xs
xsm
sm
md
lg

คว่ำร่างไอลอว์-สภาผ่านแค่ร่างที่1-2ตามโผ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ตามโผ 2 สภามีมติรับหลักการร่างแก้ไขรธน.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล ส่วนอีก 5 ฉบับที่เหลือไม่ได้ไปต่อ พร้อมตั้ง กมธ.45 คน เผย "เด็กกปปส." แหกโผโหวตสวนมติพรรค ขณะที่ 3 ส.ว.เทใจรับหลักการร่างไอลอว์ "จอน" บอกคาดไว้แล้วว่าจะถูกตีตก เพราะซีกหนึ่งของสภานี้ไม่ได้ติดอยู่กับความเป็นจริงของสังคมที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง

วานนี้ (18พ.ย.) มีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นวันที่สอง ซึ่งสมาชิกยังคงอภิปรายออกเป็นสองฝ่าย โดยส.ส.รัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วย ขณะที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านให้การสนับสนุนและยืนยันจะลงมติรับหลักการ ร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์ ได้อภิปรายสรุปว่า ไม่ได้คิดว่าไอลอว์ จะเป็นศูนย์กลางของการอภิปราย ซึ่งการอภิปรายโจมตีกระทำง่าย แต่พิสูจน์ยาก ต่อให้เราพูดว่า เราเจตนาดีแค่ไหน ถ้าเขาไม่เชื่อ ก็คงไม่เชื่อ ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อหาของร่างรธน. การกล่าวหาเจตนาไอลอว์ เป็นการบิดเบือนประเด็น การนำเสนอของเราเป็นการนำเสนอประชาชนคนไทยกว่าหนึ่งแสนคน

"ใครอยากจะรู้เรื่องไอลอว์ มาติดต่อ อยากรู้รายรับรายจ่ายหรือแหล่งทุน เรายินดีให้ข้อมูลและอ่านได้จากเว็บไซต์ของเรา ไอลอว์ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี เราทำงานตามหลักวิชาการทุกเรื่อง เราเห็นว่าเป็นสิทธิ เสรีภาพ ที่แสดงความเห็นได้ เราไม่อาจกำหนดได้ว่าการร่างรธน.นั้น จะไปห้ามประชาชนแก้ข้อนั้น ข้อนี้ได้ เราไม่อาจทำตัวใหญ่กว่าประชาชนได้ ที่สำคัญประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ในอดีต เป็นผลพวงแห่งเหตุการณ์หลายอย่างที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ หากรัฐสภาไม่ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ จะไม่มีทางแก้วิกฤตได้ ผมเสนอว่า ควรเชิญคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยมานั่งคุยกับพวกท่าน ท่านอาจจะมองเขาในแง่ดี และเข้าใจมากขึ้น ท่านอาจเจอหลานของท่านมาคุยกับท่านก็ได้"

"รัฐสภานี้แย่กว่ารัฐสภาเก่าเยอะ แย่กว่าหมายถึงอาคารที่ถูกล้อมโดยค่ายทหาร ประชาชนที่จะมาที่นี่ รู้สึกไม่ปลอดภัย การใช้กำลังของตำรวจไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ผมอยากให้สภานี้มีลาน หรือห้องประชุมใหญ่ที่ต้อนรับตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้รัฐสภาและประชาชนได้คุยกัน ผมคาดหวังว่ารัฐสภานี้จะช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศและสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชน เปิดโอกาสได้คุยกัน นี่คือความหวัง ถ้าท่านทำให้ผิดหวัง ประเทศเราจะแย่ ท่านมีภารกิจที่หนักที่ต้องสร้างความเข้าใจและลดความตึงเครียดในสังคม และทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนได้รับความสนใจ" นายจอน กล่าว

ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวชี้แจงกรณีที่นายจอน พาดพิงการทำงานของรัฐสภา ว่า ทหารไม่ได้อยู่ในนี้ วันก่อนที่เขาเข้ามาก็ขอให้ออกไป ถ้าการชุมนุมโดยสงบ หากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงย่อมมีความผิดแน่นอน จึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ทุกอย่างเกิดความกระจ่าง โดยเฉพาะคนที่ถูกยิง รัฐสภาของเราต้องเป็นที่พึ่งหากมีปัญหาก็ต้องช่วยแก้ไขกันไป




ผ่านร่างที่ 1-2 ส่วนที่เหลือถูกตีตก

ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. ที่ประชุมได้เข้าสู่การนับองค์ประชุม เพื่อลงมติร่างแก้ไขรธน.ทั้ง 7 ฉบับ ด้วยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล ซึ่งการลงมติดำเนินไปจนถึงเวลา 16.30 น.ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้น แต่สามารถเช็กเสียงสนับสนุนได้แล้วว่า ร่างที่ 1 และ 2 ผ่านแล้ว

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็ได้แถลงขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)หลังจากทราบผลอย่างไม่เป็นทางการว่า ร่างแก้ไขรธน. ร่างที่ 1 และ ร่างที่ 2 ได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 1 ใน 3 ตามที่รธน.กำหนด หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการตั้ง คณะกมธ.วิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ในวาระ 2 ของร่างแก้ไขรธน.ทั้งสองฉบับ ร่างอื่นๆ อะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์ หรือสามารถนำมาปรับได้ เชื่อว่าคณะกมธ. จะนำมาพิจารณาด้วย

ส่วนจะใช้ร่างใดเป็นหลักในการพิจารณานั้น นายวิรัช กล่าวว่า ตามธรรมเนียมควรเป็น ร่างที่ 2 ซึ่งเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค อย่างไรก็ตาม ร่างที่ 1 และ 2 มีความคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันแค่ปลีกย่อย เช่น ที่มา จำนวนส.ส.ร. ซึ่งเล็กน้อย สามารถพูดคุยปรับใช้กันได้

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ ที่ร่างของไอลอว์ไม่ผ่านมติจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งสถานการณ์ภายนอกสภา อาจหนักขึ้น นายวิรัช กล่าวว่า เราบอกแล้วว่า อะไรเป็นส่วนดีของไอลอว์ จะนำมาพิจารณาด้วย แต่เราย้ำเสมอว่า ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา เราจะไม่ยุ่ง

ทั้งนี้ เมื่อการลงมติเสร็จสิ้น ปรากฏผลดังนี้

ร่างที่1 รับหลักการ 576 เสียง ไม่รับหลักการ 21 งดออกเสียง 123 (รับหลักการ) ร่างที่2 รับหลักการ 647 เสียง ไม่รับหลักการ 17 เสียง งดออกเสียง 55 เสียง (รับหลักการ) ร่างที่ 3. รับหลักการ 213 เสียง ไม่รับหลักการ 35 เสียง งดออกเสียง 472 เสียง(ไม่รับหลักการ)

ร่างที่ 4.รับหลักการ 268 เสียง ไม่รับหลักการ 20 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง (ไม่รับหลักการ) ร่างที่ 5. รับหลักการ 209 เสียง ไม่รับหลักการ 51 เสียง งดออกเสียง 460 เสียง (ไม่รับหลักการ) ร่างที่6.รับหลักการ 268 เสียง ไม่รับหลักการ 19 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง (ไม่รับหลักการ) ร่างที่7.รับหลักการ 212 เสียง ไม่รับหลักการ 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง (ไม่รับหลักการ)

โดยที่ประชุมมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 45 คน

สำหรับผลการลงมติร่างรธน. ทั้ง 7 ฉบับนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปตามมติวิปของแต่ละฝ่าย โดยวิปรัฐบาล ให้โหวตรับหลักการในร่างที่ 1 และ 2 และให้งดออกเสียงในร่าง ที่ 2-4 แต่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน โหวตสวนมติวิปรัฐบาล อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. และรมว.ศึกษาธิการ ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 7 ร่าง เช่นเดียวกับนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคปชป. อดีตแกนนำ กปปส. , นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม.พรรคพปชร. ที่ลงมติไม่รับร่างทั้ง 7 ฉบับเช่นกัน และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพปชร. และรมว.ดีอีเอส ลงมติ งดออกเสียงในร่างที่ 1 และ 2 ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือ ลงมติไม่รับหลักการ

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย ลงมติไปในทิศทางเดียวกับมติวิปรัฐบาล แต่มีบางคนลงโหวตสวนมติวิปรัฐบาล ในร่างไอลอว์ อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายศุภชัย ใจสมุทร นายศุภชัย โพธิ์สุ ที่ลงมติไม่รับหลักการ ร่างไอลอว์

นอกจากนี้ ยังมีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ก็โหวตสวนมติวิปรัฐบาล ในทุกร่าง โดยโหวตลงมติรับหลักการ ทั้ง 7 ร่าง

ส่วนการลงมติของส.ว.นั้น ส่วนใหญ่จะลงมติรับหลักการใน ร่างที่ 1 และ 2 ส่วนอีก 5 ร่าง เสียงแตกกระจายกันไป แต่ก็ยังไม่เพียงพอจำนวน 1 ใน 3 ที่จะรับหลักการ ทั้งในร่างแก้ไขรายมาตรา และร่างไอลอว์ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ว.สายทหารหลายคน โหวตไม่รับหลักการ ร่างไอลอว์ อย่างไรก็ตาม มีส.ว.เพียง 3 คน เท่านั้น ที่ลงมติเห็นชอบรับหลักการ ร่างไอลอว์ ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , นายพีระศักดิ์ พอจิต และ นายพิศาล มาณวพัฒนา

ขณะที่ในการลงมติของฝ่ายค้านนั้น พบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับตามมติวิปฝ่ายค้าน คือ ลงมติรับร่างแก้ไขรธน.ทั้ง 7 ร่าง มีเพียงน.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เท่านั้นที่ใช้วิธี ไม่ร่วมโหวตในห้องประชุม แต่ไม่ได้แจ้งลา โดยทั้งสองคนเป็นส.ส.หน้าเดิม ที่มักโหวตสวนกับมติพรรคตัวเอง ส่วนนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขานมติรับหลักการ ทั้ง 7 ร่าง พร้อมชู 3 นิ้ว ขณะที่ขานรับร่างที่ 7 ร่างของไอลอว์




"จอน"คาดแล้วว่าจะไปไม่รอด

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภา ไม่ผ่านร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์ ว่า การลงมติ เป็นอำนาจของสมาชิก ไม่ใช่ของประชาชนตั้งแต่ต้น ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรมากนัก ประชาชนมีหน้าที่เพียงนำเสนอเท่านั้น ซึ่งเราทำหน้าที่ของเราครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ส่วนในสมัยประชุมหน้า จะมีการเสนออีกหรือไม่นั้น นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ในนามไอลอว์ไม่มีแล้ว

"ต้องบอกว่าประตูของการแก้ไขรธน.ได้เปิดขึ้นแล้ว การที่รัฐสภาลงมติอย่างไร ไม่ได้เป็นผลให้ปิดประตูของประชาชนที่ต้องการแก้ไขรธน. การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ไอลอว์ทำโดยลำพัง แต่ดำเนินการโดยคนจำนวนมหาศาล ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทางข้างหน้าจึงไม่ใช่หน้าที่ของเราเสมอไป คงไม่ใช่เป็นไอลอว์ ที่เป็นผู้ริเริ่มในการเข้าชื่ออีกครั้ง ประชาชนคนอื่นๆก็สามารถเป็นผู้ริเริ่มได้

เมื่อถามว่า ในการเลือกตั้งส.ส.ร. ส.ส.ร. ทางไอลอว์ จะส่งคนสมัครหรือไม่ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ต้องดูโมเดลว่าเป็นอย่างไรก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่สนใจ

ขณะที่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ตนคาดอยู่แล้วว่าจะถูกตีตก เพราะซีกหนึ่งของสภานี้ไม่ได้ติดอยู่กับความเป็นจริงของสังคมที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่กำลังมาเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าสภาส่วนหนึ่งไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง


กำลังโหลดความคิดเห็น