xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล้วงลับ Telegram ช่องทางสื่อสารใหม่ “ม็อบเด็ก” รู้จักชีวิต Pavel Durov กับฉายา Zuckerberg แห่งรัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) หนุ่มชุดดำผู้คว้าฉายา Zuckerberg แห่งรัสเซีย | แอปพลิเคชั่น “เทเลแกรม( Telegram)”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวลานี้ บรรดาคอการเมืองคงรู้จักแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า  “เทเลแกรม( Telegram)” กันเป็นอย่างดี และพากันไป  “โหลด” มาเป็นแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเพื่อศึกษาการใช้งานกัน โดยเฉพาะ “ม็อบคณะราษฎร 2563” ที่แอปฯ นี้ได้กลายเป็น “อาวุธสามัญประจำม็อบ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ที่  “ฮ่องกง” มีเหตุการณ์การประท้วงเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิการแสดงออกทางการเมือง และแน่นอนว่าเมื่อเกิดการประท้วงนั้นทำให้มีความแออัดของผู้ชุมนุม ส่งผลให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็จะตัด ๆ ขัด ๆ ดังนั้นผู้ร่วมชุมนุมจึงต้องหา ‘เทคโนโลยี’ ใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารกันหากไม่มีสัญญาณ ซึ่งนั่นก็คือ  แอปฯไฟร์แชต(FireChat) 

FireChat คือ แอปพลิเคชันแชทที่สามารถใช้งานผ่าน Multipeer Connectivity Framework โดยใช้ระบบ Mesh Network หรือ Bluetooth โดยผู้ใช้จะสามารถสื่อสารกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในระยะ 10 เมตรได้อย่างลื่นเพียงแค่เปิด WiFi และ Bluetooth ไว้เท่านั้น แถมยังส่งรูปได้อีกด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะอับสัญญาณแค่ไหน หรือว่าไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะการชุมนุมที่แออัดเกินไปเราก็จะยังสามารถแชทกับเพื่อนได้ นอกจากนี้ ยิ่งมีการใช้งานเยอะ สัญญาณก็ยิ่งขยายไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถดังกล่าว ส่งผลให้แอปนี้จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง โดยมียอดดาวน์โหลดกว่าแสนครั้งเลยทีเดียว

ขณะที่ Telegram ก็เป็นแอปพลิเคชันแชทที่เหมือนกับ FireChat แต่ที่โดดเด่นสุด ๆ ก็คือ ระบบรักษา  “ความปลอดภัย” เพราะเนื่องจากทีมนักพัฒนาชาวรัสเซียทั้ง 3 คน ได้แก่ นิโคไล ดูรอฟ, พาเวล ดูรอฟ และอักเซล เนฟฟ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาแอปที่แม้แต่  “สายลับรัสเซีย”  ไม่สามารถ  “แฮก” ได้ ส่งผลให้ 7 ปีที่แล้ว Telegram จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

สิ่งที่ทำให้ Telegram มีความปลอดภัยขั้นสุดนั้นก็เพราะไม่เคยอนุญาตให้บุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ โดยแอปจะมีการ End-To-End Encryption หรือเข้ารหัสตั้งแต่  ผู้ส่งข้อความ และ  ผู้รับข้อความ - ทำให้ยากที่จะทำ Hack ระบบ อีกทั้งผู้ใช้งานสามารถเลือกว่าจะคุยแบบ ทั่วไป  หรือคุยแบบ ลับสุดยอด (Secret Chat) โดยการแชทแบบลับสุดยอดนั้น จะต้องรอให้อีกฝ่ายออนไลน์ถึงจะเริ่มต้นแชทได้ แต่ถ้าคุยแบบทั่วไปก็สามารถทำได้เลย 
 
เนื่องจากความต้องการของผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง แอปฯ จึงไม่มีโฆษณา ไม่มีการแอบอ่านข้อความ ไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว และทำงานได้เร็วมาก ๆ เร็วกว่า LINE หรือ Facebook Messenger นอกจากนี้ ยังส่งได้ทั้งข้อความ ไฟล์ภาพ วิดีโอ ไฟล์ Doc, zip, mp3 ฯลฯ โดยไม่จำกัดขนาดไฟล์ 
 
ด้วยความสามารถของฟีเจอร์ต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบัน Telegram มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และเป็นอีกหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ถูกนำมาใช้งานในหมู่กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่มักใช้ในการนัดหมายต่าง ๆ เช่น เดินขบวนประท้วง ดังนั้น หลายประเทศจึงต้องการที่จะ  “แบน” แอปฯ ดังกล่าว รวมถึง “รัสเซีย” ต้นกำเนิดของแอปฯ นี้ แต่ผ่านไป 2 ปีแล้ว ก็ยังแบนไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ดีนอกจากคุณสมบัติอันโดดเด่นของ Telegram แล้ว สิ่งที่ประชาคมโลกและคนไทยให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือ “พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov)”  ซึ่ง เป็นชาวรัสเซียผู้อยู่เบื้องหลังแอปพิเคชันนี้

ตัว Pavel ไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะในโลกเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังโดดเด่นในหลายเรื่อง ผ่านรูปลักษณ์ที่มักแต่งกายด้วยชุดสีดำ จนเสริมความลึกลับน่าค้นหาแบบหาตัวจับยาก
ชีวิตเหลือเชื่อของ Pavel เริ่มที่บ้านเกิดในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เด็กชาย Pavel ใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลีเนื่องจากบิดาทำงานอยู่ที่นั่น ก่อนจะย้ายกลับไปรัสเซียเมื่ออายุ 17 ปี

สาวไทยบางรายโพสต์บนโซเชียลว่าอยากเป็นภรรยาผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันแชตดาวรุ่งอย่างเทเลแกรม (Telegram) เหตุผลเป็นเพราะความงานดีแถมมากความสามารถของพาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) หนุ่มชุดดำผู้คว้าฉายา “ซัคเกอร์เบิร์กแห่งรัสเซีย” ไปครองแบบไม่มีใครค้าน

ผู้อยู่เบื้องหลังแอปพิเคชันแชตที่คนไทยให้ความสนใจมากขึ้นอย่างพาเวลมักแต่งกายด้วยชุดสีดำ แม้จะมีเงินสดล้นมือ แต่ก็ไม่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ทั้งคฤหาสน์หลังใหญ่และเรือยอร์ต นอกจากนี้ พาเวลยังมีชื่อเสียงเรื่องการควบคุมอาหาร เลิกดื่มกาแฟและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ รวมถึงไม่แตะต้องแอลกอฮอล์และอาหารจานด่วนนานกว่า 10 ปี


นิสัยที่แตกต่างของพาเวล มีส่วนหล่อหลอมให้เกิดเป็นแอปพลิเคชันแชตอย่าง Telegram ซึ่งเป็นส่วนสำคัญใน 5 จุดชีวิตผกผันของหนุ่มชุดดำคนนี้

 1. เกิดที่รัสเซีย โตที่อิตาลี 
บ้านเกิดของพาเวลคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่เด็กชายพาเวลใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลีเนื่องจากติดตามบิดาที่ทำงานอยู่ที่นั่น ก่อนจะย้ายกลับไปรัสเซียเมื่ออายุ 17 ปี จนช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเริ่มสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมและโครงงานคอมพิวเตอร์เสมือนจริง แต่ก็เลือกเรียนในภาควิชาสรีรวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์

พาเวลก่อตั้งเครือข่ายสังคม Vkontakte เมื่ออายุ 22 ปี เวลานั้น Pavel ได้พบและรับรู้เรื่องราวของเฟซบุ๊ก (Facebook) ทำให้เกิดการพัฒนาเป็น Vkontake (VK) เครือข่ายโซเชียลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรัสเซีย โดยร่วมมือกับนิโคไล (Nikolai) พี่ชายของพาเวลที่ช่วยพัฒนา VK ในช่วงแรก

ช่วงเริ่มต้น Vkontakte ให้บริการในรูปเครือข่ายที่เปิดให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น จนเดือนธันวาคม 2006 จึงเริ่มเปิดกว้างให้ลงทะเบียนได้ทุกคน

 2. ลาจาก Vkontake 
แม้จะได้ฉายา “ซัคเกอร์เบิร์กแห่งรัสเซีย” เพราะ Vkontake เป็นบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชาวรัสเซียใช้งานมากที่สุด แต่พาเวลตัดสินใจลาจากบอร์ดบริหาร Vkontake ในวันที่ 1 เมษายน 2014 เพราะการไม่ลงรอยกับหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซีย ที่ต้องการให้บริษัทส่งมอบข้อมูลของผู้ประท้วงทางการเมือง และปิดกั้นเพจของแกนนำชาวรัสเซีย

ข่าวลือบอกว่า Vkontake ถูกยึดครองโดยพันธมิตรของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladmir Putin) และการถอดถอนพาเวลเป็นผลมาจากการไม่ยอมส่งมอบรายละเอียดผู้ใช้ VKontakte ซึ่งเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลรัสเซีย พาเวลจึงลี้ภัยออกจากรัสเซียในปี 2014 พร้อมย้ำว่าจะไม่เดินทางกลับบ้านเกิดอีก

 3. ฟรีและปลอดภัย 
1 ปีก่อนเดินทางจากออกจากรัสเซีย พาเวลก่อตั้งแอปส่งข้อความชื่อ Telegram Messenger ในปี 2013 ที่เบอร์ลิน โดยโฟกัสจุดยืนการเป็นบริการส่งข้อความแบบเข้ารหัส เมื่อลี้ภัยแล้ว พาเวลจึงเทความสนใจที่การพัฒนา Telegram ได้ต่อ ด้วยฐานะพลเมืองของสหพันธรัฐเซนต์คิตส์และเนวิส (Saint Kitts and Nevis) ซึ่งได้มาเพราะการบริจาคเงิน 250,000 ดอลลาร์ให้กับมูลนิธิในประเทศ และการนำเข้าเงินสดจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านธนาคารสวิสหลายแห่ง

Telegram สามารถรับส่งข้อความ ภาพ ไฟล์ โทรด้วยเสียง และวิดีโอคอลได้สมบูรณ์ไม่ต่างจากว็อตสแอป (WhatsApp) ไลน์ (LINE) เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ (Facebook Messenger) หรือแม้แต่สแลค (Slack) แต่จุดเด่นหลักอยู่ที่เทคโนโลยีการเข้ารหัสพิเศษที่คิดค้นโดย Nicolai Durov พี่ชายของพาเวล

มีบันทึกว่าเทคโนโลยีเข้ารหัสของ Telegram เกิดขึ้นเมื่อหน่วยรบพิเศษมาที่บ้านของพาเวล เวลานั้นพาเวลไม่สามารถบอกใครเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกคุกคามได้เนื่องจากไม่แน่ใจว่าข้อความนั้นปลอดภัย ในที่สุด Telegram พัฒนาตัวเองจนมีผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกในปี 2018 และรัสเซียพยายามปิดกั้น Telegram เมื่อบริษัทปฏิเสธ ไม่มอบกุญแจเข้ารหัสให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล

 4. ได้ใจมวลชน 
พาเวลได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้นำมวลชนจากหลายสำนัก แม้แต่สหภาพนักข่าวแห่งคาซัคสถานยังมอบรางวัลยกย่องพาเวลเป็นผู้มีจุดยืนต่อต้านการเซ็นเซอร์และการแทรกแซงการติดต่อทางออนไลน์ที่น่าชื่นชม

ในที่สุด พาเวลมีรายชื่อเป็นมหาเศรษฐีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ติดอันดับ 838 ในรายชื่อมหาเศรษฐีของฟอร์จูนประจำปี 2019 โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2019 มีไม่ต่ำกว่า 2,700 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปี 2015 ที่พาเวลขายหุ้น 12% ใน VK คว้าเงินสดมูลค่าประมาณ 300 ล้านเหรียญไปครอง

 5. มั่งคั่งเงินดิจิทัล 
รายได้ของพาเวลอาจมีหลายทาง แต่ทางที่โดดเด่นคือสกุลเงินดิจิทัล โดยพาเวลซื้อเงินบิตคอยน์ 2,000 เหรียญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2017 เวลานั้น 1 บิตคอยน์มีราคา 750 เหรียญเท่านั้น เมื่อใช้เงิน 1.5 ล้านเหรียญซื้อเงินบิตคอยน์ขึ้นมา พาเวลจึงมีรายรับไม่ต่ำกว่า 35 ล้านเหรียญในช่วงที่บิตคอยน์ราคากระฉูด

พาเวลยังเห็นโอกาสร่ำรวยจากการออกเหรียญเงินคริปโตของตัวเองบนระบบบล็อกเชน จึงร่วมมือกับพี่ชายในปี 2018 ระดมทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์จากนักลงทุนใน ICO เพื่อสร้างเครือข่าย TON (Telegram Open Network) ซึ่งเป็นระบบบล็อกเชนที่ใช้ Telegram เป็นแกน

หลักการของ TON คือการเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่พัฒนาโดย Telegram บริการส่งข้อความที่เข้ารหัสลับถูกยกระดับเข้าสู่ชุมชนบล็อกเชนและเงินคริปโต อย่างไรก็ตาม แผนที่วางให้ TON ให้บริการหลากหลายเช่น พื้นที่เก็บข้อมูล TON Storage, ระบบซีเคียวริตี้ TON Proxy และระบบชำระเงิน TON Payments ภายในปี 2021 อาจต้องชะงักเพราะสำนักงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commission) หรือ SEC ไม่อนุมัติโครงการ ทำให้การซื้อขาย ICO เกิดขึ้นไม่ได้ที่สหรัฐฯ แต่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของโลก

ไม่ว่าพาเวลและ Telegram จะมีจุดผกผันใดอีกในอนาคต แต่เชื่อว่าอีโคซิสเต็มส์ของ Telegram จะยังคึกคักต่อไปได้อย่างแตกต่าง โดยไม่ต้องขายสติ๊กเกอร์หรือมีโฆษณาเหมือนแอปแชตอื่น.


กำลังโหลดความคิดเห็น