คนทั้งโลกต่างลุ้นว่าใครจะเป็นผู้นำสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาซึ่งมาตรการต่างๆ ยังเอาไม่อยู่ เนื่องมาจากการระบาดของโคโรนาไวรัส
แต่ทรัมป์รีบประกาศว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ ตีกินไว้ก่อนในวันนับคะแนน แม้จะยังนับไม่เสร็จสิ้น และบอกว่าเรื่องจะต้องถูกลากยาวไปสู้กันต่อถึงขั้นศาลฎีกา
ใครจะมา ก็ต้องจัดการโคโรนาไวรัส ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้กุมชะตากรรมประเทศอีก ก็ยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแนวคิดหรือไม่ เพราะโจ ไบเดน คู่ชิงมีมุมมองนโยบายเรื่องนี้ต่างกัน คำประกาศของทรัมป์เป็นเค้าลางของความยุ่งยากแน่ๆ
ทรัมป์ประกาศว่าจะเปิดประเทศ ไม่ปิดธุรกิจ โจ ไบเดน บอกต้องคุมเข้ม ผลที่เห็นมาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์ในยุโรปทำให้เกิดการประท้วง หลังจากการผ่อนคลายทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ ก็ทำให้ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ได้ผลจริง
ใครชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องเผชิญอย่างน้อย 2-3 ศึกใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่อคนอเมริกัน และยากที่จะแก้ไขได้ อันดับแรกคือการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส แต่ละวันคนอเมริกันติดเชื้อ 8-9 หมื่นราย คนเสียชีวิตมีพันกว่าราย
ชัยชนะไม่ว่าใคร จะยังไม่จบง่ายๆ อาจต้องต่อสู้ยืดเยื้อไปถึงศาลฎีกา ขณะที่วันนับคะแนน โดนัลด์ ทรัมป์ก็ออกมาแถลงข่าวว่าจะต้องสู้ ยิ่งถ้าตัวเองแพ้ก็จะทำอย่างนั้น ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าชนะฝ่ายโจ ไบเดน อาจทำอย่างเดียวกัน
ทั้งนี้เป็นเพราะแต่ละฝ่ายก็มีมวลชนพร้อมจะก่อเรื่อง ห้างร้านต่างๆ ก็เสริมด้วยการป้องกัน แม้แต่ทำเนียบขาวก็เสริมรั้วกั้นเพื่อไม่ให้คนบุกเข้าไป นี่เป็นประชาธิปไตยแบบ new normal มีความรุนแรง เริ่มในยุคที่ทรัมป์เป็นผู้นำ
การเมืองที่ยืดเยื้อ มีความขัดแย้ง จะเกี่ยวโยงไปถึงรัฐสภา มีการตั้งป้อมหาทางชิงจังหวะความได้เปรียบทั้งสภาคองเกรสและวุฒิสภาซึ่งมีเดิมพันสูง
เมื่อการเมืองไม่ลงตัว การระบาดของโคโรนาไวรัสก็จะยืดเยื้อ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะเป็นเรื่องยาก เพราะนโยบาย การใช้จ่ายของสหรัฐฯ ต้องผ่านรัฐสภา
โคโรนาไวรัสจึงเป็นวิกฤตที่โลกยังไม่เคยเผชิญมาก่อนในรอบ 100 ปี
ทั้งส่งผลต่อเนื่องถึงการดำรงชีวิตในความเสี่ยง และการดำเนินธุรกิจทุกระดับ ความยากที่จะจัดการได้ก็คือ แต่ละมลรัฐมีผู้ว่าการ นโยบาย ทิศทาง และมาตรการต่างกัน มีทั้งมุ่งเน้นการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ และควบคุมการระบาด
ที่ผ่านมาถือว่าสหรัฐฯ ล้มเหลวในการจัดการควบคุมการระบาด เพราะผู้นำโดนัลด์ ทรัมป์เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทั้งยังโทษคนอื่นๆ รวมทั้งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ลามไปถึงองค์การอนามัยโลก และกล่าวหาประเทศจีนว่าเป็นต้นตอของการระบาด
โรคนี้ต้องอาศัยการมีวินัยในการควบคุมและการใช้ชีวิตอย่างเคร่งครัด สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ร้ายแรงคือกลุ่มพวกที่ตกงานและยังว่างงานโดยไม่มีวี่แววหรือหนทางจะหารายได้ ขึ้นอยู่กับว่าสภาวะโดยรวมเป็นปกติหรือไม่
ยิ่งคนอเมริกันเชื่อทรัมป์อย่างหัวปักหัวปำ ไม่ใส่ใจต่อการสวมหน้ากาก มีความเชื่อว่าคนธรรมดาไม่ควรมาบังคับกัน นอกจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่ปฏิบัติตัวอย่างระวัง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ประเทศซึ่งมีเทคโนโลยีก้าวหน้าล้มเหลวในเรื่องนี้
เพราะโคโรนาไวรัสไม่ใส่ใจว่าใครจะยากดีมีจน มีพระเจ้าหรือศาสดาเก่งฉกาจแค่ไหน ถ้าปล่อยตัวให้ตกอยู่ในความเสี่ยง ก็จะเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต
คนอเมริกันยังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งคนว่างงาน ธุรกิจปิดตาย ล้มละลาย ใหญ่แค่ไหนก็ล้มได้ถ้าสายป่านการเงินขาดดังที่ปรากฏให้เห็นแล้ว ธุรกิจการบิน การเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในสภาพซบเซา ทำให้ภาคการขนส่งแทบอยู่รอดลำบาก
ปัญหาการแบ่งแยก เหยียดผิวและเชื้อชาติเริ่มมีความรุนแรง แทบไม่ต่างจากยุคก่อนปี 1960 ครั้งนี้การเกลียดชังมาพร้อมกับการติดอาวุธซึ่งพร้อมจะเข่นฆ่ากัน และอาวุธยุคนี้ทันสมัยกว่า 50-60 ปี ก่อน คนอเมริกันมีอาวุธปืนเกือบทุกบ้าน
ความร้าวฉาน การเหยียดผิวและเชื้อชาติมาฟื้นตัวอย่างแรงในยุคที่ทรัมป์เป็นผู้นำ กลุ่มคนผิวขาวหัวรุนแรงได้ใจเพราะทรัมป์ให้การสนับสนุนเต็มที่ ทำให้กลุ่มคนผิวดำเริ่มตั้งกองกำลังติดอาวุธ โดยอ้างว่าเพื่อเตรียมป้องกันตัวเช่นกัน
แต่ละเรื่องต้องใช้การเมือง และงานด้านอื่นๆ แต่คนที่มีความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพจริงจังในสังคมอเมริกันจะยึดถือ “การมีสิทธิ” มากกว่าการต้องไม่ละเมิดความรู้สึกหรือการคุกคามด้านกายภาพสำหรับกลุ่มอื่นๆ เพียงไม่ขัดแย้งเปิดเผย
ที่ผ่านมา ความขัดแย้งมักเกิดเมื่อคนผิวดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงโดยไม่มีเหตุผลพอควร มีการประท้วง จลาจล ความรุนแรงเผาสถานที่ต่างๆ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงจนน่าตกใจ
ประเด็นเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งภาวะซบเซาถดถอยในปัจจุบันยากต่อการเยียวยาแก้ไข สหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังคู่ค้า หรือแม้กระทั่งประเทศที่มีความสัมพันธ์ร้าวฉานยาวนาน
เอเชียต้องรับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน และยังต้องพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความตึงเครียดในภูมิภาคทั้งในทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี และบริเวณชายแดนจีนและอินเดีย
โลกไม่อยู่ในภาวะของสันติภาพ เพราะอำนาจยังเป็นสิ่งที่ชาติต่างๆ คำนึงว่าเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง สหรัฐฯ จะยังเป็นตัวหลักต่อไป