รัฐสภาภูฏานผ่านร่างกฎหมายยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับการมีเซ็กซ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเมื่อวานนี้ (10 ธ.ค.) ทำให้รัฐเล็กๆ กลางขุนเขาหิมาลัยกลายเป็นประเทศล่าสุดในเอเชียที่แก้กฎหมายเพื่อลดการกีดกันความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ
กฎหมายอาญามาตรา 213 และ 214 ของภูฏานระบุไว้ว่า “การมีเพศสัมพันธ์แบบผิดธรรมชาติ” ถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งมักจะถูกตีความครอบคลุมถึงการมีเซ็กซ์ระหว่างคนเพศเดียวกันด้วย
อูเกน วังดี รองประธานคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาซึ่งทำหน้าที่พิจารณาแก้ไขกฎหมายนี้ ระบุว่า สมาชิกรัฐสภา 63 คนจากทั้งหมด 69 คนโหวตสนับสนุนให้แก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวเสีย โดยมีผู้งดออกเสียง 6 คน
“รักร่วมเพศจะไม่ถือเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบผิดธรรมชาติอีกต่อไป” วังดี ให้สัมภาษณ์จากกรุงทิมพู โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม
ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้จะต้องทูลเกล้าฯ ถวายให้สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏานทรงพิจารณาเห็นชอบ จึงจะมีผลบังคับใช้
ทาชิ เชเทน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในภูฏาน ยอมรับว่ารู้สึก “ปลาบปลื้มและดีใจอย่างมาก” ที่รัฐสภาแก้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการมอบชัยชนะให้กับชุมชน LGBT+
“ผมคิดว่าการที่ร่างกฎหมายผ่านสภาในวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) ทำให้วันนี้กลายเป็นวันสำคัญสำหรับทุกๆ คนในภูฏาน” เทเชน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกลุ่ม Rainbow Bhutan เพื่อสิทธิ LGBT+ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
ก่อนหน้านี้ หลายประเทศในเอเชียก็ได้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก่กลุ่ม LGBT+ มากยิ่งขึ้น
อินเดียยกเลิกกฎหมายยุคอาณานิคมที่กำหนดให้พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมเมื่อปี 2018 ส่วนเนปาลก็จะเริ่มจัดทำสำมะโนประชากรโดยนับกลุ่มคน LGBT+ ด้วยเป็นครั้งแรกในปีหน้า เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสิทธิในด้านการศึกษาและบริการสาธารณสุขเทียบเท่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
ภูฏานมีชื่อเสียงจากการใช้ทฤษฎี “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” เป็นเกณฑ์วัดระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แท้จริงมากกว่าตัวเลข GDP
ที่มา : รอยเตอร์