xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พลิกปูม “ทุจริตบัตรทอง” เชือด! คลินิก - รพ. 188 แห่ง เสียหาย 200 ล้าน สะเทือน 9 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวปมทุจริตเบิกจ่ายบัตรทอง คลินิก-รพ.เอกชน ยกเลิกสัญญา 188 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท กระทบประชาชนมากกว่า 9 แสนคน ต้องเปลี่ยนแปลงสถานบริการด้านสาธารณสุข
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณี “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” ตรวจพบทุจริตเบิกจ่าย บัตรทอง” ในสถานพยาบาล 3 ล็อตแรก รวม 188 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 ก.ย. 2563) ถือเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนแวดวงสาธารณสุขไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ กลโกงบัตรทองของสถานพยาบาลที่ตรวจพบการทุจริต มีอยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ


 1. สวมสิทธิ์ผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาล แอบอ้างชื่อว่ามาตรวจรักษาจริง ด้วยการนำเลขบัตรประชาชนเข้าไปกรอกในระบบเพื่อนำไปเบิกจ่ายกับทาง สปสช.


2. ปลอมแปลงเอกสารรับรองผลการตรวจ หรือ ใบแล็บ โดยไม่มีผู้ป่วยไปตรวจจริง ซึ่งมักใช้กับผลการตรวจจากสถานประกอบการ ด้วยการสร้างชื่อพนักงานของสถานประกอบการนั้นขึ้นมาใหม่


และ 3. แก้ไขปรับเปลี่ยนข้อมูลทางกายภาพของผู้ป่วย เพื่อให้มีมวลกายเข้าเกณฑ์ตรวจโรคในกลุ่มเมตาบอลิก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงความดัน เบาหวาน สามารถเบิกจ่ายค่าตรวจคัดกรองได้รายละ 400 บาท 

นอกจากนั้น คณะทำงานยังการทุจริตของคลินิกทันตกรรมซึ่งตกแต่งตัวเลขค่าทันตกรรมเกินจริง เพื่อเรียกเก็บเงินกับทาง สปสช. เช่น การทำโอเวอร์หัตถการ เช่น การอุดฟัน 1 ซี่ อุดได้ 4 ด้าน ก็เบิกมา 6 ด้าน เป็นต้น

“พยายามแก้ไข้ข้อมูลในใบคัดกรองเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ดูประวัติแล้วว่า ผู้ป่วยมีส่วนสูงเท่านี้ แล้วส่วนสูงปัจจุบันลดลง หรือน้ำหนักในอดีตมีแค่นี้ น้ำหนักในปัจจุบันลดลงอย่างฮวบฮาบ รวมไปถึงการแก้ไขมวลกระดูก BMI เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อไปตรวจเลือดเข้าแล็บ ซึ่งไม่เป็นความจริง จากนั้น นำผลแล็บซึ่งไม่ได้มีการตรวจจริง มาเป็นหลักฐาน และรวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งการตรวจแล็บ ค่าคัดกรอง นำมาเบิกกับ สปสช.”  นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง  ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อธิบายถึงกลโกงเงินบัตรทองของหน่วยบริการสาธารณสุข อาศัยช่องว่างของระบบการเบิกจ่ายของกองทุนบัตรทอง

ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นมีปัจจัยมาจากรูปแบบระบบเบิกจ่ายงบบัตรทองมีปัญหา การเบิกจ่ายผ่านระบบคอมพิวเตอร์เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต กล่าวคือเมื่อมีข้อมูลแสดงเข้ามาถูกต้องระบบก็ให้เบิกเงินออกไปอัตโนมัติ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สปสช. กำลังเร่งปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายที่ต้องมีการพิสูจน์ตัวบุคคลผู้ใช้สิทธิบัตรทองตัวจริง

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ สปสช. เพิ่งสบโอกาสดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย เนื่องจากต้องใช้เวลาตรวจสอบ และเก็บรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ประกาศเอาไว้ว่า จากหลักฐานมีความชัดเจนว่าเกิดการโกงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เพราะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนซึ่งรัฐจัดไว้บริการด้านสุขภาพมาปู้ยี่ปู้ยำ

อย่างไรก็ดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ส่งเทียบเชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผู้แทนอัยการ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้ามาหารือ เพื่อเดินหน้าสอบสวนเรื่องนี้ ทำความจริงให้ปรากฏ

 นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร  ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่าการบูรณาการสอบสวนของดีเอสไอ กับกองบังคับการกองปราบ จะดำเนินการในภาคสอบสวนในส่วนทางคดีอาญา ยังไม่นับความเสียหายทางแพ่ง และความผิดทางวิชาชีพที่กำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม มีเอกสารหลักฐานและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการทุจริตบัตรของสถานพยาบาลครั้งนี้

ย้อนไปราวๆ ต้นเดือน ก.ค. 2563 สปสช. ดำเนินการเอาผิด “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” เครือข่ายหน่วยบริการร่วมให้บริการสิทธิบัตรทอง ล็อตแรก 18 แห่ง หลังมีหลักฐานทุจริตเบิกเงินค่าดูแลผู้ป่วยเกินจริง พบมีการเบิกเกินไปกว่า 70 ล้านบาท

จากนั้นเร่งขยายผลการตรวจสอบ พบล็อตที่ 2 ทุจริตอีก 64 แห่ง และ ล็อตที่ 3 พบทุจริตอีก 106 แห่ง รวมทั้ง 3 ล็อต พบสถานพยาบาล คลินิก และโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุจริตเงินบัตรทอง รวม 188 แห่ง มูลค่าความเสียหายจำนวนว่า 200 ล้านบาท ทั้งนี้ สปสช. ดำเนินคดีทางกฎหมายกับทุกหน่วยบริการที่พบพฤติกรรมทุจริต รวมทั้ง จะการขยายผลตรวจสอบย้อนหลังในช่วง 10 ปี ตั้งแต่มีการดำเนินโครงการ

 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การยกเลิกสัญญาสถานพยาบาลทุจริตบัตรทองทั้ง 188 แห่ง ส่งผลกระทบประชาชนประมาณ 900,000 - 1,000,000 ล้านคน โดยอยู่ระหว่างการประสานและดำเนินการเพื่อหาหน่วยบริการรองรับ ส่วนเรื่องการรักษาตามสิทธิบัตรทองไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด ประชาชนคนไทยยังคงได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นเดิม

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกระจุกตัวที่อยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะส่งผลให้ประชาชนสิทธิบัตรทองต้องเปลี่ยนแปลงสถานบริการด้านสาธารณสุขอื่นแทน ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ ประชาชนสามารถใช้บริการมีสิทธิบัตรทองตามสถานพยาบาลเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สำหรับแนวทางการรองรับการให้บริการและการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ สำหรับประชาชน “สิทธิว่าง” (ยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ) จากกรณีหน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ทาง สปสช. กำลังเร่งดำเนินการจัดหาหน่วยบริการใหม่รองรับประชาชนในคลินิกที่ถูกยกเลิกสัญญาภายใน 1 - 2 เดือน เพื่อให้ระบบบริการสู่ภาวะปกติ

สืบเนื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้คลินิกเอกชถูกยกเลิกสัญญาเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยบริการภาครัฐต้องเข้ามาอุ้มเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบื้องต้น สปสช. ต้องกำหนดเป็นสิทธิว่างไว้ก่อน เพราะหน่วยบริการรัฐก็เต็มรับไม่ไหว แต่ย้ำว่าประชาชนยังมีสิทธิบัตรทองเช่นเดิม

ทั้งนี้ ปี 2563 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 190,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.97% เหมาจ่ายรายหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600 บาท แบ่งเป็น 8 รายการหลักๆ ได้แก่

1. บริการเหมาะจ่ายรายหัวดูแลประชาชน 48.26 ล้านคน จำนวนเงิน 173,750.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.39% 2. บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการควบคุมป้องกันการติดเชื้อ 3,596.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% 3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,405.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6%
4. บริการป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 1,037.57 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 8.6% 5. บริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนใต้ 1,490.29 ล้านบาท

6. บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง 1,025.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% 7.บริการเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 268.64 ล้านบาท และ 8. งบชดเชยวัคซีนป้องกันหัด คางทูมและหัดเยอรมัน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดในภาคใต้ปี 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าว ครม. มีมติตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 2,400 ล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉินแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตาม ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ท่ามกลางเสียงคัดค้านตัดงบบัตรทองนำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

เกิดข้อสงสัยถึงงบบัตรทองที่ถูกตัดออกไป หมายความว่างบค่ารักษาพยาบาลของคนไทยกว่า 49 ล้านคน ซึ่งปกติมีค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาท ต้องส่งคืนคลังใช่หรือไม่ ทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองอาจเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ไม่เต็มที่หรือไม่

ต่อมา นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกยืนยันว่าไม่กระทบต่อการบริการของ สปสช. ที่มีให้กับประชาชนอย่างแน่นอน เพราะงบประมาณดังกล่าวเป็นงบเงินเดือนบุคคลากรสาธารณสุขที่เพิ่งได้รับการบรรจุใหม่ ย้ำว่าการตัดงบประมาณก้อนนี้ไม่กระทบต่อประชาชนสิทธิบัตรทอง และหากงบประมาณไม่เพียงพอ สปสช. สามารถทำเรื่องเสนอของบประมาณสนับสนุนเพิ่มได้

อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดสถานการณ์ยกเลิกถอนสัญญาสถานพยาบาลเอกชนจำนวนมาก เนื่องจากตรวจสอบพบการทุจริตเบิกจ่ายผิดปกติ ภาระงานตกอยู่ที่หน่วยบริการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหลายแห่งไม่ได้เตรียมตัวกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากเคว้งอยู่ในสถานะ “สิทธิว่าง” หรือไม่มีหน่วยบริการประจำ มีเพียงสิทธิการรักษาตามเดิม

นับเป็นงานหนักของ สปสช. ที่ต้องเร่งจัดหาสถานบริการสาธารณสุขเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น