xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลดแอก “กัญชา - กัญชง - กระท่อม” หนุนแพทย์ทางเลือก ดันพืชเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปลดล็อกตามลำดับ “กัญชา - กัญชง - กระท่อม” พืชสมุนไพรไทยที่แม้วันนี้ยังค้างเติ่งในบัญชียาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ทางด้านสาธารณสุขปูทางกำหนดให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ ทางภาครัฐได้ปูพรมให้พืชทั้ง 3 ชนิด ขึ้นแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อคลายล็อกกัญชาทางการแพทย์ อนุญาตให้หลายภาคส่วนสามารถปลูกกัญชาภายใต้การควบคุมของรัฐ รวมทั้ง พิจารณาให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่า

ในเวลาถัดมา ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้กัญชงซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ให้กัญชงพ้นจากยาเสพติด เพื่อเปิดให้มีการวิจัย ทำยา เครื่องสำอาง เครื่องสมุนไพร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

และความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อควบคุมการใช้พืชกระท่อมในการรักษาและวิจัย ป้องกันเด็กและเยาวชนใช้ในทางที่ผิด ตลอดจนเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม หนุนเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย


ชุบชีวิตเกษตรกร
กระท่อม กิโลฯ ละ 1,000 บาท
มีข้อมูลเปิดเผยว่า ปลูกกระท่อม 1 ไร่ มีรายได้มากกว่าปลูกยางพาราอย่างน้อย 10 เท่า ขณะนี้ยางพาราราคาไม่เกินกิโลฯ ละ 40 บาท แต่พืชกระท่อมราคาประมาณกิโลฯ ละ 1,000 บาท ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... คลายล็อกพืชกระท่อมที่อยู่ในบัญชียาเสพติด เพื่อนำใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ นำไปสู่การพัฒนาผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย จึงเป็นประเด็นที่ถูกจับมองเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม พืชกระท่อมถูกตีตราอยู่ในบัญชียาเสพติดต้องห้ามมานานกว่า 80 ปี แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งพืชกระท่อมจัดเป็นยารักษาโรค หมอพื้นบ้านจะนำใบกระท่อมมาใช้รักษาโรค แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ระงับประสาททำให้นอนหลับ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ภาคใต้นิยมบริโภคใบกระท่อมสด เพื่อให้มีกำลังทำงานทนทาน รวมทั้งใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดฟัน ปวดท้อง ฯลฯ

ที่ผ่านมาพืชกระท่อมอยู่ในวิถีชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ใบกระท่อมสดนำมาเคี้ยว หรือการนำมาชงชา หรือต้มน้ำดื่ม เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวไร่ชาวสวน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือพืชกระท่อมมีส่วนประกอบของ สารมิตราไจนีน (Mitragynine) มีสรรพคุณช่วยระงับความเจ็บปวด และส่วนสารชนิดอื่นๆ ช่วยเพิ่มพละกำลัง

สำหรับสรรพคุณทางยาของกระท่อม มีข้อมูลวิชาการอ้างอิงเชื่อถือได้ สถาบันการศึกษาในประเทศไทยหลายแห่งได้ศึกษาและวิจัยประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินงานศึกษาวิจัยพืชกระท่อม ดำเนินโครงการวิจัยครอบคลุมในมิติวัฒนธรรม พฤติกรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์ และกฎหมายตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าพืชกระท่อมมีโทษน้อยหากเทียบกับประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเปิดพื้นที่ทั้งในเชิงการแพทย์และเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษากลไกของตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำบางช่วงดังเช่นพืชเศรษฐกิจอื่นๆ


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. เกี่ยวกับมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม ความว่า แต่เดิมพืชกระท่อมถูกกำหนดกรอบวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ที่มีการใช้พืชกระท่อมในรูปแบบวิถีชาวบ้าน เช่น การเคี้ยวใบกระท่อมสด หรือการนำมาชงชาหรือต้มน้ำดื่มสำหรับตนเองในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

ดังนั้น กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานคดียาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ขึ้นเพื่อให้สอดรับสังคมไทยในปัจจุบัน เล็งเห็นว่ากระท่อมมีศักยภาพปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ การปลดล็อกครั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน


สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม กำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม ส่งเสริมและพัฒนาพืชกระท่อมให้เกษตรกรปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยสาระสำคัญ ประกอบด้วย กำหนดโทษหากผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือทำการตลาดเพื่อขาย โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กำหนดให้เสพพืชกระท่อมเพื่อการรักษาโรคและเพื่อการศึกษาวิจัย โดยห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป เสพพืชกระท่อมในลักษณะ 4x100 หรือ ผสมกับยาเสพติดวัตถุออกฤทธิ์ และห้ามไม่ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เสพพืชกระท่อม รวมทั้ง ห้ามไม่ให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืช กระท่อม ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ห้ามขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ รวมถึงห้ามใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายพืชกระท่อม ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

รวมทั้ง ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมในสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเร่ขาย ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาหรือทำสื่อสารการตลาดพืชกระท่อมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจสาธารณชนให้เสพพืชกระท่อมซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ยังกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช้บังคับกับ (1) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร (2) ยาที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยยา (3) อาหารที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และ (4) เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง

และทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 37 ประเทศทั่วโลกที่ควบคุมพืชกระท่อมโดยไม่ใช้กฎหมายยาเสพติดแต่ใช้กฎหมายอื่น เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น, เซอร์เบีย, โครเอเชีย, ซีเรีย ฯลฯ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยในฐานะที่กระทรวงยุติธรรม และสำนักงาน ป.ป.ส. ดูแลเรื่องยาเสพติด ระบุว่าพืชกระท่อมจัดเป็นยาเสพติดตั้งแต่ปี 2486 เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นต้องการเก็บภาษี ซึ่งเป็นเหตุผลทางการค้าและการเมือง การปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดครั้งนี้ มุ่งหวังจะใช้เกิดประโยชน์จากพืชกระท่อม

อย่างไรก็ตาม มีพื้นที่นำร่องปลูกพืชกระท่อมแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณ ต.น้ำพุ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อนุญาตให้ปลูกกระท่อมเพื่อการวิจัยตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการควบคุมพืชกระท่อมกว่า 1,500 ต้น มีการควบคุมการปลูกพืชกระท่อมอย่างเข้มงวด ติดบาร์โค้ดทำข้อมูลทุกต้น และมีการกำหนดกติกาประชาคมระดับตำบลควบคุมกันเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านรอคอยให้การปลดล็อกพืชกระท่อมมานาน

และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยพืชกระท่อม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีโครงการวิจัยเก็บเลือดตัวอย่างของประชาชนที่ใช้พืชกระท่อมทั้งหมดว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพอวัยวะภายในอย่างตับไตหรือไม่ รวมทั้ง มีการทดสอบคลื่นสมองของผู้ใช้พืชกระท่อมเปรียบเทียบกับผู้ไม่ใช้พืชกระท่อมว่ามีผลกระทบอย่างไร ซึ่งพบว่าพืชกระท่อมไม่ได้ทำลายสมอง

ทั้งนี้ ป.ป.ส. ได้กำหนดพื้นที่นำร่องอีก 135 หมู่บ้านชุมชน เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาการควบคุมดูแลการใช้พืชกระท่อม พิจารณาการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้านชุมชน การควบคุมดูแลไม่ให้มีการใช้พืชกระท่อมผิดวัตถุประสงค์ ปูทางพืชกระท่อมสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยเต็มรูปแบบ

“กัญชา – กัญชง” พืชกระตุ้นเศรฐกิจ

หน่วยงานของรัฐ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เดินเครื่องปลดล็อกพืชสมุนไพร อย่าง “กัญชา – กัญชง” และ “กระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

มีนโนบายสนับสนุนให้มีการพัฒนา “กัญชา – กัญชง” และ “กระท่อม” ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งในรูปแบบ สมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน อาหาร เครื่องสำอาง ภายใต้การกำกับของรัฐเงื่อนไขแตกต่างกันตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ในประเทศ


เริ่มที่ความคืบหน้าของ “กัญชา” ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. อนุญาตให้ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ พิจารณาให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีโทษ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่า นับเป็นก้าวสำคัญของไทยสู่การเป็นประเทศผู้นำการใช้กัญชาทางการแพทย์ มีการพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาไทย โดยสาระสำคัญ มุ่งเน้นหลักการสำคัญ 3 ประการ

1. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถขออนุญาตปลูกและใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของตนเองได้ 2. ต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการปรุงยาเพื่อให้ผู้ป่วยของตนได้

และ 3. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชา ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถผลิตยากัญชาและส่งออกได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ ไม่ต้องนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ และประหยัดงบประมาณ ในการนำยาโดยใช้ยากัญชาทดแทน หรือใช้ร่วมกับ ยาแผนปัจจุบันได้

สำหรับนโยบายปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ของพรรคภูมิใจ ภายใต้การขับเคลื่อนของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกเป็นกฎหมาย ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าเรื่อง น้ำมันกัญชา เข้าสู่บัญชียาหลักเพื่อเป็นทางเลือกด้านการรักษากับประชาชนนั้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดแนวทางความชัดเจนในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ อภ. ยังขยายโครงการนำร่องวิสาหกิจชุมชนใน 3 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ ลำปาง และนครราชสีมา ปลูกกัญชาสายพันธุ์ขององค์การเภสัชกรรมลักษณะช่อดอกที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อนำมาผลิตสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพ อีกทั้ง แผนงานในปี 2564 จะมีการพัฒนาผลิตภัณ์สารสกัดกัญชา แชมพู สลีปปิ้งมาส์ก เป็นต้น

ในส่วนความคืบหน้าของ “กัญชง” หลังจาก ครม. เห็นชอบกฎกระทรวงฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับกัญชา กำหนดให้กัญชงพ้นจากยาเสพติด เพื่อเปิดให้มีการวิจัย ทำยา เครื่องสำอาง เครื่องสมุนไพร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารเเละยา (อย.) เปิดเผยว่า การปลูกกัญชงในรูปแบบเศรษฐกิจ อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะสามารถปลูกได้ภายในช่วงเดือน ต.ค. 2563 ทั้งนี้ กัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 การปลูกจะต้องมีแผนการและขออนุญาต ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขรัฐอย่างเคร่งครัด

สำหรับ มูลค่าการตลาดกัญชง ปี 2562 อยู่ที่ 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 124.6 ล้านบาท คาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าการตลาดจะมีโอกาสเติบโตถึง 26.6 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 824.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 34%

มีหลายประเทศปลูกกัญชงเชิงพืชเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเข้าประเทศได้มหาศาล อาทิ สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ฯลฯ ซึ่งภาพรวมของตลาดโลกในอุตสาหกรรมกัญชงแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

กัญชง เป็นพืชที่น่าจับตามีโอกาสสร้างรายได้จากการเพาะปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ นอกจากการพืชกัญชงนำมาผลิตเส้นใย ต้องไม่ลืมว่าสาร THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ในกัญชง มีประโยชน์ทางการแพทย์มีราคาสูง นับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจครบวงจรตัวใหม่ของไทย สามารถเข้าแข่งขันในตลาดระดับเอเชีย ยุโรป และอเมริกา สนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าถึงทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองการพาณิชย์ และปลูกเพื่อประโยชน์ในครัวเรือน

หรือด้านการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ซุ่มเดินหน้าส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนยาสูบ เช่น กัญชา - กัญชง เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในอนาคตต่อไป มีแผนการพัฒนาที่ดินทั้งในส่วนกลางและสำนักงานยาสูบส่วนภูมิภาค 7 หมื่นไร่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ในอนาคต

ประเด็นการปลดล็อค “กัญชา – กัญชง - กระท่อม” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ นำไปสู่การพัฒนาผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย ภาครัฐเร่งเครื่องผลักดันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไฟเขียวแก้กฎหมายเดินหน้านโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “กัญชา – กัญชง - กระท่อม” อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ เพียงคลายล็อกแต่ยังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ฉะนั้น การปลูก การจำหน่าย หรือนำเข้าส่งออก ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ



กำลังโหลดความคิดเห็น