xs
xsm
sm
md
lg

ครูตีเด็ก และเด็กตีเด็ก : ปัญหาการจัดการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


เครดิตภาพ เด็กบ้านสวน
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” นี่คือสุภาษิตไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการเลี้ยงเด็กในสมัยโบราณ ว่าถ้าต้องการให้ลูกเป็นคนดี ก็จะต้องมีการลงโทษด้วยการตีเพื่อสั่งสอนให้รู้ว่า ถ้ามีการทำผิดจะถูกลงโทษ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเลี้ยงวัวก็จะต้องผูกไว้มิให้หนีไปไหน

เมื่อเด็กโตขึ้น พ่อแม่ต้องการให้ลูกของตนมีความรู้ก็ส่งเข้าโรงเรียน เพื่อเล่าเรียนวิชาการด้านต่างๆ โดยมีครูเป็นผู้สอนวิชาความรู้ และให้การอบรมกิริยามารยาทในการเข้าสังคม

ดังนั้น เด็กทุกคนจะได้รับการสอนทั้งจากพ่อแม่และครูควบคู่กันไป ด้วยเหตุนี้ครูจึงเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก เนื่องจากตลอดเวลาที่เด็กอยู่โรงเรียน ครูจะต้องรับหน้าที่ในการดูแลเด็ก เฉกเช่นที่พ่อแม่ดูแลเด็กในขณะที่เด็กอยู่ที่บ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูในอดีตจึงลงโทษเด็กด้วยการตีเพื่อการสั่งสอนได้ ในทำนองเดียวกันกับพ่อแม่

แต่ในปัจจุบัน การลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตีเพื่อการสั่งสอน ครูจะกระทำไม่ได้เนื่องจากได้ถูกยกเลิก และกลายเป็นข้อห้ามไปแล้ว ดังนั้น ครูคนใดกระทำจึงเข้าข่ายความผิดในข้อหาทำร้ายร่างกายได้ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเห็นว่าเป็นการกระทำเกินควร ก็ฟ้องร้องได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

นอกจากเกิดเหตุครูตีเด็กและในปัจจุบันยังมีปัญหาเด็กนักเรียนทำร้ายกันเอง มีตั้งแต่เด็กรุ่นที่รังแกรุ่นน้องในโรงเรียนเดียวกันไปจนถึงเด็กนักเรียนต่างสถาบันยกพวกตีกันเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงกลายเป็นปัญหาสังคมไปแล้ว และจากการที่ครูมีปัญหากับเด็ก และเด็กมีปัญหากันเองเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการศึกษาของไทยในขณะนี้ด้อยคุณภาพลง เมื่อเทียบกับอดีต ทั้งนี้อนุมานได้ว่า น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. โรงเรียนที่มีคุณภาพที่รัฐจัดให้เพื่อรองรับความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กมีไม่เพียงพอ จึงเปิดช่องให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนในรูปแบบของธุรกิจการศึกษา และเมื่อเป็นธุรกิจการแสวงหากำไรก็ตามมา ดังนั้น การลดต้นทุนโดยการจ้างครูด้อยคุณภาพและขาดจรรยาบรรณในความเป็นครูจึงเกิดขึ้น และครูประเภทที่ว่านี้เองคือ ต้นเหตุที่ทำให้การศึกษาด้อยคุณภาพ และเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา ทั้งปล่อยปละละเลยในการถ่ายทอดความรู้ และให้การอบรมเด็ก รวมไปถึงการลงโทษเด็กรุนแรงเกินเหตุที่พ่อแม่คนที่สองของเด็กจะพึงกระทำต่อเด็กด้วย

2. การจัดการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรครูขาดคุณภาพ และขาดการหล่อหลอมจิตวิญญาณของผู้ที่จะมาเป็นครู ทั้งนี้จะเห็นได้จากครูส่วนหนึ่งในปัจจุบันไม่ทุ่มเทการสอนให้กับเด็กในเวลาเรียนอย่างเต็มที่ แต่เก็บความรู้ส่วนหนึ่งไว้สอนพิเศษเพื่อหารายได้จากเด็กที่พ่อแม่มีกำลังซื้อ จึงเป็นเหตุให้เด็กในโรงเรียนเดียวกัน ชั้นเดียวกัน และเรียนกับครูคนเดียวกันมีความรู้ต่างกันระหว่างเด็กที่เรียนพิเศษกับไม่เรียนพิเศษ

3. ในปัจจุบันรายได้ของครูในรูปของเงินเดือนและการสอนพิเศษรายชั่วโมงจะต่ำ เมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับค่าครองชีพจึงทำให้ครูส่วนใหญ่มีหนี้สิน

อีกประการหนึ่ง ที่ครูส่วนหนึ่งไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เรียนในสถานศึกษาของครูไม่มีความต้องการเป็นครู แต่ที่ต้องเรียนครูเพราะเข้าเรียนในสาขาอื่นไม่ได้หรือจบสาขาอื่นแต่หางานทำในสาขาที่ตนจบมาไม่ได้ต้องมาเป็นครู และกลุ่มนี้เองที่มีอุปสรรคประกอบอาชีพครู และกลุ่มนี้เองที่เป็นครูด้อยคุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งผู้เป็นครูจะต้องมี

เมื่อครูเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาในการสอน เด็กก็มีปัญหาในการเรียนเป็นผลพวงตามมา จะเห็นได้จากการที่เด็กจบการศึกษาออกมาไม่มีความรู้ ไม่มีความคิดเท่าที่ผู้จบการศึกษาในระดับนั้นจะพึงมี และแทนที่เด็กซึ่งมีการศึกษาจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสังคมลง กลับเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาให้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องทบทวนนโยบายการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรการศึกษา และการเรียน การสอน โดยเน้นให้เด็กมีศักยภาพในการคิดและปลูกฝังจิตสำนึกให้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต โดยยึดแนวทางจริยธรรม วัฒนธรรม และประเพณีอันเป็นรากเหง้าของชาติเป็นหลัก แทนที่จะปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตแบบลองผิดลองถูก โดยยึดติดวัตถุนิยม ไม่คำนึงถึงจิตนิยมอันเป็นรากเหง้าของโลกตะวันออก ถ้าไม่เช่นนั้นสักวันหนึ่งข้างหน้า ประเทศไทยจะล้มหายทางสังคม และล่มจม เฉกเช่นประเทศตะวันตกที่เจริญด้วยวัตถุ แต่ล้มเหลวทางด้านจิตใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น