xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก “พระคลังข้างที่” ก่อนถูก “คณะราษฎร” ก่อการปฏิวัติ เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม.ล.สุดารัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เผยที่มาของ “พระคลังข้างที่” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ด้วยน้ำมือของ “คณะราษฎร” และยึดสมบัติของพระมหากษัตริย์ไปเป็นของกลุ่มตัวเอง

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ได้ทำการสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริเวณใกล้เคียงจนสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยมีการนัดหมายการชุมนุมใหญ่ครั้งถัดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่า เพื่อเป็นการทวงภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์ ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการประท้วงของกลุ่มคณะราษฎรเพื่อต้องการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Sudarat Snidvongs” หรือ ม.ล.สุดารัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผยประวัติความเป็นมาของ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ซึ่งนำข้อมูลมาจาก "นายอัษฎางค์ ยมนาค" นักประวัติศาสตร์ ว่าแท้จริงแล้วเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ถูกคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนจะยึดไปเป็นของกลุ่มตนเอง ทั้งนี้ ผู้โพสต์ได้อธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดว่า

“สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ประวัติสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งเป็นยุคที่การค้าขายกับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
- จึงได้ทรงเก็บสะสมกำไรที่ได้จากการค้าสำเภา
- ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
- ไว้ในถุงผ้าสีแดงซึ่งเรียกกันว่า “เงินถุงแดง”
- ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม เรียกว่า “เงินข้างที่”

ต่อมามีจำนวนมากขึ้นก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม จึงเรียกว่า “คลังข้างที่” โดยได้พระราชทานให้ไว้เป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เกิดเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ. 2426) ที่สยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสจึงได้นำเงินถุงแดงมาสมทบเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายและค่าประกันแก่ฝรั่งเศส จนสามารถรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดินอย่างเด็ดขาด โดยทรงมอบหมายให้ “กรมพระคลังข้างที่” เป็นผู้จัดการดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

เมื่อรายได้ของแผ่นดินมากขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิรูปทางการเงิน ในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งมีการจัดตั้งกระทรวงการคลังขึ้นมาเป็นครั้งแรก ส่งผลให้จำนวนเงินที่ได้รับการจัดสรรของกรมพระคลังข้างที่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในช่วงแรกรายได้ของกรมพระคลังข้างที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพระราชวัง และค่าใช้จ่ายในการเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศของพระราชโอรสเป็นหลัก เมื่อรายได้เพิ่มมากขึ้นจึงมีเงินเหลือจ่ายจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงเกิดการริเริ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนและให้โอกาสในการทำการค้าขาย

นอกจากนี้ เมืองสำคัญในต่างจังหวัดยังได้มีการสร้างตลาดขึ้น เพื่อนำค่าบำรุงตลาดไปใช้ในการพัฒนาระบบสุขาภิบาลและสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตศูนย์กลางเมืองใหม่เหล่านี้ ควบคู่พร้อมไปกับการตัดถนนของกระทรวงโยธาธิการ

ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ถือได้ว่าเป็นรากฐานของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน จุดเริ่มของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาจาก “กรมพระคลังข้างที่” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย

เห็นข้อความที่ผมเน้นไว้ด้วยการกาดอกจันใช่มั้ยครับ ซึ่งผมจะขอสรุปสั้นๆ อีกทีว่า สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีจุดกำเนิดมาจากเงินส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ ๓ ที่ได้จากการทำธุรกิจของพระองค์เอง ตั้งแต่ก่อนจะครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยในสมัยนั้นเรียกว่า “การค้าสำเภา” ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าเป็น “การทำธุรกิจระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวกับงานราชการ และเงินก้อนนั้นที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” ตกมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ และถูกนำไปไถ่บ้านเมืองจากฝรั่งเศส ถ้าไม่มีเงินก่อนนี้ ไทยอาจตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

จำได้ใช่มั้ยครับ ว่าเงินก้อนดังกล่าว ไม่ใช่เงินของแผ่นดิน แต่เป็นเงินเก็บส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๓ เงินส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๓ ที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” ต่อมาเรียกว่า “เงินข้างที่” ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้ชื่อว่า “พระคลังข้างที่” และต่อมาเมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ยึดกรมพระคลังข้างที่จากพระมหากษัตริย์ ไปเป็นของรัฐบาลคณะราษฎร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

ซึ่งฟังชื่อแล้ว เหมือนว่าเป็น “สำนักงาน-ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์” แต่ความจริง คณะราษฎรยึดไปเป็นของรัฐบาลของตน

กำไรที่เกิดจากการที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ นั้น รัฐบาลเป็นผู้จัดการกับเงินก่อนนั้น ไม่ได้ถึงมือพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด จนกระทั่งปี 2560 คณะ คสช.จึงได้ออกกฎหมาย ถวายสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะถูกคณะราษฏร์ยึดไป คืนไปสู่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

ท่านลองพิจารณาด้วยสติปัญญาของท่านดูนะ สมมติว่า บรรพบุรุษของท่านรับราชการอยู่ ในขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปด้วย แล้วบรรพบุรุษของท่านก็เก็บเงินจากการทำธุรกิจนั้นไว้ให้ลูกหลานท่าน แต่วันหนึ่งถูกอำนาจรัฐยึดไปนานเกือบศตวรรษ จึงได้คืนมา ท่านจะบอกว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของรัฐหรือเป็นของท่าน

ถ้ามีชาว 3 นิ้ว พูดว่า คนอะไร รับราชการไปด้วย ทำธุรกิจ ควบคู่ไปด้วยได้ยังไง ไม่ผิดปกติหรือ ผมจะยกตัวอย่างคนๆ หนึ่งในเห็นภาพชัดๆ เขาคือ ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างที่ทักษิณ ชินวัตร รับราชการตำรวจ เงินเดือนจากการรับราชการของข้าราชการนั้นน้อยนิด ไม่พอกิน แต่คนอย่างทักษิณ ซึ่งฉลาดและขยัน จึงเปิดธุรกิจส่วนตัวเพื่อทำธุรกิจกับทางราชการ ซึ่งต่อมาธุรกิจดังกล่าว คือบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสต์เมนต์ ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ชื่อ ชิน คอร์ปอเรชั่น ถ้าบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ถูกอำนาจรัฐยึดไปเป็นศตวรรษ กว่าจะได้กลับคืนมาสู่ลูกหลาน ท่านจะบอกว่า ชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นสมบัติส่วนตัวของคนตระกูลชิน

ฉันใดฉันนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือสมบัติส่วนตัว ของราชวงศ์จักรี ไม่ใช่สมบัติของแผ่นดิน เพราะฉะนั้นในหลวง ทรงใช้เงินของพระองค์เอง ไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน อย่างที่ชาว 3 นิ้วโดยแหกตาด้วยคำว่าเบิกเนตร

และการที่ คสช.ถวายคืนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ เป็นการคืนสมบัติของราชวงศ์จักรี ไม่ใช่เอาสมบัติของแผ่นดินไปถวายให้พระมหากษัตริย์

ชัดเจนนะ จบนะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น