xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “ครูอนาจารศิษย์” “บูลลี่- รังแก” โรงเรียนไม่ปลอดภัย!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะเป็น “วาระทางการเมือง” แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่มี หญิงสาวสวมชุดนักเรียน ม.ปลาย ชูป้าย “หนูถูกครูทำอนาจาร ร.ร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” ขณะร่วมชุมนุมกับ “กลุ่มนักเรียนเลว” เป็นปัญหาที่มีอยู่จริงและดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ไม่เฉพาะเรื่องราวของครูชายกระทำอนาจารนักเรียนหญิงเท่านั้น ยังมีกรณีครูชาย/ครูหญิงล่วงละเมิดเด็กนักเรียนเพศเดียวกัน ประเด็นนี้เป็นปัญหาซุกใต้พรมแวดวงการศึกษาไทย เพราะส่วนมากเด็กนักเรียนจะเก็บงำเป็นความลับ เพราะอับอายหวาดกลัวไม่กล้าออกมาเรียกร้องใดๆ

หรือที่กล้าออกมาบอกเล่าความจริงเรียกร้องให้ลงโทษกับครูหื่น กลับกลายเป็นนักเรียนถูกทางโรงเรียนรังแกซ้ำ ถูกตั้งแง่โดนประณาม ขณะที่ครูอาจเพียงถูกสอบสวนวินัย ไม่มีพยานหลักฐานแน่นหนาสุดท้ายลอยตัว กลายเป็นเด็กนักเรียนผู้ถูกกระทำต้องย้ายโรงเรียนเป็นการหนีปัญหา

เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มโซเชียลมีเดีย หลังการเคลื่อนไหวออกมาเปิดเผยเรื่องราวถูกลวมลามในโรงเรียน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง 5 ปีก่อน ขณะเธอยังเรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนชื่อดังย่านบางแค โดยระบุว่าถูกอาจารย์เอามือจับหน้าอก เอามือจับด้านในตัว ใช้มือลูบขา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เธอเข้าใจมาตลอดว่าเกิดจากความเอ็นดูเด็กนักเรียน ด้วยวุฒิภาวะมองย้อนกลับไปก็พอจะเข้าใจแจ่มแจ้งว่าครูมีเจตนากระทำอนาจารลวนลามทางเพศนักเรียน

หญิงสาวรายดังกล่าวได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการจัดการปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน ดังนี้ 1. ขอให้ทุกโรงเรียนมีนโยบายอบรมคุณครูเรื่องการรู้จักสิทธิในร่างกายนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม 2. ขอให้ทุกโรงเรียนมีหลักสูตรอบรมนักเรียนในสิทธิในร่างกาย และรู้วิธีการป้องกันตัว รวมถึงการปกป้องตัวเองหลังจากเจอเหตุการณ์การถูกคุกคามทางเพศ การทำอนาจาร และการข่มขืน และ 3. เพื่อให้โรงเรียนเอกชนมีความรับผิดชอบและความโปร่งใสมากขึ้น ในการสอบจริยธรรมคุณครูผู้กระทำผิด เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโรงเรียนเอกชนที่ครอบคลุมถึงเรื่องของการละเมิดทางเพศของเด็กนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะมาจากโรงเรียนภายใต้การกำกับของรัฐบาล หรือของเอกชนก็ตาม และให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการดังกล่าวในการฟ้องร้องให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถานศึกษามีความผิดได้ตามกฎหมาย

จากการตรวจสอบข้อมูลไปที่ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรอบ 4 ปี ระหว่าง ปี 2556 – 2560 พบว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย ในจำนวนนี้เป็นครู บุคลากรทางการศึกษา 53 ราย

นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2560 จากการรวบรวมข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า มีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี กว่า 42 ข่าว อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว ในจำนวนนี้มี 17 ข่าว ที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำ มี 13 ข่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิเคราะห์สาเหตุการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เกิดจากปัจจัยดังนี้ 1.เกิดจากระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษา เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหนือ กำหนด ออกคำสั่ง ใช้อำนาจบังคับหรือหลอกล่อ 2. ระบบอุปถัมภ์ ต่างตอบแทน ครูมักจะช่วยเหลือกัน อีกทั้งครูเป็นผู้ที่เคารพนับถือจากคนในชุมชน มีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นักการเมือง ตำรวจ

3. ระบบคิดชายเป็นใหญ่ ถูกปลูกฝังจนขาดความยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งมาพร้อมกับค่านิยม “กินเหล้า เคล้านารี” 4. มายาคติ กล่าวโทษผู้ถูกกระทำ ตีตรา เช่น เป็นเด็กเกเร แต่งตัวโป๊ ทำตัวไม่เหมาะสม ต้องการเงิน และ 5.กระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดเหตุมักจะถูกไกล่เกลี่ยยอมความ อีกทั้งทัศนคติผู้ปฏิบัติงานยังขาดความเข้าใจประเด็นทางเพศ และขาดความละเอียดอ่อน ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

สถานการณ์ครูอนาจารลูกศิษย์จากคำบอกเล่าของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาแก้ปัญหากันเป็นกรณีๆ ไป และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะพยายามจบเรื่องให้เร็วที่สุด กรณีของหญิงสาวชุดนักเรียนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวในอดีต แม้ล่วงเวลากว่า 5 ปีก่อน สิ่งที่สังคมจับตา คือบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับจากนี้

พฤติกรรมของครูอาจารย์กระทำต่อลูกศิษย์อย่างขาดคุณธรรม ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยอมรับว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย จึงมีนโยบายจะทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย กำหนดแนวทางปฏิบัติหากเกิดกรณีครูอนาจารนักเรียน ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าช่วยเหลือเด็กแบบเร่งด่วน ไม่ใช้ระบบประนีประนอมช่วยเหลือพวกกันเอง จนเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่กดทับผู้ด้อยกว่าด้วยอำนาจ หรือถูกมองว่าเด็กที่ออกมาเปิดเผยความจริงถูกตีตราในแง่ลบ

ล่าสุด ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณารายงานเรื่อง “ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว” โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง คือ

แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริง ควรมีการศึกษาเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงว่าเหตุใดจึงถูกกระทำ หรือถูกกระทำด้วยวิธีการใด และแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา เมื่อพบเห็นเหตุการณ์กระทำความรุนแรงต่อเด็ก จะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และทำงานในเชิงรุก โดยใช้กระบวนการจากทีมสหวิชาชีพดำเนินการช่วยเหลือ รวมทั้งควรมีการจัดการเก็บข้อมูลกลางเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีสถานที่รองรับและให้การคุ้มครองผู้ถูกกระทำที่มากเพียงพอ

องค์การยูนิเซฟจำแนกรูปแบบของความรุนแรงในโรงเรียน 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การกลั่นแกล้งรังแกของนักเรียน (Bullying) 2. การลงโทษด้วยความรุนแรง (Corporal punishment) และ 3. การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual abuse)

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุว่าเด็กทุกคนต้องมีสิทธิในการได้รับการศึกษา ซึ่งครูทุกคนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตัวเองอย่างสมวัย และเติบโตเต็มศักยภาพ แต่หน้าที่ของโรงเรียนไม่ได้จำกัดอยู่ที่สิทธิด้านการศึกษาเพียงด้านเดียว

มาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ยังบอกว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง การถูกล่วงละเมิด การทอดทิ้ง และแสวงประโยชน์ ซึ่งการคุ้มครองนี้ จะต้องเกิดขึ้นทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และในชุมชนที่เด็กอยู่อาศัย ครูจึงมีหน้าที่สำคัญในการทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ที่ปลอดภัยและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก และมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการปกป้องคุ้มครองนักเรียนของโรงเรียนด้วย

ดังนั้น เมื่อนักเรียนมีปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดจากการกระทำรุนแรง การที่สถานศึกษามีช่องทางที่ชัดเจนในการรับแจ้งเหตุ มีมาตรการรองรับที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงบทบาทของครูและบุคลากรในการรับฟังโดยไม่ตัดสิน การพิทักษ์สิทธิ์ให้กับเด็ก การจัดบริการหรือส่งต่อไปรับบริการที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เด็กอย่างทันท่วงที

ปัญหาความรุนแรงด้านต่างๆ ในโรงเรียนสะท้อนว่าสถานศึกษาขาดกลไกในการดูแลนักเรียน ครูขาดสำนึกไร้จิตวิญญาณความเป็นครู ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ





กำลังโหลดความคิดเห็น