xs
xsm
sm
md
lg

23 ตุลา น้อมรำลึก “พระปิยมหาราช” ณ วัดราชบพิธ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ
วันที่ 23 ตุลาคม เป็น "วันปิยมหาราช" หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเลิกทาส การพัฒนาเมืองไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ และทรงนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย จนเป็นที่มาของพระราชสมัญญานาม “พระปิยมหาราช”

เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เราขอถือโอกาสนี้ไปไหว้พระทำบุญ และชมความงามของ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร” ซึ่งถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ
“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยเป็นวัดแรกที่ทรงสร้างหลังจากทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสี พระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ ภายในวัดมีสุสานหลวงอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ซึ่งรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรังคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์

ในการสร้างวัดนั้นมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง

พระเจดีย์แห่งวัดราชบพิธฯ
ความโดดเด่นของวัดราชบพิธอยู่ที่พระอุโบสถซึ่งมีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก โดยภายนอกอุโบสถประดับตกแต่งอย่างงดงามด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์จากประเทศจีน บานประตูและหน้าต่างประดับด้วยมุกที่ทำเป็นลายไทยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ส่วนซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มมงกุฎประดับปูนปั้นปิดทอง ประดับกระจกแพรวพราวสวยงามมาก

และเมื่อเข้าไปด้านในจะพบกับการตกแต่งด้วยศิลปะยุโรปแบบโกธิค เพดานและผนังของพระอุโบสถตกแต่งด้วยสีทอง กล่าวกันว่ามีลักษณะคล้ายพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซาย ผนังพระอุโบสถมีตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาล ส่วนบนเพดานประดับด้วยโคมไฟระย้างดงาม

องค์เจดีย์ประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปสำคัญภายในพระอุโบสถคือ “พระพุทธอังคีรส” พระประธานซึ่งประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี นามของพระพุทธรูปมาจากพระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง แปลว่ามีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อต้นรัชกาลที่ ๕ ใช้วิธีกระไหล่ทองคำ ด้วยทองคำหนัก 180 บาท ซึ่งเป็นทองที่พระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวมใส่เมื่อทรงพระเยาว์

องค์พระพุทธอังคีรสประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี โดยที่ใต้ฐานพระได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ด้วยกัน ได้แก่ พระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ รวมถึงรัชกาลที่ ๙ ด้วยเช่นกัน

ซุ้มโดยรอบองค์เจดีย์
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญภายในวัดคือพระเจดีย์ทรงไทยย่อเหลี่ยม ฐานคูหาประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางวัด เป็นประธานของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดบนฐานไพที บนยอดปลีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 6,018 องค์ ลูกแก้วยอดปลีพระเจดีย์ทำด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบทอง เหนือฐานพระเจดีย์มีซุ้มโดยรอบรวม 14 ซุ้ม นับตั้งแต่ซุ้มพระรูปหล่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และพระพุทธรูปเหนือซุ้ม มีชานและกำแพงแก้วสำหรับเดินรอบเจดีย์ ตรงกลางองค์พระเจดีย์มีชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกสมัยลพบุรี 2 องค์ นอกจากนี้ผนังด้านในองค์พระเจดีย์มีช่องประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดย่อม 6 องค์

รอบพระเจดีย์เป็นระเบียงคดเชื่อมพระอุโบสถกับพระวิหารและพระวิหารมุขล้อมองค์พระเจดีย์ไว้ โดยพระวิหารก็มีรูปทรงแบบเดียวกับพระอุโบสถ แตกต่างกันตรงที่ลวดลายต่างๆ บนบานประตูและหน้าต่าง รวมถึงลวดลายภายใน

อนุสาวรีย์ “รังษีวัฒนา” ในสุสานหลวง
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่วัดราชบพิธมีแตกต่างจากวัดอื่นๆ ก็คือ ที่วัดแห่งนี้มี “สุสานหลวง” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ดังที่กล่าวตอนต้นว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างวัดนี้เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสี พระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ซึ่งประดิษฐานพระสรีรังคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์

ภายในบริเวณสุสานหลวงมีต้นไม้และอนุสาวรีย์ต่างๆ สร้างไว้อย่างสวยงาม อนุสาวรีย์รูปร่างแตกต่างกัน อาทิ ทรงเจดีย์ ทรงปรางค์ อาคารแบบศิลปะยุโรป เป็นต้น โดยอนุสาวรีย์ที่สำคัญๆ ได้แก่ “สุนันทานุสาวรีย์” บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

อนุสาวรีย์หลากรูปแบบในสุสานหลวง
“รังษีวัฒนา” บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้งพระราชสรีรังคารของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบรมราชสรีรางคารของในหลวงรัชกาลที่ ๙


“เสาวภาประดิษฐาน” บรรจุพระสรีรางคาร พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง “สุขุมาลย์นฤมิตร” บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น อีกทั้งยังมีอนุสาวรีย์ของราชสกุลยุคล อนุสาวรีย์ของราชสกุลกิติยากร และอนุสาวรีย์ของราชสกุลอื่นๆ รวมทั้งหมด 36 องค์

ซุ้มคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์มหาเถร)
ปัจจุบัน วัดราชบพิธยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่สถิตของอดีตสมเด็จพระสังฆราชอีก 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์มหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย

ในช่วงวันปิยมหาราชนี้หากใครอยากรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชน หรืออยากทำบุญไหว้พระถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ ก็สามารถมาได้ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม บนถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ข้างกระทรวงมหาดไทย

นายทหารบนบานประตูวัดราชบพิธฯ
..................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR




กำลังโหลดความคิดเห็น