ใครเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจยามนี้? ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังตายซากเรื้อรัง หลังจากรัฐบาลมีรัฐมนตรีคลังคนใหม่ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือนายกรัฐมนตรีโดยพฤตินัย และเป็นแบบนี้มานานแล้ว
ยังไม่มีเสียงตอบรับสำหรับคำถามของประชาชนว่าบ้านเมืองจะเดินไปทิศทางใด เพราะการเมืองยังวุ่นอยู่กับการพายเรือในอ่างน้ำลายกระฉอกจากรัฐสภา ไปสู่สถาบันพระปกเกล้าเพื่อหารูปแบบของเวทีถกหาหนทางสมานฉันท์
วิกฤตความขัดแย้งบนถนนในบ้านเมืองได้ถูกโยนเข้าไปในรัฐสภา ถกกัน 2 วัน น้ำลายแตกฟองกันทั่วแล้ว ได้ข้อสรุปว่าต้องมีรูปแบบเพื่อถกกันให้น้ำลายแตกฟองอีกครั้ง จะมีกี่ฝ่าย หรือ 7 ฝ่ายตามข้อเสนอก็สุดแล้วแต่ คงหวังผลได้ยาก
มีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 2 พรรคยังยึกยักอยู่ว่าจะเข้าหรือไม่เข้า ทำชักเข้าชักออก ดูท่าทีลีลาและท่วงท่ารูปแบบก่อนว่าใครจะมานั่งถกกันหาทางออก ดูแล้วไม่น่าจะมีความหวังเพราะกรรมการสมานฉันท์ตั้งมาหลายชุด ถกกันมาหลายรอบแล้ว
จากนั้นไม่ไปไหน เป็นมรรคผลอย่างไร เพราะทุกฝ่ายที่ถกกัน และฝ่ายเฝ้ามองอยู่วงนอกก็รู้อยู่แก่ใจว่านี่เป็นมาตรการยื้อ เตะถ่วง ให้วิกฤตยืดเยื้อออกไป แต่ลดระดับความร้อนแรง เอาปัญหาไปซุกไว้ไต้พรมไว้ก่อน รอมีวิกฤตเรื่องใหม่มากลบ
จากนั้นก็จะถกกัน ตั้งกรรมการหาทางออก และก็วนเวียนพิธีกรรมอย่างนี้ เพราะการตั้งกรรมการเป็นการ “สร้างกรรม” ให้แผ่นดินโดยหาทางออกยั่งยืนไม่ได้
บ้านเมืองจึงไม่พัฒนาไปไหน เพราะทุกคนต่างเลี่ยงปัญหา และรักษาผลประโยชน์ส่วนตนไว้ก่อน แต่เรียกร้องให้คนอื่นๆ ถอยคนละก้าว ตัวเองไม่ถอย
ยังไม่รู้ว่ากว่าจะถกกันรอบใหม่ของคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น และได้ข้อสรุป ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ แต่ก็เป็นความสมอยากของทุกฝ่ายที่อยู่ในขั้วกุมอำนาจ ยิ่งยื้อยาวต่อไป ก็ยิ่งได้อยู่ในอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์ได้นานขึ้น
ในบ้านนี้เมืองนี้ ไม่เคยมีคนกุมอำนาจแล้วรักชาติจริง มีแต่รักแต่ปาก แต่มือโหนกระแสอะไรก็ตามที่เข้าทาง ให้ตัวเองดูดี แล้วเอาตัวให้อยู่รอดไปแต่ละวัน
มีผู้นำรัฐบาล ก็เป็นเพียงหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถเป็น “ผู้นำประเทศ” ได้อย่างเต็มภูมิพร้อมความเชื่อมั่นศรัทธาและความไว้วางใจของประชาชน อยู่ไปแต่ละวันเหมือนลิเกหมดลีลาลูกเล่นสลับตลกฝืด ต้องแก้ผ้าเอาหน้ารอดซ้ำซาก
มีคณะผู้บริหารก็ปกครองไม่ได้ เหมือนรัฐบาลเป็ดง่อย ใช้แต่กฎหมายเขียนขึ้นเพื่อกดหัว กดดันประชาชนไม่ให้เคลื่อนไหวต่อต้าน มีแต่จะหาทางเพิ่มและยื้อทอดยาวอำนาจพิเศษ จนชาวบ้านระอา ไม่ถามไถ่ เพียงจะดูให้รู้ว่าจะด้านทนไปถึงไหน
ภาคเศรษฐกิจซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนของประเทศอยู่ในสภาวะซบเซาตายซาก ชาวบ้านมองไปข้างหน้าไม่เห็นอนาคต เพราะต้องรอกลุ่มทุนใหญ่ชี้นำว่าควรจะเป็นไปอย่างไร และกลุ่มทุนต้องได้โอกาสกอบโกยผลประโยชน์อย่างยั่งยืนถาวร
โควิด-19 เป็นดัชนีวัดว่าใครแข็งแกร่งจริงในยามวิกฤต เห็นได้ชัดกว่ากลุ่มทุนใหญ่บางประเภทอยู่ในสภาพเกือบร่อแร่ รายได้หาย โอกาสจะใช้หนี้สินคืนหลายแสนล้านบาทไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะคนจนที่ถูกสูบเลือดมานานจะเป็นซากแห้งอยู่แล้ว
เศรษฐกิจประเทศไทยเคยอยู่บนฐานของเกษตรกรรมมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ได้ถูกพวกนักวิชาการร้อนวิชา นักวางแผนเศรษฐกิจเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นอุตสาหกรรมมากกว่าครึ่งซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าช่วยอะไรไม่ได้ยามวิกฤตต้มยำกุ้ง และภาวะปัจจุบัน
“ศาสตร์พระราชา” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพร่ำชี้แนะให้เป็นรูปแบบของการอยู่รอด ก็เป็นเพียงแค่ถูกนักการเมืองผู้กุมอำนาจนำไปใช้พูดจาด้วยท่าทีโอ่อ่าให้คนต่างชาติฟัง แต่ไม่เคยรับมาปฏิบัติในประเทศ
ถ้าคำแนะนำของพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ถูกรับไปปฏิบัติตาม นับประสาอะไรที่พวกผยองอำนาจจะรับฟังคำชี้แนะของคนอื่นๆ หรือประชาชน ถ้าไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทั้งๆ ที่พิสูจน์ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ช่วยให้คนอยู่รอดได้ในชนบท
ทุกวันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีแผนหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจอย่างไร แนวทางช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างจริงจังจะเป็นไปได้อย่างไร ขณะที่คนว่างงานจากบัณฑิตจบใหม่มาสมทบกับกลุ่มที่ตกงาน รองาน หางานอยู่หลายล้านคน
หัวหน้ารัฐบาลมุ่งแต่ห่วงเก้าอี้ตัวเอง ปากพร่ำแต่คำว่า “ไม่ออก” แต่ไม่บอกว่าการอยู่ต่อไปจะสร้างคุณประโยชน์อะไรต่อบ้านเมือง เว้นแต่คำอ้างว่าจะอยู่ต่อเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ และส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวในการบริหารของตนเอง
เอาเพียงแค่แผนจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว นักลงทุน หรือนักอะไรต่ออะไรเข้ามาในยามที่เกือบทั้งโลกเผชิญวิกฤตการระบาดของโควิด-19 มีล็อกดาวน์เกือบทั้งยุโรป และยังจะลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์เหลือกินแล้ว
ก็แปลกทั้งๆ ที่แนวคิดเช่นนี้ถูกเตือนโดยคณะแพทย์ซ้ำซากว่าเป็นการเสี่ยง แต่ก็ยังดึงดันจะทำให้ได้ โดยไม่บอกว่าถ้าผิดพลาดแล้วใครจะรับผิดชอบอย่างไร และทั้งงานท่องเที่ยวและสาธารณสุขก็อยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวกัน ไม่คุยกันหรือไง
ดังนั้น การจะหวังให้ “เป็ดง่อย” คึกคักโลดเต้นมีชีวิตชีวา คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากอยู่อย่างเซื่องซึม ซื้อเวลา เล่นปาหี่แหกตาชาวบ้านไปแต่ละวัน ไม่ยอมสารภาพว่าอับจนปัญญา ต้องรอเงินนักท่องเที่ยว นักลงทุนฝรั่งก็ขายหุ้นทิ้งแล้ว
การลาออกเมื่อสิ้นท่าของผู้รับผิดชอบ ถือว่าเป็นสิทธิ ถ้าจะใช้สิทธินั้นก็ไม่น่าจะมีใครห้าม เพียงแต่จะกล้า หรือเห็นยังแก่สภาพกลวงๆ ของตัวเอง ก็สุดแล้วแต่