พิจารณาแหล่งเงินตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มาตรา 16 (1) ที่กำหนดที่มาของเงินรายได้ของสถาบันฯ ว่าสามารถมาจากเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมได้
และในกรณีที่การดำเนินโครงการโดยใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ สามารถจัดสรรเงินอุดหนุน ให้แก่ สพฉ. ได้ตามกฎหมายแล้ว ควรคงข้อสังเกตในประเด็นที่ให้ สพฉ. ดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดเป็นโครงการที่คณะกรรมการชุดนี้ เห็นควรสนับสนุน 10 โครงการ ปรับลดจากวงเงินตามข้อเสนอ 30,714.8372 ล้านบาท เป็น 11,326.2783 ล้านบาท.