ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ควันปีศาจ”คือชื่อปฏิบัติการพิเศษของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ที่เพิ่งโชว์ผลงานจับกุมผู้ต้องหาร่วมกันลักลอบผลิตและจำหน่ายน้ำยาและอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท รวมทั้งเตรียมขยายผลดำเนินคดีกลุ่มพริตตี้ นางแบบ ที่งานโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า ตามความผิดฐานร่วมกันขาย โฆษณาหรือสนับสนุนสินค้าที่ผิดกฎหมาย
การตั้งชื่อปฏิบัติการควันปีศาจ ดูจะเป็นความตั้งใจที่จะสื่อให้เห็นว่านี่คือการจับกุมสินค้าอันตรายที่บ่อนทำลายประเทศชาติ ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งเรื่องความอันตรายและการถูกกำหนดให้เป็นสินค้าผิดกฎหมายยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในสังคมจำนวนมาก
การจับกุมล็อตใหญ่ครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรก และแน่นอนว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะแม้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จะมีประกาศตั้งแต่ปี 2557 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร และต่อมาในปี 2558 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็มีคำสั่งห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า
แต่ในทางปฏิบัติ เรากลับพบเห็นคนใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันได้ทั่วไปเหมือนเป็นสินค้าปกติ แม้กระทั่งในรัฐสภา
นอกจากนี้ การแบนบุหรี่ไฟฟ้ายังได้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตามช่องทางต่างๆ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังพบว่ามีการใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน และนักท่องเที่ยวที่นำบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวเข้าประเทศด้วย
การกำหนดโทษที่รุนแรงมากกว่ายาเสพติด กลายเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รีดไถ บางครั้งมีการจับกุมผู้ใช้ ค้นรถ หาของกลาง ก่อนจะเรียกรับสินบน แลกกับการไม่จับกุม เช่นกรณีของ"ฟลุ๊กศรี" เน็ตไอดอลที่เป็นข่าวดังไปเมื่อหลายปีก่อน
จึงกลายกระแสรณรงค์ “ปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า”โดยกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ให้เหตุผลว่า ต้องการให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ ในลักษณะเดียวกับที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือทดแทนการสูบบุหรี่ หรือใช้สำหรับการเลิกบุหรี่ได้
เช่นเดียวกับความพยายามในการปลดล็อกกัญชา กระท่อม หรือการนำสินค้าใต้ดินทั้งหลายขึ้นมาอยู่บนดินเพื่อควบคุม จัดระเบียบ
ความพยายามในการผลักดันให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2561 เมื่อคณะกรรมาธิการพาพาณิชย์ (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกรายงานเสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้าในด้านประโยชน์และโทษอย่างถี่ถ้วน
พร้อมเสนอทางเลือกให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แทนการแบนหลังจากการเข้าร้องเรียนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จึงเป็นที่มาของการนำรายงานฉบับดังกล่าวไปขยายผลในเดือนกันยายน 2561 โดยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ได้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินถึงความไม่เป็นธรรมในการปิดกั้นการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องให้มีการตรวจสอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
เนื่องจากกระบวนการในการออกประกาศดังกล่าว มีการดำเนินการที่ไม่ชอบ ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องเหมาะสม จนสร้างปัญหาก่อความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ในเดือนตุลาคม 2561 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงรับเป็นเจ้าภาพเชิญ 19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หอการค้าไทย เครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูล
ถือเป็นครั้งแรกที่มีการรับฟังความคิดเห็นประเด็นการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่มีทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม
แต่ภายหลังการประชุม คณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งจากกรมการค้าต่างประเทศได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เป็นผู้รับผิดชอบศึกษาผลกระทบ ข้อดี-ข้อเสียของการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่การที่ ศจย. เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผลการศึกษาเมื่อเดือนมกราคม 2563 จึงสรุปออกมาว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นมาตรการที่เหมาะสมแล้ว
เป็นอีกครั้งที่เสียงของประชาชนและข้อมูลงานวิจัยจากต่างประเทศที่สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาร่วมด้วยเลย เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับเชิญเข้าประชุมในครั้งแรก กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการศึกษาของคณะทำงาน ในเดือนเมษายน 2563 เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงเดินหน้าฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง ให้ตรวจสอบกระบวนการทำการศึกษาดังกล่าวให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และทวงสิทธิในการเข้าถึงทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า ซึ่งในที่ประชุมเองก็ยืนยันว่าควรมีการรับฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพราะกระบวนการศึกษาทบทวนของศจย.นั้นมีปัญหา
มีปัญหาเรื่องกระบวนการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ มีงานวิจัยที่ยังขัดหรือแย้งกันอยู่ในหลายประเด็น และมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายได้จริง เพราะมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันกลาดเกลื่อนเสมือนเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงให้มีการไปศึกษางานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจโดยเฉพาะการใช้กลไกตรวจสอบการทำงานอย่างผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะดูเหมือนกว่ากลไลผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีความเป็นกลาง รับฟังความเห็นทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง จนนำไปสู่การพิจารณาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เนื่องจากกระบวนการที่ผ่านมานั้นถูกร้องเรียนว่ามีปัญหา ไม่เป็นกลาง แต่ฝ่ายข้าราชการประจำที่นำโดยกรมการค้าต่างประเทศกลับมิได้นำพาถึงปัญหาดังกล่าว แต่กลับสรุปยืนยันความเห็นตามที่หน่วยงานศึกษาชงเรื่องมาทั้งที่มีการโต้แย้ง คัดค้านกันมาตลอดเวลา 2 ปี
จากที่ว่ามาทั้งหมด แม้หนทางการปลดล๊อกบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ง่ายดายสดใสเหมือนการปลดล๊อกกัญชาหรือกระท่อม ที่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อนานาชาติ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับกฎหมายคุมบุหรี่ไฟฟ้า
ยกตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ที่ในอดีตก็เคยแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต่อมาก็มีการพิจารณาแนวทางควบคุมใหม่ โดยรัฐบาลทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มผู้บริโภค ที่สุด รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศระเบียบในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย ได้ในปี 2561
ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ คณะกรรมาธิการร่วมแห่งสภาผู้แทนราษฎร ก็ดันร่างกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทให้ความร้อนผ่านรัฐสภา เพราะเห็นว่าจะช่วยให้มีความชัดเจนในเรื่องของการห้ามการเข้าถึงของเยาวชน กำหนดอายุของผู้ซื้อ ควบคุมคุณภาพ และจัดระเบียบการใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างรัดกุม
เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่มุมมองของท่านผู้บริหารประเทศ ว่าจะใช้วิธีสร้างภาพน่ากลัว วิ่งไล่จับกันต่อไป หรือจะหาทางควบคุมกันใหม่ ทำให้ถูกต้อง ถูกกฎหมายไป “ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสภา”จะได้ไม่เข้าข่ายผู้กระทำความผิดกฎหมายซะเอง