"โชกุน"
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยุคปลอดนักการเมือง (สิงหาคม 2557- กรกฎาคม 2562) มีผลงานที่โดดเด่นเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว คือ การลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบราง ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายสายที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐ และการลงทุนในโครงการอีอีซี ที่ประกอบด้วยสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด-แหลมฉบัง
พอมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ชุดนี้ (กรกฎาคม 2562-ปัจจุบัน) ที่เป็นรัฐบาลผสม จำเป็นต้องยกกระทรวงใหญ่ๆ ที่รับผิดชอบเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของชาติ อย่างเช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลดูแล ปรากฏว่า หนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ไม่มีโครงการใหม่ๆ ออกมาเลย โครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีการสานต่อ บางโครงการถูกเตะถ่วงดึงเรื่องให้ล่าช้าออกไป
ลองนึกดู ในรัฐบาลนี้ที่มีนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีโครงการใหญ่ๆ อะไรบ้าง ไม่มีเลย ใช่ไหม
ล่าสุด โครงการที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลประยุทธ์ ชุดปลอดนักการเมือง และน่าจะแจ้งเกิดเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการแรกของรัฐบาลประยุทธ์ที่ผสมกับพรรคการเมือง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ก็เกิดความไม่แน่นอน ที่อาจทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะหน่วยงานเจ้าของโครงการในสังกัดกระทรวงคมนาคมคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ยอมแก้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่ ตามความต้องการของบริษัท อิตาเลียน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ที่จะเข้าประมูล
การแก้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ก็เหมือนการแก้ข้อสอบใหม่ หลังจากครูแจกข้อสอบไปแล้ว นักเรียนทุกคนเห็นข้อสอบแล้ว มีนักเรียนคนหนึ่ง ยกมือขึ้นบอกว่า ครูครับ ขอแก้ข้อสอบใหม่ เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ ครูก็ใจดี ยอมแก้ข้อสอบตามโพยที่นักเรียนคนนั้นส่งให้ ทำให้นักเรียนคนอื่นๆ ท้วงว่า ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการแก้ข้อสอบ ตามความต้องการของผู้เข้าสอบคนหนึ่ง หลังจากเห็นข้อสอบแล้ว ถ้าจะแก้ ควรแก้ก่อนแจกข้อสอบ แต่ครูบอกว่า แก้ได้ เพราะเป็นอำนาจของครู
ถึงแม้ รฟม.มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ แม้ว่า จะขายเอกสารประมูลไปแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงต้องมีเหตุผลที่ฟังขึ้น และต้องเป็นธรรมกับผู้ที่จะเข้าประมูลทุกฝ่าย ไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ใช่เปลี่ยนเพราะมีผู้เข้าร่วมประมูลรายหนึ่งต้องการให้เปลี่ยน มิฉะนั้น จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ทั้งต่างชาติและไทย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เป็นการลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนรัฐ หรือ พีพีพี คือ เอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และเดินรถ โดย รฟม.จะจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา หลังจากที่ก่อสร้างเสร็จเปิดการเดินรถแล้ว
เงินอุดหนุนที่เอกชนผู้เข้าร่วมลงทุน ต้องการให้ รฟม.จ่ายให้ คือ เงื่อนไขสำคัญที่ชี้ขาดว่า ใครจะได้รับการคัดเลือก ผู้ที่ขอเงินอุดหนุนน้อยมีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะมากกว่าผู้ขอเงินอุดหนุนมาก เพราะทำให้ รฟม.ประหยัดงบประมาณ
การคัดเลือก เอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี ผู้เสนอตัวร่วมลงทุนต้องยื่นซอง 3 ซอง ให้พิจารณาแบบแพ้คัดออก คือ ซองที่ 1 คุณสมบัติเบื้องต้น หากผ่านซองที่ 1 จะมีการเปิดซองที่ 2 คือ ซองเทคนิค หากได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่าสอบตก หมดสิทธิ์เข้าไปแข่งในรอบสุดท้าย ผู้ที่สอบผ่าน จะได้ไปต่อ ไปเปิดซองที่ 3 คือ วงเงินที่ขอให้รัฐอุดหนุน และผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้
รฟม.ขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคม โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกที่กล่าวมาข้างต้น คือ พิจารณาซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองการเงิน ตามลำดับ กำหนดให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 23 กันยายน โดยคาดว่า จะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้
อีก 1 เดือนต่อมา รฟม.โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.แจ้งต่อสาธารณะว่า รฟม.ขอแก้ข้อสอบใหม่ โดยจะพิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองการเงิน โดยให้คะแนนซองเทคนิค 30% ซองการเงิน 70% โดยอ้างว่า ตอนแรกที่ประกาศเกณฑ์คัดเลือกเดิมที่ใช้คะแนนซองการเงิน 100% นั้นมีเวลากระชั้นชิด ไม่มีโอกาสพิจารณาให้ละเอียด แต่ถึงจะแก้เกณฑ์ใหม่ ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะยังไม่มีการเปิดซอง โดย รฟม.เลื่อนกำหนดการยื่นซองออกไปจาก 23 กันยายน เป็น 9 พฤศจิกายน
แต่บีทีเอสซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่จะเข้าร่วมเสนตัวลงทุนไม่เห็นด้วย เพราะการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ รฟม.ทำตามความต้องการของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้เสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติก่อนหน้าว่า การประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุน ไม่ควรพิจารณาข้อเสนอการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
ข้อเสนอทางการเงินนั้น วัดได้ว่าใครให้มากกว่า ใครขอน้อยกว่า เพราะเป็นตัวเลข ไม่ต้องตีความ ส่วน “ผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม” และคะแนนทางเทคนิค ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจ” ของผู้ตัดสิน ซึ่งมีโอกาสที่จะเอนเอียงไปตามปัจจัยหลายๆ อย่างที่มองไม่เห็น
การก่อสร้างรถไฟฟ้า ทั้งแบบยกระดับ และใต้ดินนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่มีเทคนิคอะไรที่ซับซ้อนพิสดาร บริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ ของไทยทุกแห่งล้วนมีประสบการณ์มาแล้ว เรื่องเทคนิคจึงไม่มีผลต่อโครงการ เพราะว่า ใครๆ ก็สร้างได้
เรื่องผลตอบแทน และเงินอุดหนุนที่ขอจากรัฐ เป็นเรื่องที่มีผลต่อโครงการ เพราะ หมายถึง เงินภาษีของประชาชนที่รัฐต้องจ่ายมากขึ้น หากผู้เข้าร่วมประมูลขอเงินอุดหนุนสูง
บีทีเอสกับอิตาเลียนไทย แข่งขันกันในการประมูลโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หลายๆ โครงการ บีทีเอสโดยพื้นฐานเป็นผู้ให้บริการเดินรถหรือโอปะเรเตอร์ มีบริษัทก่อสร้างที่เป็นพันธมิตร คือ ซิโนทัย อิตาเลียนไทย เป็นบริษัทก่อสร้างมีพันธมิตร คือ บริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วนกรุงเทพ หรือ BEM กับ ช. การช่าง
ที่ผ่านมา ช. การช่าง BEM และอิตาเลียนไทย อยู่ในกลุ่มซีพี เอาชนะบีทีเอสในโครงการรถไฟความเร็วสูงอีอีซี แต่แพ้บีทีเอสในโครงการสนามบินอู่ตะเภา และระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เป็นอีกสมรภูมิระหว่างบีทีเอสกับอิตาเลียนไทย-ช.การช่าง เมื่อเห็นว่า สู้กันในกติกาเดิมที่วัดกันที่เม็ดเงินอาจจะแพ้ หรือถ้าจะชนะ ต้องเสนอค่าตอบแทนสูง จึงขอแก้ข้อสอบใหม่ โดยที่กรรมการหรือครูก็รู้เห็นเป็นใจ
บีทีเอสจึงต้องพึ่งศาลปกครอง ขอให้สั่งให้ รฟม.กลับไปใช้เกณฑ์เดิม ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ รฟม.กลับไปใช้เกณฑ์เดิมระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา
ล่าสุด รฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุดภายในสัปดาห์นี้ ในขณะที่คงกำหนดการยื่นซองวันที่ 9 พฤศจิกายนตามเดิม ความไม่ชัดเจนไม่แน่นอนนี้ จะมีผลต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่อาจจะล่าช้า เพราะต้องรอคำตัดสินของหากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ สร้างเสร็จแล้วก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะงานระบบ ถูกนำมาไว้กับโครงการรถไฟสายสีส้มตะวันตก
เรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญขนาดนี้ ที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ยังไม่เห็นบทบาทของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ ถ้าเจ้ากระทรวงสั่งให้ รฟม.ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ผู้ว่าการ รฟม. ย่อมต้องปฏิบัติตาม