ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต่อเนื่องกับประเด็นร้อนสั่นสะเทือนแวดวงสาธารณะสุขไทย ล่าสุด สถานการณ์ขาดแคลนงบประมาณด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ข่าวคราวการตัดงบประมาณสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ให้บริการประชาชนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่รู้จักกันดีผ่านสายด่วน 1669 for life saving
จุดเริ่มเรื่องเกิดจากการที่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Drpele Atchariya เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉายภาพปัญหาขาดงบประมาณด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รุนแรงถึงขั้นเสี่ยงต้องชะลอกิจการแห่งรัฐ 1669 เมื่อไม่มีงบฯ อาจส่งผลให้หน่วยฉุกเฉินหลายแห่งหยุดให้บริการ กระทบกระเทือนคุณภาพชีวิตคนไทยยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ความว่า
“บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินปีละหลายล้านคน ทุกชีวิตในสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติต่างทุ่มเทกำลังเพียง 120 ชีวิต ลูกจ้างอีกหลายสิบคน ขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศร่วม 100,000 คน หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินร่วม 10,000 หน่วยทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ”
“วันนี้ความพยายามของพวกเรากำลังถูกจำกัดด้วยงบประมาณที่ขาดแคลน ไม่เพียงพออย่างน่ากลัว จนอาจต้องชะลอกิจการแห่งรัฐนี้ 1669 for life saving เราจะยืนหยัดสู้ต่อไป เพื่อพี่น้องประชาชน จนวันที่เราจะเดินต่อไปไม่ไหว ขอให้ผู้ป่วยปลอดภัย แม้เราจะต้องสิ้นลมหายใจก็ตาม ส่งสัญญาณเตือนคนทั้งประเทศ” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุ
จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์สนั่นลั่นเมือง เหตุใดหน่วยงานทางการแพทย์ที่ดูแลชีวิตคนไทยยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงขาดแคลนงบประมาณ แถมวิเคราะห์คาดเดากันไปต่างๆ นานา ถึงขั้นที่ว่าการหั่นงบประมาณด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเอางบก้อนนี้ไปแก้ปัญหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง กันเลยทีเดียว
กล่าวสำหรับภาระหน้าที่ของ สพฉ. บริหารจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ ที่รู้จักกันดีในชื่อ 1669 เสมือนศูนย์กลางประสานหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่ช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินให้พ้นวิกฤต รวมทั้งการดูแลโครงการ UCEP หรือ ยูเซป เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรี 72 ชั่วโมง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ทำให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขาดงบประมาณนั้น ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาฯ สพฉ. ระบุว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เป็นปัญหาสะสมมานาน ทั้งนี้ เปิดใจผ่านบทความเรื่อง “เปิดสาเหตุ สพฉ. ขาดงบประมาณ เพราะอะไรถึงไม่เพียงพอ!!” โดยวารุณี สิทธิรังสรรค์ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ hfocus.org ความว่า
“ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2563 แต่เริ่มมีปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2562 - 2563 โดยงบ สพฉ. มี 2 ส่วน คือ “ส่วนแรก” งบประมาณสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ “ส่วนที่ 2” คือ งบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งงบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นงบที่ใช้สำหรับให้บริการดูแลพี่น้องประชาชนโดยตรง ทั้งเรื่องการโทรสายด่วน 1669 ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะกองทุนจ่ายให้ และค่าดำเนินงานของหน่วยฉุกเฉินทั่วประเทศที่ออกพื้นที่ให้บริการประชาชน โดยกองทุนจ่ายให้ทั้งหมด แต่มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ เป็นผู้บริหารจัดการ
“ดังนั้น งบสถาบันฯ ก็จะสัมพันธ์กับงบกองทุน โดยงบของ สพฉ. เป็นงบบุคลากร งบดำเนินงาน และงบลงทุนก่อสร้างตึก และครุภัณฑ์ต่างๆ หากพิจารณาจากงบสถาบันฯในปี 2562 , 2563 และ 2564 จะเห็นว่า งบปี 2563 งบบุคลากรลดลงจากปี 2562 ลดลงถึง 20 กว่าล้านบาท ทำให้มามีปัญหาตอนสิ้นปี 2563
“งบประมาณกองทุนปี 2562 เคยได้รับประมาณ 900 กว่าล้านบาท แต่ต่อมาปี 2563 ถูกปรับลดเหลือ 800 ล้านบาทเศษๆ แต่ปี 2564 เหมือนเพิ่มขึ้น แต่ไม่เท่าปี 2562 ปัญหา คือ ปี 2563 ถูกลดงบประมาณลง ซึ่งทำให้มีปัญหาการดำเนินงาน อย่างปี 2562 เราจ่ายเงินชดเชยหน่วยฉุกเฉินที่ออกให้บริการประชาชนทั่วประเทศประมาณ 900 กว่าล้านบาท แต่ยังขาดอีก 94 ล้านบาท เราก็ต้องเอางบประมาณของปี 2563 ไปจ่ายแทน แต่พอมาปี 2563 งบไม่พออีกประมาณ 200 กว่าล้านบาท ก็เกิดจากการไม่พอสะสมค้างมาตั้งแต่ปีก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี 72 ชั่วโมง หรือสิทธิ ยูเซป ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล ปี 2563 ยังถูกลดงบ 70 - 80% เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บอร์ด สพฉ. เห็นชอบของบกลางประมาณ 200 กว่าล้านบาทเพื่อมาใช้ดำเนินการการแพทย์ฉุกเฉิน แต่เมื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณกลับไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยบริการฉุกเฉินทั่วประเทศ ความว่าขอชะลอจ่ายจนกว่าสำนักงบพิจารณางบกลางฉุกเฉินให้จึงจะดำเนินการจ่าย
หลังจากประเด็นเผือกร้อนปัญหาขาดแคลนงบประมาณด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ สพฉ. แพร่สะพัดจนตกเป็นเป้าวิจารณ์ในสังคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาอธิบายถึงสาเหตุของการถูกตัดงบประมาณการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. ประการแรก ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องงบประมาณในส่วนนี้จะมีคนดูแลมีคนไปต่อสู้ให้ แต่ สพฉ. ไม่ใช่หน่วยงานราชการที่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีปลัดกระทรวงฯ หรือผู้เกี่ยวข้องไปเจรจาต่อรอง อีกทั้ง เลขาฯ สพฉ. ไม่ได้ถือเป็นข้าราชการประจำของกระทรวงฯ ช่องทางการเจรจาตรงนี้จึงตกหล่นไป
แน่นอนว่า งานด้านแพทย์ฉุกเฉินมีความสำคัญ ปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังมีพื้นที่ห่างไกลอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงความเจริญ การแพทย์ยังเข้าไม่ถึง ขณะที่ สพฉ. พยายามอบรมขยายเครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุม เพื่อการดูแลและส่งต้อผู้ป่วยฉุกเฉิน
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเรื่องงบประมาณเพื่อดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากงบประมาณปี 2564 ผ่านไปแล้ว ดังนั้น กระทรวงสาธารณะสุขจึงขอให้มีการใช้งบกลางมาทดแทน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้ดำเนินการเป็นปกติได้ และสั่งการไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป ส่วนตัวเลขงบประมาณให้เป็นไปตามความเหมาะสม ส่วนตัวเลขจำนวนเท่าไหร่ จะทำการเจรจาหารือทาง สพฉ. ต่อไป
ณ วันนี้ สพฉ. ค้างเงินหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน ในปี 2563 จ่ายไปประมาณ 9 เดือนครึ่งแล้ว ต้องติดตามใกล้ชิดว่จะได้งบกลาง เพื่อมาเคลียร์เงินค้างหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินอีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ส่วนงบประมาณปี 2564 ยังคงต้องลุ้นว่าจะเพียงพอปีหรือไม่ เนื่องจากแนวโน้มการเข้าถึงบริการฉุกเฉินของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ดี จากการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. ทำให้ปัญหาขาดงบประมาณ สพฉ. ได้รับสะสางแล้ว โดยลำดับถัดไป สพฉ. จะหารือรายละเอียดตัวเลขงบฯ กับทางสำนักงบประมาณ
“เงินในส่วนหน่วยฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเขา เพราะหากไม่ดูแล เขาไม่วิ่งก็จะกระทบประชาชนได้ ซึ่งเฉลี่ยมีการวิ่งเคสประมาณ 1.8 ล้านเคสต่อปี เดิมอยู่ที่เฉลี่ยไม่เกิน 1.5 ล้านเคส แต่การเข้าถึงบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทั้งหมดก็เพื่อการบริการประชาชน” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาฯ สพฉ. กล่าวผ่านเว็บไซต์ hfocus.org
ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นองค์กรรับผิดชอบการบริหารจัดการ การประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รู้จักกันดีผ่านสายด่วน 1669 หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ทันที
โดยหลักการการทำงานของสายด่วน 1669 เมื่อมีประชาชนโทรแจ้ง เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการว่า เข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ โดยแบ่งระดับความฉุกเฉินออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง), ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง), ผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่รุนแรง (สีเขียว), ผู้ป่วยทั่วไป (สีขาว) และผู้รับบริการสาธารณสุขอื่นๆ (สีดำ) ประเมินอาการก่อนส่งทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือ ไปรับผู้ป่วยและส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน