รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
คงมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้จักวังลดาวัลย์
อาคารที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แห่งนี้ มีจุดกำเนิดมาจากความรักและผูกพันในครอบครัว จากพ่อสู่ลูก จากสามีสู่ภรรยา จากพ่อแม่สู่ลูก และสุดท้ายคือจากเจ้าของบ้านเดิมกลับสู่วงศ์ตระกูล
เดิมอาคารสำนักงานทรัพย์สินฯ ชื่อ "วังลดาวัลย์" เล่าอย่างชาวบ้านคือเป็นบ้านที่พ่อสร้างไว้ให้ลูกชายที่โตเป็นหนุ่ม เรียนจบ พร้อมจะสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังนี้ต่อมาเป็นเรือนหอ และที่กำเนิดของหลานปู่ 3 คน
คนในตระกูลควรจะได้อยู่กันชั่วลูกหลานเหลน ถ้าไม่ใช่เพราะการเมืองเข้ามาแทรก เพื่อลบประวัติบ้านออกไปจากเจ้าของ
แต่เจ้าของคนสุดท้าย ก็พยายามอย่างดีที่สุดจนสามารถรักษาบ้านหลังนี้ไว้ให้กลับไปอยู่ในความดูแลของวงศ์ตระกูลอีกครั้ง
ประวัติของวังลดาวัลย์ เริ่มต้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทยอยกลับจากยุโรปเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างวังใหม่ พระราชทาน ทั้งนี้เพราะพระเจ้าลูกยาเธอเมื่อเสด็จไปต่างประเทศ ก็ยังทรงพระเยาว์ พระชันษาสัก 12-13 อยู่ทั้งสิ้น ยังไม่มีวังของพระองค์เอง
วังทั้งหมดที่สร้าง พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงใช้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งเป็นเงินราชการอันมีไว้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ของประเทศ แต่ทรงใช้เงินจากพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นเงินส่วนพระองค์
ดังมีคำอธิบายในพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีถึง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ว่า
“ที่วังนั้นมิได้บังคับเรียกเอาที่โดยอำนาจราชการ เหมือนอย่างสร้างวังมาแต่ก่อน ทรงซื้อด้วยเงิน พระคลังข้างที่ อันเป็นของส่วนพระองค์ เหมือนอย่างราษฎรซื้อขายกันตามประเพณีบ้านเมือง เพราะฉะนั้น ขอให้วังนั้นเป็นสิทธิ แก่พระเจ้าลูกยาเธอ ตลอดไปจนเชื้อสาย ถ้าหากรัฐบาลจะต้องการที่วังนั้นใช้ในราชการ ก็ให้ซื้อตามราคาอันสมควร”
ในบรรดาที่ดินที่ซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม ทรงซื้อจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจำนวน ๒๗ ราย ได้ที่ดินเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๘๐ ตารางวา
เดิมมีพระราชประสงค์จะสร้างพระตำหนักที่ประทับของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
แต่พระอรรคชายาได้สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อสร้างวังที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระภาคิไนยของพระอัครชายา
ทั้งนี้เพราะเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีฯ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักรอังกฤษ กำลังจะเสด็จกลับสยาม
พระตำหนักออกแบบโดย นาย จี บลูโน (Mr.G. Bruno) สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน พระสถิตย์นิมานการ เจ้ากรมโยธาธิการ เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตัวพระตำหนักใช้เวลาในการก่อสร้างนานประมาณ ๑๘ เดือน สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๑๘,๐๐๐ บาท มีชื่อว่า" วังลดาวัลย์" ตั้งตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้เป็นพระชนกของพระอรรคชายา และเป็นพระอัยกาของเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์
วังลดาวัลย์ได้เป็นเรือนหอของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ทรงมีพระโอรส 3 องค์ คือ
พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร
พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นเจ้าของวังลดาวัลย์มาจนถึง พ.ศ.2475 ก็ประชวรพระโรคพระหทัย
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2475 สิริพระชันษา 49 ปี 22 วัน
เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ผู้ครอบครองวังลดาวัลย์ต่อมาคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
ต่อมาถึง 6 มิถุนายน พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังลดาวัลย์ก็ยังเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของเจ้าของวัง
ต่อมาจนถึงพ.ศ. 2482 สยามเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาตกลงประนีประนอมเป็นมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งกองทัพอยู่ในประเทศได้โดยปราศจากการขัดขวาง
วังลดาวัลย์ที่เป็น "บ้านส่วนตัว" ของ "เจ้า" เกิดเข้าตาจอมพลป. ว่าสมควรจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านาย
จอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากกว่านายกฯคนก่อน ๆ หน้านี้ เพราะควบบทบาท "ท่านผู้นำ" ที่ประชาชนจะต้องเชื่อฟังโดยไม่มีข้อแย้ง
เมื่อจอมพลป. เกิดเห็นดีว่าวังลดาวัลย์กว้างขวาง เหมาะสมจะเป็นกองบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่น (แต่ใช้ชื่อว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรม) ก็สามารถทำได้ โดยการเจรจากับเจ้าของวัง ว่าอยากใช้สถานที่นี้ ไม่ว่าจะให้เช่าหรือขายในราคาถูกก็ตาม
พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรคงจะทรงเห็นตัวอย่างมาแล้ว ว่าวังต่าง ๆ เมื่อตกเป็นของรัฐแล้วจะมีชะตากรรมอย่างใด ถ้าโชคดีก็อาจจะอยู่รอดต่อไปได้ ถ้าร้ายก็เป็นอย่างวังวินด์เซอร์ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศที่ไม่เหลือร่องรอยอยู่อีกเลย เพราะถูกรื้อทำสนามกีฬาศุภชลาศัย
จึงตัดสินพระทัยขายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในตอนปลายสงครามโลก ปี 2488 วังลดาวัลย์จึงอยู่รอดตลอดมา
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ริเริ่มแนวคิดที่จะบูรณะให้เป็น“อาคารต้นแบบของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ” ตั้งแต่ พ.ศ.2530 จึงได้มีการวางแผนดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร และผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาตลอดการบูรณะ จนกลายเป็นวังลดาวัลย์ที่งดงาม เป็นสมบัติล้ำค่าทางสถาปัตยกรรมสำหรับการอนุรักษ์มรดกไทย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
คงมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้จักวังลดาวัลย์
อาคารที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แห่งนี้ มีจุดกำเนิดมาจากความรักและผูกพันในครอบครัว จากพ่อสู่ลูก จากสามีสู่ภรรยา จากพ่อแม่สู่ลูก และสุดท้ายคือจากเจ้าของบ้านเดิมกลับสู่วงศ์ตระกูล
เดิมอาคารสำนักงานทรัพย์สินฯ ชื่อ "วังลดาวัลย์" เล่าอย่างชาวบ้านคือเป็นบ้านที่พ่อสร้างไว้ให้ลูกชายที่โตเป็นหนุ่ม เรียนจบ พร้อมจะสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังนี้ต่อมาเป็นเรือนหอ และที่กำเนิดของหลานปู่ 3 คน
คนในตระกูลควรจะได้อยู่กันชั่วลูกหลานเหลน ถ้าไม่ใช่เพราะการเมืองเข้ามาแทรก เพื่อลบประวัติบ้านออกไปจากเจ้าของ
แต่เจ้าของคนสุดท้าย ก็พยายามอย่างดีที่สุดจนสามารถรักษาบ้านหลังนี้ไว้ให้กลับไปอยู่ในความดูแลของวงศ์ตระกูลอีกครั้ง
ประวัติของวังลดาวัลย์ เริ่มต้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทยอยกลับจากยุโรปเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างวังใหม่ พระราชทาน ทั้งนี้เพราะพระเจ้าลูกยาเธอเมื่อเสด็จไปต่างประเทศ ก็ยังทรงพระเยาว์ พระชันษาสัก 12-13 อยู่ทั้งสิ้น ยังไม่มีวังของพระองค์เอง
วังทั้งหมดที่สร้าง พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงใช้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งเป็นเงินราชการอันมีไว้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ของประเทศ แต่ทรงใช้เงินจากพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นเงินส่วนพระองค์
ดังมีคำอธิบายในพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีถึง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ว่า
“ที่วังนั้นมิได้บังคับเรียกเอาที่โดยอำนาจราชการ เหมือนอย่างสร้างวังมาแต่ก่อน ทรงซื้อด้วยเงิน พระคลังข้างที่ อันเป็นของส่วนพระองค์ เหมือนอย่างราษฎรซื้อขายกันตามประเพณีบ้านเมือง เพราะฉะนั้น ขอให้วังนั้นเป็นสิทธิ แก่พระเจ้าลูกยาเธอ ตลอดไปจนเชื้อสาย ถ้าหากรัฐบาลจะต้องการที่วังนั้นใช้ในราชการ ก็ให้ซื้อตามราคาอันสมควร”
ในบรรดาที่ดินที่ซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม ทรงซื้อจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจำนวน ๒๗ ราย ได้ที่ดินเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๘๐ ตารางวา
เดิมมีพระราชประสงค์จะสร้างพระตำหนักที่ประทับของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
แต่พระอรรคชายาได้สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อสร้างวังที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระภาคิไนยของพระอัครชายา
ทั้งนี้เพราะเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีฯ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักรอังกฤษ กำลังจะเสด็จกลับสยาม
พระตำหนักออกแบบโดย นาย จี บลูโน (Mr.G. Bruno) สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน พระสถิตย์นิมานการ เจ้ากรมโยธาธิการ เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตัวพระตำหนักใช้เวลาในการก่อสร้างนานประมาณ ๑๘ เดือน สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๑๘,๐๐๐ บาท มีชื่อว่า" วังลดาวัลย์" ตั้งตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้เป็นพระชนกของพระอรรคชายา และเป็นพระอัยกาของเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์
วังลดาวัลย์ได้เป็นเรือนหอของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ทรงมีพระโอรส 3 องค์ คือ
พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร
พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นเจ้าของวังลดาวัลย์มาจนถึง พ.ศ.2475 ก็ประชวรพระโรคพระหทัย
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2475 สิริพระชันษา 49 ปี 22 วัน
เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ผู้ครอบครองวังลดาวัลย์ต่อมาคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
ต่อมาถึง 6 มิถุนายน พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังลดาวัลย์ก็ยังเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของเจ้าของวัง
ต่อมาจนถึงพ.ศ. 2482 สยามเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาตกลงประนีประนอมเป็นมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งกองทัพอยู่ในประเทศได้โดยปราศจากการขัดขวาง
วังลดาวัลย์ที่เป็น "บ้านส่วนตัว" ของ "เจ้า" เกิดเข้าตาจอมพลป. ว่าสมควรจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านาย
จอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากกว่านายกฯคนก่อน ๆ หน้านี้ เพราะควบบทบาท "ท่านผู้นำ" ที่ประชาชนจะต้องเชื่อฟังโดยไม่มีข้อแย้ง
เมื่อจอมพลป. เกิดเห็นดีว่าวังลดาวัลย์กว้างขวาง เหมาะสมจะเป็นกองบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่น (แต่ใช้ชื่อว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรม) ก็สามารถทำได้ โดยการเจรจากับเจ้าของวัง ว่าอยากใช้สถานที่นี้ ไม่ว่าจะให้เช่าหรือขายในราคาถูกก็ตาม
พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรคงจะทรงเห็นตัวอย่างมาแล้ว ว่าวังต่าง ๆ เมื่อตกเป็นของรัฐแล้วจะมีชะตากรรมอย่างใด ถ้าโชคดีก็อาจจะอยู่รอดต่อไปได้ ถ้าร้ายก็เป็นอย่างวังวินด์เซอร์ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศที่ไม่เหลือร่องรอยอยู่อีกเลย เพราะถูกรื้อทำสนามกีฬาศุภชลาศัย
จึงตัดสินพระทัยขายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในตอนปลายสงครามโลก ปี 2488 วังลดาวัลย์จึงอยู่รอดตลอดมา
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ริเริ่มแนวคิดที่จะบูรณะให้เป็น“อาคารต้นแบบของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ” ตั้งแต่ พ.ศ.2530 จึงได้มีการวางแผนดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร และผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาตลอดการบูรณะ จนกลายเป็นวังลดาวัลย์ที่งดงาม เป็นสมบัติล้ำค่าทางสถาปัตยกรรมสำหรับการอนุรักษ์มรดกไทย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน