ตัวแทนพรรคการเมือง ภาคราชการ เอกชน วางพวงมาลาวันปิยมหาราช “จุรินทร์” เตรียมประชุม ส.ส.พรรค วันอาทิตย์นี้ มั่นใจอภิปรายไม่สุ่มเสี่ยง ประธานรัฐสภาควบคุมตามข้อบังคับ หวังวิป 3 ฝ่ายเคาะ ลงมติร่างแก้ไข รธน. ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญต้นสัปดาห์หน้า
วันนี้ (23 ต.ค.) บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๕ พระลานพระราชวังดุสิต หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา พรรคการเมืองต่างๆ วางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๕ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 110 ปี โดยมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน รวมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๕ รวมถึงผู้แทนฝ่ายการเมือง เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นำโดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค
นายจุรินทร์กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม ส.ส.อภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการชุมนุม ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 26 ถึง 27 ตุลาคมนี้ว่าเวลา 16 นาฬิกา วันอาทิตย์นี้ทจะมีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการอภิปรายทั้งการกำหนดกรอบเวลา กำหนดตัวบุคคล และประเด็นที่จะอภิปราย โดยย้ำให้อภิปรายตามจุดยืนที่พรรคเคยประกาศไว้ ว่าจะเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องการให้การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ ขณะนี้ถือว่าขอบคุณทุกฝ่ายที่อย่างน้อยที่สุดก็มีความเห็นพ้องต้องกัน และนำมาสู่การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ รวมถึงจุดยืนที่อยากเห็นทุกฝ่ายหาทางออกให้กับประเทศโดยใช้แนวทางสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม
นายจุรินทร์กล่าวว่า ในการอภิปราย ส.ส.ของพรรคจะอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ จะมีการเสนอทางออกหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นว่าควรจะทำอย่างไร อย่างน้อยที่สุดอยากเห็นการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมา ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภา ทั้งซีกรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจากภายนอก เพื่อหารือกันลึกในรายละเอียด ช่วยกันทำหน้าที่กำหนดทางออกในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นรูปธรรม อะไรที่เห็นไม่ตรงกันอาจจะแขวนไว้ก่อน แต่อะไรที่เห็นตรงกันก็ถือเป็นความเห็นพ้องของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ ช่วยกันให้ทางออกของประเทศภายใต้ความเห็นร่วมของรัฐสภา และคณะกรรมาธิการขึ้นมา และเพื่อพิสูจน์ว่าระบบรัฐสภายังเป็นที่พึ่งของประชาชน
ส่วนกรณีเอกสารเสนอญัตติเปิดประชุมรัฐสภาเพื่ออธิบายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐบาล ที่ระบุเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง สุ่มเสี่ยงทำให้การอภิปรายพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นายจุรินทร์กล่าวว่า หากมีการอภิปรายสุ่มเสี่ยงถึงสถาบันฯ เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาในการควบคุมการประชุมไม่ให้ผิดข้อบังคับและเป็นไปตามกฎหมาย และปฏิเสธแสดงความเห็นหากบางพรรคการเมืองจะหยิบยกเรื่องสถาบันฯ มาอภิปราย โดยย้ำว่าทุกพรรคต้องยึดจ้อบังคับการประชุม
นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หากเป็นไปได้ อยากให้นำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 26 ถึง 27 ตุลาคมนี้ด้วย อาจจะพิจารณาทั้ง 6 ร่างไปก่อน ส่วนอีกแนวทางคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ มาพิจารณารวมกับ 6 ร่าง ก็ต้องรอช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงจะบรรจุวาระได้ โดยเรื่องนี้มอบหมายให้วิปพรรคประชาธิปัตย์ไปหารือกับวิป 3 ฝ่ายว่าจะพิจารณาพร้อมกับ 6 ร่างได้หรือไม่ เพราะหากรอจะมีข้อกังขาว่าถ่วงเวลา ดังนั้นควรหาข้อสรุปโดยเร็ว