กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
น้ำแร่ถือเป็นสินค้าพรีเมียมที่เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ เนื่องจากมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย และด้วยราคาที่ไม่กำหนดตายตัว แตกต่างจากน้ำดื่มที่เป็นสินค้าควบคุมราคา ทำให้มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก
ปัจจุบัน ตลาดน้ำแร่ในไทยมีมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งผลิตน้ำแร่ที่ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ ตาก นครราชสีมา เลย สุราษฎร์ธานี และระนอง แต่พบว่าเจ้าตลาดมีเพียง 3-4 แบรนด์หลัก
ตัวอย่างเช่น มิเนเร่ ของค่ายเนสท์เล่ จากแหล่งโพธิ์สามต้น จ.พระนครศรีอยุธยา, เพอร์รา ของค่ายสิงห์ จากแหล่งพระงาม จ.สิงห์บุรี, ออร่า ของค่ายทิปโก้ จากแหล่งแม่ริม จ.เชียงใหม่, มองต์เฟลอ ของค่ายสหพัฒน์ จากแหล่งพบพระ จ.ตาก
ถึงกระนั้น ยังมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย ต่างเข้ามาผลิตน้ำแร่เพื่อเจาะตลาดคนรักสุขภาพเช่นกัน ทั้งในรูปแบบของการสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับร้านค้าปลีกชั้นนำ หรือผู้ประกอบการรายอื่น
ที่ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต จะเห็นน้ำแร่ยี่ห้อหนึ่งที่ชื่อว่า “อิโต้” (ETO) วางตลาดมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ท่ามกลางน้ำแร่ยี่ห้อชั้นนำในตลาดวางจำหน่าย ทั้งแบบขวดและแบบแพ็คด้วย ขนาดที่แตกต่างกัน
ข้างขวดระบุว่า “น้ำแร่ธรรมชาติบริสุทธิ์จากการขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดินท่ามกลางเทือกเขาสูงเขาใหญ่ แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เขาอิโต้และเขาชีปิด บรรจุขวดทันที ณ แหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด และปลอดภัย”
เมื่อดูจากสถานที่ผลิต พบว่าผลิตโดย บริษัท อิโต้-ห้วยเกษียร วัลเลย์ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ 11 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยความสนใจจึงค้นหาข้อมูลเพิ่ม พบว่าอยู่ใกล้กับเขาอิโต้ ห่างจากถนนสุวรรณศรราว 2.5 กิโลเมตร
เขาอิโต้ เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นภูเขาลูกนี้มีความคล้ายกับมีดอีโต้ เป็นส่วนหนึ่งของเขาใหญ่ ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก มีอ่างเก็บน้ำ น้ำตก และสวนป่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติสำหรับประชาชนทั่วไป
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท อิโต้-ห้วยเกษียร วัลเลย์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท วัตถุประสงค์ การผลิตน้ำดื่มบริสุทธิ์และน้ำแร่บรรจุขวด มีนางพรทิพย์ ห่านตระกูล นางสาวพิมพ์ชีวิน ห่านตระกูล และนางสาวนพวรรณ สังข์สุวรรณ เป็นกรรมการบริษัท
นางพรทิพย์ เป็นภรรยาของ นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อดีตอธิบดีกรมที่ดิน ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ
โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 สมเด็จพระวันรัตน เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นประธานเปิดอาคารสำนักงาน โรงงานบรรจุน้ำแร่อิโต้ ที่ “สวนบ้านนายห่าน” บ้านหนองปื๊ด ของนายศิริพงษ์นั่นเอง
เมื่อย้อนประวัตินายศิริพงษ์ พบว่า เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2498 จบปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี 2516-2519) และจบปริญญาโท MPA American International College รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
เริ่มต้นการทำงานปลัดอำเภอเมื่อเดือนมกราคม 2522 ก่อนจะขึ้นเป็นนายอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ปี 2535, นายอำเภอรัตนบุรี ปี 2540, หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2541
ผู้อำนวยการส่วนนโยบายเศรษฐกิจและสังคม สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย ปี 2542, ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง (ปี 2544) และได้ขึ้นเป็นข้าราชการระดับ 9 ในเดือนกันยายน 2544
ก่อนจะเป็นปลัดจังหวัดนครสวรรค์ ปี 2547, รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปี 2548, รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ปี 2550, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ปี 2551 กระทั่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี 2552
ดำรงตำแหน่งประมาณ 2 ปีเศษ ย้ายเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 5 และ 7 (ระดับ 10) ในปี 2555 จากนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556
แต่หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง มีคำสั่งย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 และเกษียณอายุราชการในปี 2558
หลังเกษียณอายุราชการ นายศิริพงษ์เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปี 2561 แต่ไม่ได้รับเลือก ก่อนที่จะเงียบหายไป กระทั่งมาพบว่า ได้เปิดกิจการโรงงานบรรจุน้ำแร่ธรรมชาติ ที่จังหวัดปราจีนบุรี
ในวีดีโอคลิปพรีเซนเทชันของบริษัทฯ นายศิริพงษ์บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของ “น้ำแร่อิโต้” ไว้อย่างน่าสนใจ
สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี มีคนมาเสนอขายที่ดินให้ 32 ไร่ สภาพรกร้างว่างเปล่า เป็นดินแดง เพราะถูกขุดหน้าดินไปขายหมดแล้ว แต่มีถนนลูกรังผ่านที่ดิน มี "คลองห้วยเกษียร" ไหลผ่าน และมีตาน้ำธรรมชาติในที่ดิน
จึงตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ คิดว่าวันข้างหน้าเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว จะสร้างบ้านอยู่ ทำสวนผลไม้ ทำมาหากินบ้าง พักผ่อนยามแก่ชราบ้าง ระหว่างนั้นได้ขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างและทำสวน
พบว่าน้ำบาดาลที่ได้มีความใส ดื่มแล้วอร่อย พอส่งตรวจที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ผลออกมาเป็นน้ำแร่ ทีแรกไม่เชื่อ จึงได้ขุดเจาะอีกบ่อหนึ่ง ห่างจากบ่อแรก 100 เมตร ผลก็คือเป็นน้ำแร่เหมือนเดิม
มาถึงปี 2558 เริ่มคิดว่าหลังเกษียณอายุราชการจะทำอะไรกินดี เพราะเงินบำนาญคงไม่พอใช้ จึงได้ขุดเจาะบ่อบาดาลลึกขึ้น ซึ่งทางราชการอนุญาตให้ขุดเจาะได้ โดยความลึกต้องไม่เกิน 120 เมตร
บ่อแรก ความลึก 105 เมตร ส่งไปตรวจพบว่าเป็นน้ำแร่เหมือนเดิม ได้น้ำ 12 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง อีกบ่อหนึ่ง ความลึก 112 เมตร ห่างจากบ่อเดิม 80 เมตร ได้น้ำ 22 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
เมื่อส่งไปตรวจ 3-4 ครั้ง พบว่ามีแร่ธาตุที่สมบูรณ์ มีค่าความเป็นกรดด่างที่ 7.4 และเมื่อดูจากทำเลที่ดิน ฝั่งหนึ่งคือเทือกเขาอิโต้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นเขาชีปิด และมีห้วยเกษียรไหลผ่าน ชาวบ้านมีอาชีพเพาะต้นไม้ขาย ไม่ได้ใช้เคมีใดๆ ทั้งสิ้น
อีกทั้งไม่มีฟาร์มปศุสัตว์ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีสิ่งเจือปนใดๆ ทั้งสิ้น จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทฯ และก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำแร่ ขนาด 1,600 ตารางเมตร
สำหรับขั้นตอนการผลิต เริ่มจากสูบน้ำบาดาลจากใต้ดิน กรองสารแขวนลอย สารตกตะกอน แร่ธาตุที่เป็นสนิม พักไว้แล้วเติมอากาศเข้าไป พักอีกครั้งก่อนผ่านกระบวนการกรองแบบ Ultra-filtration อย่างละเอียด แต่ยังคงแร่ธาตุเดิมทุกประการ
ก่อนบรรจุด้วยเครื่องระบบปิดอัตโนมัติ 3 ขั้นตอน ในห้องบรรจุสูญญากาศ ผ่านกระบวนการตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทุกประการ ทั้งโรงงานและน้ำแร่ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ส่วนแนวทางการตลาดนั้น จะส่งเสริมการดื่มน้ำแร่อย่างแพร่หลาย จำหน่ายในราคาที่ยอมรับได้ ไม่แพงเกินไป และนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับคืนให้สังคม เช่น ให้นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากไร้ ผู้ป่วย ผู้พิการ
โดยมีเป้าหมายวางจำหน่ายในพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด ขยายไปทุกภูมิภาค และจะเข้าไปสู่โมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ตัวแทนจำหน่ายต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายที่ต่างประเทศ เช่น เมียนมา ภายใน 3 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน น้ำแร่อิโต้จำหน่าย 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 550 มิลลิลิตร และ 1,250 มิลลิลิตร (1.25 ลิตร) ช่องทางหลักได้แก่ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านแมกซ์มาร์ท (Max Mart) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีทั่วประเทศ
จากที่ได้รับรู้เรื่องราวมาทั้งหมด มีความรู้สึกว่า เป็นความโชคดีของอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ที่หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ยังมี “ทรัพย์ในดิน” ที่สร้างงานสร้างรายได้แก่ครอบครัว ไปถึงลูกหลานอย่างยั่งยืน
เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ขยันทำงาน เก็บเงิน แล้วกลับไปพลิกฟื้นชีวิตที่มีความสุขในอนาคต.