ในขณะที่การชุมนุมทางการเมืองกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นจากการที่ม็อบต่างๆ ปะทะกัน ได้เกิดกระแสข่าวการทำรัฐประหารเกิดขึ้น และแพร่สะพัดทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้น่าจะเกิดจากการอนุมานโดยอาศัยปัจจัยดังต่อไปนี้
1. การจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ของบรรดาแกนนำม็อบราษฎร เช่น นายอานนท์ นำภา และรุ้ง หรือนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นต้น ได้รุนแรงขึ้น ประกอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ไม่ผ่านสภาฯ และในขณะเดียวกัน ข้อเรียกร้องให้การปฏิรูปสถาบันของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบกับได้มีกลุ่มปกป้องสถาบันเกิดขึ้น และมีการชุมนุมควบคู่กันไปเกือบทุกครั้ง จึงทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะปะทะกัน
2. ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรสองครั้งที่ผ่านมา ได้มีคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ในการชุมนุมครั้งต่อไป อาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปได้
3. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับ (ซึ่งรวมทั้งมาตรา 112) ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ล่วงละเมิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าต่อจากนี้ไป ผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำม็อบราษฎรจะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนี้จริง ผู้ร่วมชุมนุมซึ่งเชื่อถือศรัทธาในผู้นำ คงจะโกรธแค้นและก่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ถึงแม้จะเกิดความรุนแรง และมีการยั่วยุเพื่อให้เกิดการทำรัฐประหาร การทำรัฐประหารก็จะไม่เกิดขึ้น เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้ อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 88 ปี ได้มีการทำรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง และแต่ละครั้งได้มีการปกครองในระบบเผด็จการเป็นเวลานาน เมื่อรวมกันแล้วนานกว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นก็มิได้ทำให้ประเทศไทยดีขึ้นเท่าควรจะเป็น ในทางตรงกันข้าม ในบางช่วงบางตอนของการปกครองในระบบเผด็จการ ทำให้ประเทศถอยหลังด้วยซ้ำ
ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่า เวลานี้ประเทศไทยได้เดินมาไกลกว่าที่จะแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหาร
2. การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องแก้ด้วยวิถีทางการเมือง นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการลาออกหรือโดยกระบวนการยุติธรรม แล้วตั้งรัฐบาลใหม่แล้วรีบดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าที่จำเป็นต้องแก้แล้วยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ ถ้าทำได้เช่นนี้ม็อบการเมืองก็หมดความชอบธรรมที่จะต้องชุมนุมต่อไป จะเหลืออยู่ก็เพียงม็อบเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน ก็จะต้องพบกับการดำเนินคดี และการต่อต้านจากประชาชนกลายเป็นผู้ต้องหาทางกฎหมาย และจำเลยสังคมพร้อมๆ กันในที่สุด ก็ไม่มีที่ยืนในสังคม สุดท้ายก็ฝ่อไปเอง
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า การทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น และต่อจากนี้การปฏิรูปในด้านต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา โดยการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้สอดคล้องกับกาลเวลาโดยไม่จำเป็นต้องลัดขั้นตอนเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มเดียว และเป็นกลุ่มน้อยด้วย