xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 ม.ค.2564

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.“อนุทิน” หารือคณะแพทย์ จ่อบังคับผู้ลักลอบข้ามแดน-เล่นพนันติดโควิดต้องออกค่ารักษาเอง หลังพบคนไทยแห่กลับจากบ่อนพม่าติดโควิดเพียบ!

วันนี้ (9 ม.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ถึงการร่วมหารือกับคณะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข กรณีมีผู้ที่ลักลอบข้ามแดนออกไปทำงานในบ่อนการพนัน และหากติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่กระทำผิดควรจ่ายเงินรักษาพยาบาลเอง โดยระบุว่า "เรื่องต้องคิด ต้องแก้ คนทำผิดได้สิทธิ สุจริตชนเสียโอกาส รัฐเสียเงิน"

"เช้าถึงเที่ยงวันนี้ ผมเข้าประชุมกับคณะแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความไม่สบายใจ คณะแพทย์ พูดถึงเรื่องการลักลอบเล่นการพนันที่ยังมีอยู่ ซึ่งตำรวจจับได้ตามข่าว และการเข้ามาของคนไทยที่มีอาการป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ชายแดนแม่สอด จ.ตาก ถูกนำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ยังมีอีก 200-300 คนที่ลักลอบข้ามแดนออกไปทำงานในบ่อน รอกลับเข้ามา เพราะบ่อนปิด และมีอาการป่วย"

"ผมตั้งคำถามกับที่ประชุมว่า กับผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งเล่นการพนัน ลักลอบข้ามแดนไปมา แล้วป่วย โรงพยาบาลต้องเสียเงิน เสียทรัพยากร เสียกำลังคน ไปดูแลคนเหล่านี้ และต้องจำกัดเวลาให้บริการประชาชนทั่วไป ต้องเลื่อนนัดทั้งตรวจรักษา ผ่าตัด รับยา"

"เงินงบประมาณที่ควรจะเอาไปดูแลรักษาประชาชนทั่วไป ต้องเอามาใช้ดูแลคนทำผิดกฎหมายเหล่านี้อีกนาน และมากแค่ไหนยังไม่รู้ ประชาชน คนทำมาหากินสุจริต ร้านค้า ร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจ จะต้องเสียเงิน เสียรายได้ เสียโอกาสการทำงาน และ การมีงานทำ ไปอีกนานเท่าไร อันที่จริง กฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ชัดว่า คนที่เป็นเจ้าของพาหนะหรือนำผู้ป่วย ผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโรค รวมทั้งผู้เดินทางเข้ามาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกักตัว เฝ้าระวังอาการ ดูแล รักษาพยาบาล รวมถึง การป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรค คนที่พาเข้ามา และตัวเอง โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายให้ แต่ก็ถูกแย้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดไว้"

"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” คำถามคือ รัฐควรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้กระทำผิดกฎหมาย เหล่านี้ หรือหากต้องจ่าย ก็น่าจะต้องเรียกเก็บจากผู้ที่นำเชื้อโรคเข้ามา ทั้งผู้ป่วย และผู้จัดหา นำเข้ามา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ได้ ผมจะนำเรื่องนี้ไปประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางฏิบัติ ป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติผิดกฎหมาย โดยไม่มีความรับผิดชอบ เพราะคิดว่าเมื่อป่วย รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาให้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกต่อไป #คนทำผิดต้องไม่ได้รับสิทธิเท่าสุจริตชน"

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยในวันนี้ (9 ม.ค.) ถึงกรณีมีการเดินทางข้ามจากชายแดนเมียนมาเข้า อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ 17 รายจากที่เดินทางเข้ามา 40 ราย เป็นคนไทย ชาย 8 ราย หญิง 9 ราย เป็นกลุ่มพนักงานทำงานในบ่อนคาสิโนฝั่งเมียนมา ซึ่งเป็นบ่อนที่เปิดให้คนมาเล่น แต่มีโควิดระบาดเลยปิดทำเป็นออนไลน์ และมีการติดเชื้อในบ่อน โดยประสานขอเข้ารับการรักษาและกลับมารักษาในไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อค้นประวัติกลับไปก่อนหน้านี้มีผู้เดินทางข้ามแดนธรรมชาติที่ลักลอบกลับมา ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. จำนวน 1 ราย เป็นหญิงอายุ 27 ปี โดยเล่าให้ฟังว่า บ่อนเริ่มมีผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นและกลับมาหลายคน มารักษาคัดกรองใน รพ.เอกชน อ.แม่สอด เมื่อพบติดเชื้อ เข้ารักษาใน รพ.แม่สอด ผลการประเมินเบื้องต้นของทีมสอบสวนโรคพบว่า ข้อมูลเบื้องต้นบ่อนดังกล่าวมีพนักงาน 300 ราย เป็นคนไทย 200 ราย และคนเมียนมา 100 ราย มีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างพนักงานทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อมาก

นพ.จักรรัฐ เผยด้วยว่า มีการประสานงานระหว่างทางการไทยและเมียวดี เฉพาะตรงบ่อนให้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) น่าจะมี 10 กว่าราย ที่ผลบวก กำลังข้ามกลับมาวันนี้ (9 ม.ค.) โดยฝ่ายความมั่นคงประสานให้พนักงานคนไทยกลับเข้ามาอย่างถูกต้องช่องทางปกติ และตรวจสอบระวังการลักลอบข้ามแดน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อจากรณีนี้กี่รายแล้ว นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากการสอบข้อมูลย้อนหลัง 27 ธ.ค. พบ 3 รายจากที่ข้ามมา 6 ราย วันที่ 4 ม.ค. พบเชื้อ 2 ราย จากที่ข้ามมา 9 ราย วันที่ 6 ม.ค. มีหญิงตั้งครรภ์มาคลอดมีการติดเชื้อ 1 ราย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใส่ชุดป้องกันผ่าตัดคลอด และวันที่ 7 ม.ค. พบ 17 ราย จากที่เดินทางข้ามมา 40 ราย ส่วนใหญ่อาการไม่มาก บางรายไม่มีอาการ ทำให้ รพ.แม่สอด ต้องรองรับ 17 รายทันทีในเวลาสั้นๆ ขอย้ำทุกคนว่า คนใดพบเห็นหรือทราบการลอบข้ามแดนมา ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ


2.ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยสะสมทะลุหมื่นรายแล้ว กระจาย 58 จังหวัด แนวโน้มยังเพิ่มไม่หยุด!


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจากวันที่ 3 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 315 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 294 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 20 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 21 ราย 

วันเดียวกัน (3 ม.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ และอยู่ในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (ASQ) โรงพยาบาลเอกชน และได้ควบคุมอย่างดี ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป

วันต่อมา (4 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 745 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 152 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 577 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 16 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาอยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูง มีประวัติเข้าพื้นที่เสี่ยงแถว จ.สมุทรปราการและคลองเตย

วันต่อมา (5 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 527 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 82 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 439 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 6 ราย

วันต่อมา (6 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 365 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 250 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากการคัดกรองเชิงรุก 99 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 16 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 63 ปี อาชีพขับรถรับส่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้านใน จ.สมุทรสาคร ภูมิลำเนาอยู่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีโรคประจำตัวความดันสูง

วันต่อมา (7 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 305 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 193 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากการคัดกรองเชิงรุก 109 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 3 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 88 ปี เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งและติดเตียง มีประวัติติดเชื้อจากลูกชายที่เข้าพื้นที่เสี่ยงใน จ.ระยอง

วันต่อมา (8 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 205 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 131 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 58 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 16 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 205 ราย เป็นผู้ที่มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 123 ราย โดยพบใน กทม. 29 ราย สมุทรสาคร 37 ราย อ่างทอง 4 ราย นครปฐม 4 ราย เชียงใหม่ 4 ราย เลย 4 ราย ชลบุรี 11 ราย สมุทรปราการ 22 ราย และ ลพบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี ลำพูน สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม กระบี่ จังหวัดละ 1 ราย นอกจากนี้มีผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 8 ราย

ล่าสุด (9 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 212 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 187 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 6 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 19 ราย และอีก 5 ราย มาจากเมียนมาไม่เข้าสถานกักกัน ส่วนวันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 291 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 212 ราย เป็นผู้ที่มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 158 ราย ทั้งนี้ แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้น โดยพบผู้ป่วยแล้วทั้งหมด 58 จังหวัด จังหวัดล่าสุดที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อ คือ หนองบัวลำภู

การที่ผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ล่าสุด (9 ม.ค.) จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,053 รายแล้ว โดยเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 7,933 ราย ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2,748 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,120 ราย สถานกักกันที่รัฐจัดให้ 1,573 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 291 ราย รวมเป็น 5,536 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 4,440 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 67 ราย

3.“บิ๊กตู่” ยัน ยังไม่ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด แต่ควบคุมสูงสุดเข้มข้นพิเศษ สรุป ใครไม่โหลด “หมอชนะ” ไม่ผิด!



เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “สาธิต ปิตุเตชะ” ขอบคุณนายกฯ และ ศบค.ที่จะมีการล็อกดาวน์ 5 จังหวัดที่เสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า "ผมต้องขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี และที่ประชุม ศบค. ที่ตัดสินใจตามข้อเสนอแนะของผมและกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะล็อกดาวน์ 5 จังหวัด ที่มีตัวเลขการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนมากและมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด...."

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา (5 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามว่ามีการล็อกดาวน์ 5 จังหวัดภาคตะวันออกจริงตามที่นายสาธิตระบุหรือไม่ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีการล็อกดาวน์ 5 จังหวัดดังกล่าวแต่อย่างใด โดยบอก “ไปอ่านเอา และทำความเข้าใจว่าอะไรคือล็อกดาวน์ อะไรคือไม่ล็อกดาวน์”

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยืนยันต่อที่ประชุม ครม.ว่า ไม่มีการล็อกดาวน์ 5 จังหวัดตามที่มีข่าว ให้ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวอยู่ในกลุ่ม 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้นมากกว่าจังหวัดอื่น โดยให้ถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยผู้ว่าฯ มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการ

มีรายงานว่า ที่ประชุม ครม.ขอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ก่อนจะประเมินอีกครั้งว่า มาตรการจะเข้มข้นขึ้นหรือผ่อนลงได้ หากประกาศล็อกดาวน์ตอนนี้ จะส่งผลให้รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาทันที

ในส่วนของ กทม. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้แถลงผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังมีคำสั่งปิด 25 สถานที่เสี่ยงใน กทม.และขยายเวลาปิดสถานศึกษารวมทั้งสถาบันกวดวิชาไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเห็นชอบให้ขยายเวลาปิดอกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2564 และเปิดวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยได้มีมาตรการเพิ่มเติมคือ ให้ร้านอาหารจำหน่ายอาหารแบบนั่งทานในร้านได้ตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น. ส่วนเวลา 19.00-06.00 น.ให้จำหน่ายแบบสั่งกลับบ้านเท่านั้น เนื่องจากช่วงกลางคืน คนจะนั่งนานกว่าปกติ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ทั้งนี้ ช่วง 06.00-19.00 น. ห้ามการดื่มหรือการจำหน่ายสุราในร้านอาหารด้วย เนื่องจากจะทำให้นั่งในร้านอาหารนานขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2564 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันเดียวกัน (4 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงหลังเป็นประธานประชุม ศบค.ว่า ให้ยกเลิกประกาศของ กทม.ที่ให้ร้านอาหารขายอาหารแบบนั่งทานในร้านได้ตั้งแต่ 06.00-19.00 น.ไปก่อน โดยให้ขายแบบนั่งทานในร้านได้ถึง 21.00 น. เนื่องจากได้รับข้อเสนอจากสมาคมภัตตาคารต่างๆ ว่ามีผลกระทบสูงเหมือนกัน แต่ยังคงมาตรการเดิมที่เคยทำไว้แล้ว ทั้งการกำหนดจำนวนคน มาตรการระยะห่างต่างๆ ซึ่งนายกสมาคมผู้ร้องเรียนมา รับประกันว่าทำได้ ถ้าใครทำไม่ได้ต้องถูกปิด ขอให้ทำได้ตามนั้น ต้องช่วยกันไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบมากในเรื่องของธุรกิจอีก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเรื่องของเงินที่ต้องจัดหาเพิ่มเติม หรือไม่ต้องจัดหาเพิ่มเติม ในงบประมาณที่มีอยู่ที่จะเตรียมการรับสถานการณ์ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 ม.ค. มีมติเห็นชอบตาม ศบค.ชุดใหญ่ ให้ขยายเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 ม.ค.นี้ออกไป จนถึงวันที่ 28 ก.พ.2564 เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการและปฏิบัติงานให้เป็นเอกภาพในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19

ต่อมา วันที่ 7 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ได้กล่าวถึงข้อกำหนดที่ออกตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 ที่ออกเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ว่า มีการยกระดับบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ยึดหลัก อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างามือ ตรวจเช็กอุณหภูมิ เน้นย้ำการใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” “ไทยชนะ” ในการติดตามตัว โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กๆ ระบุว่า หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ติดตั้งแอพหมอชนะ ถือว่าละเมิดกฎหมายฉบับที่ 17 ด้วย นอกจากนี้มีการยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่เข้มงวดอย่างยิ่ง 5 จังหวัดสีแดงเข้ม คือ จันทบุรี ชลบุรี ตราด สมุทรสาคร และระยอง บุคคลที่จะออกจากพื้นที่ ต้องแสดงหลักฐานความจำเป็น พร้อมบัตรประชาชน ส่วนมาตรการปราบปรามลงโทษผู้กระทำผิด เป็นเหตุให้เกิดการระบาด การลักลอบขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ การปล่อยปละละเลย การสมรู้ร่วมคิดการเปิดบ่อนพนันต่างๆ มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีที่ถ้าผู้ใดติดโควิด-19 แล้วพบว่าไม่ได้โหลดแอพ “หมอชนะ” จะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การติดคุกนั้น ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโทรศัพท์ที่พร้อมโหลดแอพต่างๆ ได้ การบังคับให้ต้องโหลด จึงเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนเกินไป สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมายืนยันว่า ไม่โหลดแอพหมอชนะ ก็ไม่ผิดกฎหมาย “ผมได้สอบถามไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้มีความผิดอะไร ถ้ามีโทรศัพท์ที่โหลดแอพไม่ได้ ก็ต้องลงทะเบียนเพื่อควบคุมได้ว่าจะไปไหนต่อไปอย่างไรก็ต้องเขียนแผนต่างๆ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้...”

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ ได้ออกมาขออภัยกรณีสื่อสารเรื่องแอพหมอชนะ โดยยืนยันใหม่ว่า แม้ไม่โหลดแอพนี้ ก็ไม่มีความผิด “เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ไม่สบายใจที่สื่อสารออกไป ในโซเชียลเกิดผลลบมากมาย แต่วันนี้ก็พบว่า วันเดียวมีคนโหลดแอพหมอชนะเพิ่มขึ้นไปถึง 2 ล้านกว่า ก็ลืมความเสียใจ ไม่สบายใจไปเลย... ยืนยัน แอพหมอชนะเราอยากให้ใช้ เพราะเป็นการช่วยลดเวลาทำงานของแพทย์ แต่ยืนยัน ไม่โหลดแอพหมอชนะก็ไม่ผิดนะครับ แต่ถ้าปกปิดข้อมูลถึงจะมีความผิด”

4.ศบค.ชุดเล็ก ขอ ปชช.งดเดินทางข้ามจังหวัดถึง 31 ม.ค.ลดโควิดระบาด ขณะที่ “บิ๊กตู่” ย้ำ คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนฟรี!



วันนี้ (9 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก เห็นชอบให้ขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึง 31 ม.ค.2564 หรือจนกว่าสถานการณ์ตัวเลขจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น

โดย 5 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ให้ใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้ วัดอุณหภูมิ สังเกตอาการ ตรวจแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ขอทราบเหตุจำเป็น และต้องมีเอกสารรับรอง

"ส่วน 72 จังหวัด ให้กระทำลักษณะเดียวกัน ไม่ต้องแสดงเอกสารรับรอง ดังนั้นในภาพรวมทั้งหมด จึงขอความร่วมมืองดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดจนถึง 31 ม.ค.2564 เพื่อลดการแพร่ระบาดหรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น"

สำหรับการขอเอกสารรับรองความจำเป็นเพื่อเดินทางเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม คือ 1. บุคคลทั่วไป ขอเอกสารรับรองได้ที่ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ผู้อำนวยการสำนักงานเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าสถานีตำรวจทุกแห่ง 2.ข้าราชการ ขอเอกสารรับรองได้ที่หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดของตน 3.สถานประกอบการ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ต้องมีการขนส่งเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ให้เจ้าของสถานประกอบการหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดออกหนังสือรับรองได้ 3.บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีความมีความเห็นว่า มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัดเป็นประจำ สามารถออกเอกสารรับรองเป็นห้วงเวลาติดต่อกัน

4.ได้บุคคลที่มีภูมิสำเนาในจังหวัดอื่นแต่จะเดินทางเข้าพื้นที่ 5 จังหวัดต้องขอเอกสารรับรองจากภูมิลำเนาหรือต้นสังกัดเพื่อใช้แสดงในการเข้าและออก ไปและกลับด้วย
สำหรับแบบฟอร์มการขออนุญาต สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.moicovid.com

ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-O-cha ว่า “รัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีนฟรี เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทยให้ได้อย่างน้อย 50% หรือครึ่งประเทศภายในปีนี้ครับ โดยระยะเร่งด่วน เราจะได้รับวัคซีนล็อตแรก 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน ช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ ซึ่ง 2 แสนโดสแรก (เดือน ก.พ.) ตั้งเป้าจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุก่อน จากนั้นเดือน มี.ค.และ เม.ย. จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ”

“นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้สั่งจองจากบริษัท แอสตราเซเนกา อีก 26 ล้านโดส กำหนดรับมอบภายในเดือน พ.ค. และจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป (รวมเป็น 63 ล้านโดส) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับชาวไทย ผมขอย้ำว่า คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี”

5.สรุป 7 วันอันตรายปีใหม่ ตาย 392 ศพ มากกว่าปีที่แล้ว 19 ราย พบรถน้อย แต่ขับเร็วเพิ่ม!



เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 โดยสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.2563-4 ม.ค.2564) ว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 392 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,326 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก, นราธิวาส, น่าน, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 115 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ เชียงราย 18 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 117 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.60, ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.33 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.54 รถปิกอัพ ร้อยละ 6.19 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.77 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 27.45

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย เพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่าช่วงปีใหม่เมื่อปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 373 คน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าเดิม 19 ราย สาเหตุของการเสียชีวิตยังเป็นเรื่องการขับรถเร็ว โดยเฉพาะเมื่อถนนมีรถน้อยลง พบว่ามีการใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากขึ้น นอกจากนี้เป็นการเสียชีวิตจากกรณีเมาแล้วขับ สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใกล้เคียงพื้นที่ที่มีการสังสรรค์ช่วงปีใหม่และใช้ยานพาหนะ

นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า จะมีการนำยอดของผู้เสียชีวิตจากช่วง 7 วันอันตรายไปรับและหาแนวทางเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต เพื่อนำมาตรการมาใช้ตลอดทั้งปี ส่วนจะใช้ยาแรงในช่วงสงกรานต์นี้หรือไม่นั้น ตนมองว่า ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำหนดวันหยุดเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีวันหยุดยาวและคนออกไปเที่ยวก็มักจะเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นต้องมีมาตรการมาดูแลตลอดทั้งปี รวมทั้งจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างศูนย์โควิด-19 และด่านความมั่นคง


กำลังโหลดความคิดเห็น