xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยได้ใช้วัคซีนโควิด กลางปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผู้ผลิตยาและชีวภัณฑ์สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ประกาศ ความสำเร็จผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 เฟส 3 ซึ่งเป็นการทดลองขั้นสุดท้ายว่า มีประสิทธิภาพเฉลี่ย 70% โดยหากมีการปรับขนาดยา ประสิทธิภาพอาจสูงถึง 90%

วัคซีนโควิดของบริษัทยาสหรัฐฯ 2 แห่งที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ไม่นาน คือ ไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% และโมเดอร์นาสูงถึง 49%

อย่างไรก็ตาม ดร.แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาของทำเนียบขาว ในการรับมือกับโควิด และองค์การอนามัยโลก บอกว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสเพียง 50-60% ก็พอแล้ว

วัคซีนของไฟเซอร์ และโมเดอร์นาดีจริง แต่มีราคาแพงมาก และถูกประเทศรวยๆเช่น สหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น ฯลฯ จองซื้อไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตในปีหน้าแล้ว นอกจากนั้น ยังต้องเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำมากถึง -70 องศา ในกรณีของไฟเซอร์ และ -20 องศาสำหรับวัคซีนของโมเดอร์นา ซึ่งทำให้การขนส่ง และจัดเก็บยุ่งยากมาก มีค่าใช้จ่ายสูง

ในขณะที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า มีราคาถูกกว่า 2-3 เท่าตัว คือ ราคาประมาณโดสละ 120-150 บาท และเก็บได้นานในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บในตู้เย็นได้

สถาบันวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนต้านโควิดนี้ขึ้นมา โดยให้สิทธิบัตรกับแอสต้าเซนเนก้า เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญว่า จะต้องขายวัคซีนในราคาถูก หรือเท่ากับต้นทุน จนกว่าการระบาดจะหยุด และต้องกระจายวัคซีนให้ประเทศต่างๆ ทั้งประเทศร่ำรวย ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจนเข้าถึงโดยเท่าเทียมกัน

แอสตร้าเซนเนก้า วางแผนการผลิต และกระจายวัคซีนทั่วโลก โดยหาพันธมิตรในประเทศต่างๆ ให้เป็นผู้ผลิตและกระจายวัคซีน ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์กลางการผลิต และกระจายวัคซีนไวรัสโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเซ็นเอ็มโอยูกับกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ให้เป็นผู้ผลิตวัคซีน

แอสตร้าเซนเนก้า จะมอบวัคซีนตัวอย่างที่ได้รับการรับรองแล้ว ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน AZD 1222 ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และติดตั้งกระบวนการผลิตเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับคนไทย และประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร

สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ของทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการสำนักพระราชวัง ในฐานะประธานกรรมการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า ศูนย์การผลิตของบริษัท มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็ง และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เครื่องจักรดังกล่าว สามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีน AZD 1222 โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า รวมทั้งขั้นตอนการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้กลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด วงเงิน 6,049,723,117 บาท

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีน โดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ภายใต้เงื่อนไขว่า มีโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุผลอื่นๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท และกรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อ และบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ (Purchase Agree For Supply of AZD1222 in Thailand; PA) ในวงเงิน 3,670,292,517 บาท

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีน โดยการจองล่วงหน้า และสัญญาซื้อวัคซีนจากการจองระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคกับบริษัท แอสตราเซนเนก้า ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี

ความหวังที่คนไทยจะได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิดเป็นชาติแรกๆ ในกลางปีหน้า เป็นจริงแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น