ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร้านกาแฟในเมืองไทยเบ่งบานเกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเปิดคาเฟ่เล็กๆ กลายเป็นธุรกิจในฝันของใครหลายคน ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคนอกจากดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่คุ้นเคยดี ผู้คนนิยมหันมาลิ้มรสกาแฟสด เริ่มชิมกาแฟรูปแบบที่แตกต่างไม่ว่าเป็น กาแฟดริป, กาแฟโคลด์บริว หรือ กาแฟสกัดเย็น ฯลฯ สนุกเพลิดเพลินไปกับรสและกลิ่นหอมกรุ่นของเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ต่างๆ จากหลายแหล่งที่มา
ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดกาแฟโลกยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมกาแฟไทยสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขการบริโภคกาแฟปี 2563 สะท้อนให้เห็นอัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยที่ยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก คนไทยมีอัตราการบริโภคโดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือประมาณ 300 แก้วต่อคนต่อปี
ขณะที่คนญี่ปุ่นอัตราการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือประมาณ 400 แก้วต่อคนต่อปี หรือคนในยุโรปอัตราการบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 - 5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือโภคประมาณ 600 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าตลาดกาแฟโดยเฉพาะกาแฟสดมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยมีศักยภาพเติบโตถึงปีละ 10%
บทวิเคราะห์ธุรกิจ เรื่องธุรกิจผลิตกาแฟ ประจำเดือน มกราคม 2562 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มของธุรกิจผลิตกาแฟยังคงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากความต้องการใช้กาแฟของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ผลิตสามารถพัฒนาคุณภาพของผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ชื่นชอบรสชาติที่มีเอกลักษณ์ของกาแฟไทย
นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนต้องสร้างความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทย ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำพร้อมผลักดันขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจ ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับกาแฟได้ไม่ยาก
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำคลอดยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560 - 2564 ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในด้านการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน ผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้มั่นคง ให้แก่เกษตรกรและผู้ดำเนินธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟของไทย
ด้วยศักยภาพของประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียนเพียงไม่กี่กลุ่มประเทศที่อยู่เขตพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟ หรือ ที่เรียกว่าเขต Bean Belt โดยรายงานขององค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟเอโอ) ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลผลิตเมล็ดกาแฟในสัดส่วน 1 ใน 4 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลก มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ใกล้เคียงกับกาแฟจากทวีปแอฟริกา
สำหรับปริมาณการผลิตกาแฟในตลาดโลก แบ่งสัดส่วน 2 สายพันธุ์ คือ อาราบิก้า 60% และโรบัสต้า 40% กลุ่มประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลก 50% ยังคงอยู่ในแถบอเมริกาใต้ อันดับหนึ่งคือบราซิล ส่วนประเทศแถบเอเชีย มีปริมาณการผลิตประมาณ 30%
ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามเป็นแหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตา อันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ผลิตกาแฟสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล และมีผู้ผลิตกาแฟสำคัญอย่างอินโดนีเซีย ลาว ไทย และ พม่า ซึ่งมีแนวโน้มสร้างผลิตผลมากขึ้น
ดังนั้นหากมีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผลิตสายพันธุ์กาแฟ ปลูกและเก็บเกี่ยวจนเป็นสารเมล็ดกาแฟ จนไปถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์กาแฟสำหรับดื่ม จะเป็นการผลักดันให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ผงาดขึ้นเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลก
กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังที่จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน เพิ่มผลผลิตกาแฟในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างและพัฒนาเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงการยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ของกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากล
ตั้งเป้ายุทธศาสตร์กาแฟในปี 2564 ประกอบด้วย 4 ประการ 1. รักษาผลผลิตกาแฟภายใต้การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่า 30,000 ต้นต่อปี 2. เพิ่มผลผลิตให้มากกว่า 250 กิโลกรัมต่อไร่ ในสวนเดี่ยวและมากกว่า 150 กิโลกรัมต่อไร่ ในสวนผสมผสาน 3. ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ และ 4. เพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทยแล้ว ตลาดการผลิตเมล็ดกาแฟในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ข้อมูลในปี 2561 ตลาดเมล็ดกาแฟของไทยมีการขยายตัว 1.06 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมียอดการส่งออกสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ ขณะนั้นไทยเป็นผู้ส่งออกในลำดับที่ 6 ของโลก
สำหรับประเทศที่มีความต้องการกาแฟมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ บราซิล และญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ปี 2561 ประเทศไทยมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟอยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี แต่สามารถผลิตกาแฟได้เพียง 23,617 ตัน ซึ่งทำให้ต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟมากถึง 68,616 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังจากประชุมทางไกลกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมกาแฟ เพื่อติดตามสถานการณ์การค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย พบว่าในช่วงวิกฤตนี้ทำให้ยอดจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปของไทยขยายตัว รวมทั้งยอดส่งออกยังเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านการผลิต เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีการผลิตลดลง จึงเป็นโอกาสทองในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปของไทย
อีกทั้ง มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ในเมืองไทย แม้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟรายได้ลดลง แต่เป็นโอกาสของตลาดออนไลน์และแบบเดลิเวอรี่ ผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟและผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป เปิดเผยข้อมูลว่าสินค้ากาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) กาแฟคั่วบด กาแฟแคปซูล และอุปกรณ์ชงกาแฟ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในทางออนไลน์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าในช่วงวิกฤตโไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปของไทยขยายตัว รวมทั้งยอดส่งออกยังเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านการผลิต เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีการผลิตลดลง จึงถือเป็นโอกาสทองในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปของไทย
“ในยุคการแข่งขันกาแฟไทยในยุคการค้าเสรี หากไทยสามารถรักษาคุณภาพและมาตรฐานของกาแฟได้อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเก็บ การคั่ว และการแปรรูป จะทำให้กาแฟไทยมีความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้”
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกกาแฟสำเร็จรูปอันดับที่ 11 ของโลก ข้อมูลระบุว่า ปี 2562 ไทยส่งออกปริมาณ 24,812 ตัน คิดเป็นมูลค่า 92.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สปป.ลาว ร้อยละ 26 เมียนมา ร้อยละ 24 และกัมพูชา ร้อยละ 20 ซึ่งไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูป ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่ร้อยละ 0 รวมถึงนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากแหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ เวียดนาม สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ที่อัตราภาษีร้อยละ 5 ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้
สำหรับไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูปปริมาณ 6,606 ตัน เป็นมูลค่า 25.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.69 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยไทยยังส่งออกไปตลาดรอง เช่น ฮ่องกง และสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 28 และ 88 ตามลำดับ เป็นต้น
นอกจากการสนับสนุนของภาครัฐข้างต้น ทางด้านภาคเอกชนเดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand หรือ Scath) ร่วมกับ The Cloud จัดงาน “Thailand Coffee Fest 2020” มหกรรมกาแฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงต้นดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันธุรกิจกาแฟไทย ให้เกิดการเติบโตของตลาดกาแฟ ทั้งในประเทศไทยและสากล รวมถึงให้การสนับสนุนผู้อยู่ในทุกๆ ธุรกิจกาแฟตั้งแต่ เกษตรผู้ปลูก ผู้แปรรูป โรงคั่วกาแฟ บาริสต้า จวบจนผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาวงการกาแฟไทยให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน
ขณะที่แนวโน้มของตลาดกาแฟโลกเติบโตต่อเนื่อง กาแฟออร์แกนิคนับเป็นหนึ่งในแนวทางการยกระดับภาพลักษณ์เพิ่มมูลค่าของกาแฟไทยที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะตอบโจทย์ด้านยั่งยืนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกโดยให้ธาตุอาหารจากธรรมชาติปลอดสารเคมี
โดยเมล็ดกาแฟออร์แกนิกที่ได้จากธรรมชาติ 100% จะให้รสชาติของสายพันธุ์กาแฟแท้เป็นเอกลักษณ์ สนนราคาสูงกว่าเมล็ดกาแฟทั่วไปหลายเท่าตัว สอดรับทิศทางของการพัฒนาเมล็ดกาแฟในรูปแบบ Specialty Coffee หรือการคัดสรรเมล็ดกาแฟคุณภาพ ก่อนนำไปผ่านกระบวนการแปรรูป สร้างกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของคอกาแฟในยุคปัจจุบัน
เช่น จ.ชุมพร แหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้าที่มากที่สุดในประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกถึง 178,283 ไร่ ผลผลิตรวม 24,424 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นเงิน 1,500 ล้านบาทต่อปี แม้กาแฟส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบกาแฟสำเร็จรูป 3in1 แบรนด์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในชุมพร เริ่มต้นทำสวนกาแฟแบบออร์แกนิคสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมล็ดกาแฟ เพิ่มเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติ ยกระดับคุณภาพเมล็ดกาแฟโรบัสต้า
กล่าวโดยสรุปอุตสาหกรรมกาแฟมีแนวโน้มเติบโต แต่ไม่ได้การันตีว่าธุรกิจร้านกาแฟ หรือคาเฟ่ ที่มีอยู่มากมายในเมืองไทยจะไปรอดทุกร้าน มีบทเรียนฝันสลายปิดกิจการกันมาแล้วนักต่อ
ภาพประกอบจาก FACEBOOK : ThailandCoffeeFest