xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรยุคใหม่แข่งขันได้ด้วยนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร



ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ หัวหน้าศูนย์ STECO ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเอกพล พงศ์สถาพรกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ในกิจกรรม STECO Online Forum ครั้งที่ 12 หัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยนวัตกรรม”

คุณเอกพลเปิดเผยว่าในมุมมองของทิปโก้ฟู้ดส์นั้นดำเนินการเรื่องนวัตกรรมมาแล้วหลายเรื่อง เริ่มต้นจากแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างแรก แน่นอนว่าธุรกิจต้องการเติบโตและยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดได้ กลยุทธ์ทางธุรกิจมีแนวทางหลากหลายแต่ความสำเร็จเกิดได้จาก 2 เรื่อง คือ การแข่งขันด้านต้นทุน (Cost leadership) คือ ใครมีต้นทุนที่ต่ำกว่าก็จะมีความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่า แต่หากเราไม่สามารถมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่นได้ สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องทำอย่างยิ่ง คือ การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) เช่น สินค้า บริการ หรือโครงสร้างทางธุรกิจ ที่อาจจะทำให้เราขายของให้แพงขึ้นกว่าคนอื่นได้เพราะมีจุดขายที่ทำให้คนสนใจ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหา คือ ต้นทุนอาจจะไม่ได้ต่ำ ความแตกต่างก็ไม่มี หากต้องการทำให้ได้ทั้ง 2 อย่างก็จะต้องผ่านการคิดที่แตกต่างโดยใช้หลักกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้ามาช่วย นวัตกรรมจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจที่จะช่วยให้มีความสามารถทางการแข่งขันองค์กรได้

สำหรับทิปโก้ฟู้ดส์สิ่งที่จะให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้ คือ Sense of urgency หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า ความรู้สึกจำเป็นเร่งด่วนที่คนในองค์กรรู้ได้ด้วยตนเอง นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องปรับในองค์กร ผู้นำไม่สามารถมาชี้นิ้วสั่งได้ตลอด ยิ่งยุคสมัยใหม่ที่มีช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) ที่เกิดขึ้นมีความห่างมาก การจะสั่งให้คนที่อายุน้อยกว่าเราทำในเรื่องบางเรื่องจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะฉะนั้นการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้องเกิดจากความเต็มใจ นวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนในองค์กรรู้สึกอยากทำ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมักเกิดจากความเดือดร้อนหรือจากความจำเป็น ความยากมันอยู่ตรงที่ตอนที่ไม่ได้รู้สึกว่าเดือดร้อนมันจะไม่ทำสิ่งใหม่ ผมชื่นชมบางองค์กรที่ปรับตัวเอง สร้างสิ่งใหม่เสมอทั้งๆ ที่องค์กรยังเติบโตอยู่เสมอและยังไปต่อได้ดี ซึ่งในจังหวะที่องค์กรกำลังไปได้ดี คือ ช่วงที่ดีที่สุดในการสร้างนวัตกรรม เพราะเปรียบเทียบง่ายๆ อย่างสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจโลก การเมือง เป็นหนทางให้คนต้องดิ้นรนหาแนวทางใหม่ๆ เช่น ขายของออนไลน์มากขึ้น แต่นั่นเกิดจากความจำเป็น ยิ่งทำในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวมานี้จะเหนื่อยมาก เพราะความต้องการซื้อก็ไม่ค่อยมี หากจะสร้างนวัตกรรมในช่วงที่เดือดร้อนนั้น เงินที่จะเอาไปลงทุนกับ New Business จึงเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะต้องทำ คือ เราจะปลูกฝังอย่างไรให้คนในองค์กรมี Sense of urgency ที่อยากจะปรับเปลี่ยนองค์กรไปในทางที่ดีกว่าในช่วงเวลาที่องค์กรกำลังไปได้ดี ไม่ใช่แค่ในตอนที่เดือดร้อน ต้องทำรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติเปรียบเสมือนคนที่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน คอยกระตุ้นให้เห็นอยู่เสมอว่าหากเราสร้างนวัตกรรมในช่วงที่องค์กรกำลังไปได้ดีองค์กรจะเป็นอย่างไรและหากทำในช่วงเดือนร้อนองค์กรจะเป็นอย่างไร

หากต้องการคนในองค์กรมี Sense of urgency เรื่องการสื่อสารที่เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก จะสื่อสารอย่างไรให้คนที่ไม่เข้าใจนั้นเข้าใจว่า Sense of urgency นั้นจำเป็นอย่างไร อย่างทิปโก้ฟู้ดส์ก็มีการจัดทำโครงการ Start up ให้เด็กรุ่นใหม่มาทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงให้คนในองค์กรได้เห็นว่าเทคโนโลยีหรือไอเดียใหม่ๆ คนข้างนอกองค์กรเขาคิดกันไปถึงไหนแล้ว และให้นำมาปรับใช้กับในทิปโก้ฟู้ดส์ ผลิตภัณฑ์บางอย่างของทิปโก้ฟู้ดส์เองที่เราคิดว่ามันไม่สามารถต่อยอดอะไรได้อีกแล้ว พอได้หยิบมันมาร่วมทำ Workshop ด้วยก็ทำให้ได้เห็นว่ามันยังสามารถขายและต่อยอดมันอีกได้ เพียงแต่เราต้องคิดหาวิธีการ เห็นปัญหาและแก้ไขมัน แม้กระทั่งบางทีเราคัดเลือกเด็กจบใหม่เข้ามาเพื่อเป็นการเติมช่องว่างในเรื่องของ Generation ในที่ทำงานให้สามารถทำงานในทีมเดียวกันในเป้าหมายเดียวกันได้ ในบางทีมีสินค้าบางตัวที่เราผลิตสินค้าที่มีความเหมือนกันพร้อมกันกับอีกบริษัทหนึ่งในเครือของเรา มีคนถามว่าไม่เปลืองทรัพยากรในการผลิตหรืออย่างไร การทำแข่งกันเองเพื่อที่จะกระตุ้นทำให้เราเห็นสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ได้ด้วยอีกทาง

เราควรมองนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกรอบที่ชัดเจน บางที่เราคิดนอกกรอบได้แต่ต้องมีความระมัดระวังด้วย แต่สำหรับทิปโก้ฟู้ดส์คิดว่าการทำธุรกิจต้องมีทิศทางที่ชัดเจนหลายคนอาจจะใช้การมองเป้าหมายและวิสัยทัศน์ แต่ทิปโก้ฟู้ดส์ คือ วิสัยทัศน์มาก่อนเป้าหมาย ซึ่งคำว่า วิสัยทัศน์ของเราจะเปลี่ยนใช้คำว่าพันธกิจแทน เราใช้เวลาคิดอยู่นานพอสมควรจึงได้ข้อสรุปว่า ทิปโก้ฟู้ดส์เกิดมาเพื่อนำสุขสภาวะที่ดีสู่สังคม เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะสร้างให้มีนวัตกรรมได้จำเป็นต้องให้คนทุกคนช่วยกันคิด แล้วใช้กรอบที่ตั้งไว้นั้นเป็นตัวกำหนด นั่นก็คือ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อนำสุขสภาวะที่ดีสู่สังคม ตอนนี้ทิปโก้ฟู้ดส์ไม่ได้ผลิตแค่น้ำผลไม้เพียงอย่างเดียว เรามีทั้งการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพ ผลิตของบริโภคหรือเทคโนโลยีที่เรากำลังจะนำสู่ตลาดก็เพื่อสุขภาพ แน่นอนว่าหากเรามีพันธกิจและเป้าหมายที่ชัดเจน Sense of Urgency ก็จะเกิดเพราะเราทำกันอย่างจริงจังและไม่ใช่เรื่องที่รอได้ แต่ความยากที่จะตามมาอีกอย่าง คือ พอเราสร้างสิ่งใหม่ก็จะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแน่นอน จะมี 2 ช่วงหลักๆ คือ ช่วงที่ 1 คือ ช่วงที่เกิดไอเดียใหม่ๆ ซึ่งจะไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่เพราะคนกำลังตื่นเต้นกับไอเดียนั้น แต่พอเข้าในช่วงที่ 2 คือ พอทำไปสักพักแล้วมันไม่ได้ดีหรือไม่เป็นอย่างที่คิด นี่จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะต้องมาช่วยกันคิดว่าจะปรับเพื่อให้ไปต่อได้อย่างไร ซึ่งจะต้องอาศัยแรงจูงใจและการโค้ชมากพอสมควรในหารแก้ไขปัญหานั้น

นวัตกรรมสามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขันได้ โดยแบ่งนวัตกรรมออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) นวัตกรรมสินค้าใหม่ (New product) ข้อนี้เป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม ทิปโก้ฟู้ดส์ออกสินค้าใหม่แทบจะทุกเดือนหรือทุกไตรมาส ยิ่งอยู่ในธุรกิจที่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การผลิตสินค้าใหม่จึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จก็อาจจะไม่ได้มากอย่างที่คิด เช่น ผลิตออกไป 4 - 5 ตัว อาจจะประสบความสำเร็จแค่ 1 หรือ 2 ตัว

2) กระบวนการทำงานใหม่ (New process) ในแง่ของซัพพลายเชนหรือกระบวนการทำงาน ซึ่งต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในด้านกระบวนการทำงาน คือ การใช้ Software เข้ามาช่วยในการทำงานหรือประมวลผลกระบวนการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ อย่างช่วงโควิด-19 จะชัดเจนมาก เช่น เรื่องการประชุมแบบออนไลน์

3) ธุรกิจใหม่ (New business) จากที่ได้กล่าวว่าเรามีกรอบการทำงานชัดเจนแล้ว การมุ่งว่าเราจะทำธุรกิจใหม่อะไรได้บ้างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันที่ธุรกิจใหม่จะไปในด้านของเทคโนโลยี AI หรือ Digital เข้ามาประกอบ ซึ่งทำได้ในหลายมิติ เช่น การร่วมลงทุนหรือการติดต่อกับเจ้าของสินค้า เจ้าของเทคโนโลยีในธุรกิจใหม่ๆ อย่างทิปโก้ฟู้ดส์ตอนนี้ที่นอกเหนือจากน้ำดื่มบรรจุขวด ในปีนี้เราเริ่มทำน้ำดื่มที่ไม่ต้องใช้ภาชนะบรรจุกลั่นจากอากาศ เป็นเทคโนโลยีจากประเทศอิสราเอลที่เราเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งจะมาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือน้ำสะอาด และช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องภาชนะบรรจุ

หากผู้ประกอบการมีความสนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมในองค์กร สิ่งที่สำคัญของการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจ คือ ต้องเข้าใจโจทย์ก่อนว่าคืออะไร ผมเคยถามลูกน้องว่า ทำไมสินค้าบางตัวขายไม่ดี คำตอบที่ได้ คือ ของมันแพง สมมุติถ้าเราตั้งโจทย์ว่าของแพง เราต้องลดราคาใช่หรือไม่ถึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นโจทย์เราต้องคิดให้ดีก่อนว่าปัญหาคืออะไร ถ้าของแพง วิธีแก้วิธีเดียว คือ ลดราคา แต่ถ้าเรามองโจทย์ว่าสินค้ามันไม่คุ้มที่จะซื้อ แสดงว่าของเราไม่ได้แพง แต่ลูกค้าแค่รู้สึกไม่เห็นคุณค่าที่จะซื้อไปเพื่ออะไร ถ้าตั้งโจทย์เช่นนี้วิธีแก้ปัญหาก็จะคิดได้หลายทางกว่า นอกจากต้องตั้งโจทย์ให้เป็นแล้ว เราต้องเป็นคนช่างสังเกตด้วยว่าลูกค้าหรือตัวเราเองในแง่ของนวัตกรรมหรือกระบวนการทำงานภายใน ปัญหาคืออะไร เพราะถ้ามองปัญหาออก ที่เหลือเราจะสามารถคิดวิธีการแก้ไขได้อีกหลายทาง แค่ในบางทีเรามองโจทย์ผิดไปเท่านั้นเอง คำถามสำคัญกว่าคำตอบเสมอ โจทย์สำคัญกว่าการแก้ปัญหาเสมอ บางทีเราคิดแต่วิธีการแก้ซึ่งไม่ผิด แต่เราสามารถแยกแยะโจทย์ได้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไรเพราะถ้าไม่รู้ปัญหาจริงๆ ก็จะไม่สามารถรู้ว่าจะต้องก้าวหน้าไปทางไหนที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ได้

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมเป็นสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรด้วยการให้คำปรึกษาและพัฒนาบุคลากร เพื่อที่จะพัฒนาและบริหารนวัตกรรมในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน สำหรับผู้สนใจองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://steco.kmutt.ac.th หรือหากสนใจรับชม STECO Online Forum ย้อนหลัง สามารถรับชมผ่าน YouTube ค้นหาคำว่า STECO KMUTT


กำลังโหลดความคิดเห็น