"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของราษฎร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมากมายแก่ราษฎรและชาติบ้านเมือง ด้วยทรงปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม วันเสด็จสวรรคต เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า “วันปิยมหาราช” และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) และสมเด็จพระเทพศิรินทราพระบรมราชินี
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงสืบราชสันตติวงศ์แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2411 และได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตลอดระยะเวลา 42 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงงานและปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อให้ราษฎรของพระองค์อยู่ดีมีสุข ทรงมีบทบาทในการพัฒนาประเทศหลายด้าน และทรงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ราชอาณาจักรสยามให้พัฒนาไปอย่างใหญ่หลวงในหลายด้าน
หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่นับว่าสำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์คือ ทรงมีพระราชดำริให้มีการขุดคลองมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยพระองค์ทรงส่งเสริมให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่าด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่าทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ และทรงตระหนักด้วยว่าน้ำเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะข้าว
รัชสมัยของพระองค์นั้น ประเทศไทยได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมากขึ้น จึงมีการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มผลผลิตในการค้าขายข้าว โดยในปี พ.ศ. 2413 ได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง” ขึ้น เพื่อเป็นการรักษาการคมนาคมทางคลองให้คงอยู่เพื่อการขนส่งสินค้า
ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 มีการออกกฎข้อบังคับวางระเบียบในการขุดคลอง เรียกว่า “ประกาศขุดคลอง” โดยประกาศฉบับนี้จะพิจารณาถึงผู้ขอจองที่ดินว่า มีความสามารถจะทำประโยชน์กับพื้นที่ที่จับจองได้หรือไม่ จากนั้นจึงจะออกโฉนดจองให้ ใจความสำคัญของประกาศดังกล่าวอยู่ที่การให้ราษฎรผู้ประสงค์จะทำนาใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองด้วย ประกาศขุดคลองนี้ได้นำมาใช้กับโครงการขุดคลองต่างๆ ที่อยู่ทางบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ในรัชสมัยของพระองค์ก็ได้มีการขุดคลองขึ้นหลายสาย เช่น คลองเปรมประชากร คลองนครเนื่องเขตร์ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลจร คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองรังสติประยูรศักดิ์ คลองประปา และคลองแยกอีกหลายคลองด้วยกัน
ในปี 2420 ทรงให้ขุดคลองเนื่องเขตร์ เพื่อรักษาทางสัญจรทางน้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองฉะเชิงเทรา (แหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศแห่งหนึ่ง) รวมทั้งการขุดคลองประเวศบุรีรัมย์ ซึ่งได้ขุดเสร็จในปี พ.ศ. 2423 ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการขุดคลองทวีวัฒนาและคลองนราภิรมย์ขึ้น คลองเหล่านี้จะอยู่ในบริเวณทุ่งราบลุ่มน้ำใหญ่ตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและการปลูกข้าวมากกว่าบริเวณทุ่งราบตอนล่าง
ต่อมาในปี พ.ศ.2430 ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมากและมีราคาสูงทำให้ที่ดินบริเวณริมคลองที่ใช้สำหรับทำนาซึ่งไม่อยู่ไกลจากกรุงเทพมหานครมีราคาสูง ที่ดินเหล่านี้จึงเป็นที่สนใจและมีผู้ต้องการมากทำให้มีเอกชนสนใจขอดำเนินการขุดคลอง พระองค์จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เอกชนหรือบริษัทเป็นผู้เข้าไปดำเนินการขุดและซ่อมแซมคลองที่ขุดแล้ว ได้แก่ คลองพระพิมล คลองพระยาบันลือ พร้อมกันนี้ในรัชสมัยของพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2445 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมคลอง เพื่อให้รับผิดชอบการพัฒนางานด้านนี้ต่อไป
การขุดคลองในรัชสมัยของพระองค์ สร้างความผาสุกให้กับราษฎรในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ รัชกาลที่ ๕ ทรงทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ วางรากฐานให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเกียรติคุณของสมเด็จพระปิยมหาราช ที่ทุกวันนี้คนไทยทุกหมู่เหล่าต่างไปน้อมนำรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณสักการบูชาพระบรมราชานุเสาวรีย์ที่ขานเรียกอย่างสามัญว่า “พระบรมรูปทรงม้า”