xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พลิกปูม “สวนสัตว์สงขลา” “เก้งเผือกพระราชทาน” ที่หายไป กับปริศนาเหตุฆาตกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทาน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ลวงลับพรางคดีฆาตกรรมในสวนสัตว์สงขลา กลายเป็นชนวนขัดแย้งรุนแรงลุกลามขยายรอยร้าวสู่การก่อเหตุสังหาร “ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ” ก่อนที่  “น.สพ. หัวหน้าฯ สวนสัตว์สงขลา”  ผู้ก่อเหตุ จะตัดสินใจปลิดชีพตัวเองลง

ไม่เพียงข้อขัดแย้งกรณีการหายไปอย่างเป็นปริศนาของ “เก้งเผือกพระราชทาน” เบื้องหลังทิ้งร่องรอยขบวนการลักลอบค้าสัตว์ในสวนสัตว์ สู่การรื้อคดีสัตว์ในสวนต์หาย ทั้งกรณีนกแก้วมาคอร์ 13 ตัวที่ถูกคนนอกลอบนำออกไป และกรณีขโมยนอแรดของคนใน

-1-
เป็นข่าวครึกโครมสำหรับคดีฆาตกรรม “นายสุริยา แสงพงค์” ผู้อำนายการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พบร่างถูกกระหน่ำยิงหลายสิบนัด ขณะลงพื้นที่ปฏิบัติงานติดตามตรวจสอบ กรณีลูกเก้งเผือก สายพันธุ์พระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่จัดแสดงอยู่ที่สวนสัตว์สงขลาหายไปอย่างปริศนา

ภายหลังทราบว่าผู้ก่อเหตุยิงคือ “น.สพ. ภูวดล สุวรรณะ”  สัตวแพทย์หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา ซึ่งเกิดปมขัดแย้งเหตุดังกล่าว กระทั่ง ถูกสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่นชั่วคราว และพบว่าผู้ก่อเหตุยิงตัวเองเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เบื้องลึกปมความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ เรื่อง “คำสั่งย้าย” กรณีเก้งเผือกพระราชทานเป็นแค่ปลายเหตุ และไม่ใช่แค่บันดาลโทสะซึ่งหน้าเท่านั้น ชนวนความขัดแย้งก่อตัวชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2561 “น.สพ. ภูวดล สุวรรณะ” เคลื่อนไหวในนาม “องค์กรสวนสัตว์ก่อการดี” ยื่นหนังสือร้องเรียน “ผอ. สุริยา แสงพงค์” เรื่องส่อทุจริตและประพฤติมิชอบรวมกว่า 21 เรื่อง

เช่น สร้างส่วนแสดงช้างว่ายน้ำ โดยไม่ศึกษาเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ เรื่องสัตว์มีค่าสูญหายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวจำนวนมาก เช่น ลูกเสือจากัวร์ แพนด้าแดง ร่วมมือกับคนนอกในขบวนการโจรกรรมเต่าหายากราคาแพง จากศูนย์อนุรักษ์นกน้ำ เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนที่ ผอ.สุริยา เป็นเจ้าของในทางลับ รวมทั้ง อีกหลายบริษัทที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ รับเหมางานต่างๆ และกลั่นแกล้งบริษัทซื้อขายสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกพ้อง ประเด็นลงทุนประมูลรถเที่ยวในสวนสัตว์สงขลา

โดยการร้องเรียนในสมัยนั้น นายสุริยา แสงพงค์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว มีการสั่งการพนักงานของสวนสัตว์ ให้ฆ่ากระทิงลูกผสมในสวนสัตว์เพื่อขายเนื้อ สั่งให้คลังอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยผลิตอาหารสัตว์ ให้ยกเลิกการเพาะเลี้ยงสัตว์เหยื่อทั้งหมด เช่น หนอนเลี้ยงนก หนู จิ้งหรีด ไส้เดือน เป็นต้น แล้วให้พนักงานคนสนิทของตน ซึ่งตนเองได้ลงทุนการผลิตสัตว์เหยื่อให้ผลิตมาส่ง โดยคิดราคาแพงๆ และแบ่งเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยให้พนักงานคนสนิท เรื่องการเรียกรับเงินบรรจุเข้าทำงานสวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ้างว่าเป็นเครือญาติ

นอกจากนี้ ยังต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าสัตว์ป่า โดยร่วมมือกับสวนสัตว์เอกชนในการซื้อขายสัตว์จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เช่น เสือโคร่ง หมีควาย รวมไปถึงการเอื้อประโยชน์แก่ครอบครัว และเครือญาติที่มาหาผลประโยชน์กับทางสวนสัตว์ และนำรถสวนสัตว์ไปใช้ส่วนตัว

ในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ไม่อาจตีธงได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หรือมีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ เป็นเรื่องของกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายให้ “บอร์ดองค์การสวนสัตว์” ตั้งคณะกรรมการ “คนนอก” สอบข้อเท็จจริงกรณีลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานหายอย่างปริศนา และตรวจสอบสวนสัตว์ในสังกัดทั้งหมดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าหรือไม่

ส่วนในเรื่องคดีฆาตกรรมเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งความคืบหน้าด้านการสืบสวนมุ่งประเด็นหลักที่ต้องเร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง 5 เรื่อง 1.การบริหารงานภายในของสวนสัตว์ 2.การหายไปของสัตว์ป่าทั้งเก้งเผือก นอแรดเผือก และนกแก้วมาคอว์ 3.การโยกย้าย น.สพ.ภูวดล สุวรรณะ 4. ความขัดแย้งภายในสวนสัตว์สงขลา และ 5.ความเชื่อมโยงขบวนการค้าสัตว์ป่า

นายสุริยา แสงพงศ์ ผู้อำนายการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


-2-
กล่าวสำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกเก้งเผอก พระราชทานที่หายไป ชื่อว่า “คุณภูมิ” กับ “คุณภาค”  ตัวแรกหายไปภายในเดือน ก.พ. 2563 พบซากกระดูกเดือน เม.ย. ส่วนตัวที่ 2 หายไปในวันที่ 22 ก.ย. 2563 ซึ่งชัดเจนว่าถูกงูเหลือมกิน ขณะที่เหลือเก้งเผือกเพียงตัวเดียว คือ  “คุณมูมู่”  ยังคงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีภายในสวนสัตว์สงขลา ไม่จำเป็นต้องย้ายไปไว้ที่สวนสัตว์อื่น

ที่น่าสังเกตุคือข้อสรุปของหายไปของลูกเก้งเผือกตัวแรก เดิมทีแจ้งสูญหายแต่ภายหลังมีการอ้างหลักฐานว่าอาจจะถูกงูเหลือมกิน เช่นเดียวกันกับลูกเก้งเผือกตัวที่ 2 ซึ่งซากอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นเก้งเผือกจริง ในส่วนนี้เป็นไปได้หรือไม่ อาจมีความพยายามในการปกปิดหลักฐาน เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมาย
ปัญหาใหญ่กรณีสัตว์สูญหาย คือสวนสัตว์ต่างๆ ไม่มีการแจ้งข้อมูลไปยังองค์การสวนสัตว์ในส่วนกลาง ทั้งที่ระบุชัดในระเบียบปฏิบัติต้องรายงานสรุปจำนวนประชากรสัตว์ ทั้ง เกิด ป่วย และตาย ให้องค์การสวนสัตว์ฯ ทราบเป็นประจำทุกเดือน

ต่อมา มีข้อมูลเผยว่าเกิดปัญหาด้านการสื่อสารไม่มีการรายงานต่อเบื้องบนทันที จึงกลายเป็นเรื่องบานปลาย ซึ่งมีข้อชี้แจงว่าจะรายงานตามรอบเดือนตามระเบียบ เป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่าเก้งเผือกพระราชทานหายซ้ำซ้อน

 นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า บอร์ดองค์การสวนสัตว์ฯ ได้ตั้ง  นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการองค์การสวนสัตว์ เป็นรักษาการ ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อเร่งแก้ปัญหาจัดทำบัญชีสัตว์อย่างละเอียดป้องกันการหาซากสัตว์อื่นมาสวม อุดช่องโหว่ขบวนการค้าสัตว์ป่า ดำเนินการเรื่องความโปร่งใส การแสดงบัญชีสัตว์ สถิติการตาย การเกิด การดูแลของทุกสวนสัตว์ให้สังคมสามารถเข้าถึงตรวจสอบได้จากทางออนไลน์

นอกจากนี้ บอร์ดองค์การสวนสัตว์ฯ ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบสวนสัตว์ในสังกัดทั่วประเทศ เชื่อมโยงแก๊งค์ค้าสัตว์ป่าหรือไม่ รวมทั้งดำเนินการกำจัดจุดอ่อนเกี่ยวกับการบริหารงานในองค์การสวนสัตว์ฯ โดยเฉพาะการรายงานประชากรสัตว์ ต้องสืบค้นได้อย่างชัดเจน แบ่งสัตว์แต่ละประเภทอยู่ในบัญชี 1, 2 และ 3 แบ่งตามคุณค่าของสัตว์ เช่น จำนวนประชากรสัตว์ ความหายากเป็นสัตว์พิเศษ หากเกิดการตายหรือสูญหายจะต้องมีความเร่งด่วนในการรายงาน อีกทั้งยังเพื่อป้องกันการหาช่องว่างในการหาซากสัตว์อื่นมาสวมแทนด้วย

“สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ถูกเชื่อมโยงว่าสวนสัตว์เป็นแหล่งค้าสัตว์ป่าหรือไม่ มีการอาศัยช่องว่างต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่สวนสัตว์หาประโยชน์จากตรงนี้หรือไม่ ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ได้คัดสรรผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเพื่อความโปร่งใส ในส่วนของบอร์ดฯ ได้ส่ง รศ.เจษฎ์ โทณวณิก กรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ เข้าเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 6 คน เพื่อตรวจสอบว่ามีขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าในสวนสัตว์หรือไม่ ไม่ใช่แค่สวนสัตว์สงขลา แต่เป็นทุกสวนสัตว์ในสังกัดองค์การสวนสัตว์ฯ ทั่วประเทศเลย รวมทั้งเรื่องเก้งเผือกตัวที่ 1 ด้วยว่าหายไปจากสาเหตุใด” นายชวลิต ชูขจร ประธานบอร์ดองค์การสวนสัตว์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามกันว่าการขยายผลในประเด็นสัตว์ในสวนสัตว์สูญหาย เชื่อมโยงกับขบวนการค้าสัตว์ป่าหรือไม่ เพราะไม่เพียงการหายไปอย่างปริศนาของเก้งพระราชทานที่เป็นปัญหาล่าสุด ย้อนกลับไปปี 2557 นกแก้วมาคอร์หายไป 13 ตัว มูลค่า 700,000 บาท และปี 2561 เกิดการขโมยนอแรดโดยเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เอง ทั้งสองประเด็นได้รับการชี้แจ้งว่า นกแก้วถูกขโมยจริงและดำเนินคดีแล้ว ได้นกคืนมา 2 ตัว ยืนยันว่าผู้กระทำผิดเป็นคนนอกสวนสัตว์ ส่วนกรณีขโมยนอแรด แรดตายโดยธรรมชาติ เมื่อชันสูตรเสร็จทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตัดนอไว้ แต่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลา 1 คน ได้ไปขอรับกลับโดยไม่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นการทุจริต ทั้งนี้ ได้แจ้งความดำเนินคดีและไล่ออกแล้ว ส่วนบัญชีสัตว์ชนิดอื่นๆ ไม่พบความผิดปกติ

เบื้องหลังกรณีสัตว์หายไปจากสัตว์มีข้อมูลให้น้ำหนักในเรื่องขบวนการลักลอบค้าสัตว์ ในประเด็นนี้  “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบหาสาเหตุให้ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมโดยเฉพะเก้งเผือกที่หายไป 2 ตัว ตัวหนึ่งพบซากกระดูกต้องตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ และตัวที่ 2 ว่าถูกงูเหลือมกิน ต้องมาดูข้อมูลกันว่าทำไมถึงถูกกิน เพราะเก้งเชื่องเกินไปหรือเปล่า ทำไมตัวสีอื่นไม่กิน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพย์ฯ เร่งติดตามขยายผลเกี่ยวกับขบวนการลักลอบสัตว์ป่า รวมทั้ง กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องรักษาทรัพยากรโดยเฉพาะเก้งเผือกไว้ให้ได้ เพราะขณะนี้เหลืออยู่เพียงตัวเดียว จากนี้ไปเป็นบทเรียนให้กับทุกองค์กรให้เอาใจใส่ดูแลสิ่งต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น การสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนที่ต้องดูแลทั้งคุณภาพชีวิตทั้งคนและสัตว์

-3-
ขบวนการค้าสัตว์ป่าภายในสวนสัตว์เป็นปัญหามานาน  นายดำรงค์ พิเดช  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ. )การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อครั้งที่ยังรับราชการในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทราบมาว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในสวนสัตว์ของรัฐบางแห่งมีพฤติกรรมลักลอบนำสัตว์ป่าและสัตว์สงวนส่งขายต่างประเทศ แต่ไม่สามารถจับกุมได้เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดว่าใครบ้างที่กระทำความผิด

โดยพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์กลุ่มนี้ เมื่อสัตว์เกิดมาโดยเฉพาะสัตว์แปลกๆ หรือสัตว์หายาก เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยแจ้งเกิด แต่จะนำส่งขายยังต่างประเทศทันที เมื่อเวลาผ่านไปจึงค่อยแจ้งสวนสัตว์ อ้างว่าสัตว์เกิดมาแล้วตาย หรือถูกสัตว์ชนิดอื่นกินบ้าง แน่นอนว่า ที่ผ่านมามีจำนวนน้อยมากที่ตรวจสอบได้ว่าสัตว์ในสวนสัตว์ตายจากสาเหตุใดบ้าง

อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยต่อไปว่าขบวนการค้าสัตว์ป่าภายในสวนสัตว์มีเจ้าหน้าที่ระดับเหนือกว่าระดับปฏิบัติการรู้เห็นเป็นใจ โดยเฉพาะสัตว์หายากไปขายมักลักลอบไปขายเนื่องจากราคาดี ค่าตอบแทนของสัตว์หายากไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อตัว อีกทั้ง การขนส่งไม่ใช่เรื่องยากเพียงนำใส่กล่องเจาะรู ส่งลงเรือไปต่างประเทศเป็นอันเรียบร้อย ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องบังคับให้มีการตรวจดีเอ็นเอสัตว์เกิดใหม่ทุกตัว เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้หากมีการสูญหายหรือถูกลักลอบนำไปขายต่อ

งานวิจัยเรื่อง  “สถานการณ์สัตว์ป่าไทย : การค้าขายสัตว์ป่า สวนสัตว์ และเขตอนุรักษ์ : ปัญหา ทางออก และโจทย์วิจัย” จัดทำโดย คณะนักวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการศึกษาคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปี 2550 2551 ระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มสถานการณ์ของสัตว์ป่าไทยถูกคุกคามมากขึ้น แม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตลอดจนค่านิยมใหม่ๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา เลี้ยงเป็นแฟชั่น ยังมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้มีการนำเข้าสัตว์แปลกๆ จากต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ มีการเติบโตของตลาด การซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

จะเห็นว่าสถานการณ์ค้าสัตว์เมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่ต่างไปจากปัจจุบันเท่าใดนัก ยังมีขบวนการลักลอบค้าสัตว์โดยเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงเวลาสังคายนาระบบสวนสัตว์ที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์การสวนสัตว์ ป้องกันคนฉ้อฉลแสวงหาผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ เอื้อประโยชน์ต่อขบวนการค้าสัตว์

 ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสวนสัตว์อยู่ในความดูแลทั้งหมด 8 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์ดุสิต, สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์นครราชสีมา, สวนสัตว์สงขลา, สวนสัตว์อุบลราชธานี, สวนสัตว์ขอนแก่น และโครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ 

ในส่วนงบประมาณขององค์การสวนสัตว์ ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวนไม่น้อยทีเดียว ปีงบประมาณ 2563 ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 876 ล้านบาท ขณะที่ ปีงบประมาณ2564 ตั้งรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 829 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเงินนอกงบประมาณคือส่วนของเงินรายได้ โดยคาดว่ารายได้จากการให้บริการสวนสัตว์ทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 325 ล้านบาท ขณะที่ ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 338 ล้านบาท มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีงบประมาณ

หนึ่งในภารกิจสำคัญขององค์การสวนสัตว์ที่ คือ งานเพาะพันธุ์สัตว์ซึ่งมีการกำหนดนิยามไว้ในกฎหมายว่า ขยายพันธุ์สัตว์ที่นำมาเลี้ยงไว้โดยวิธีผสมพันธุ์สัตว์ และหมายความรวมถึงขยายพันธุ์สัตว์โดยวิธีผสมเทียม หรือการย้ายฝากตัวอ่อน หรือโดยวิธีการอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ทำให้การเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเกี่ยวพันธ์กับเรื่องผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์เป็นที่ต้องการของบรรดานักสะสมสัตว์ และสัตว์เหล่านี้มีราคาค่างวดสูง

อาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจค้าสัตว์ป่าเป็นอาชญากรรมที่มีความเสี่ยงต่ำแต่มีค่าตอบแทนสูง และสวนสัตว์กลายเป็นตัวกลางในการจัดแสดง เกิดช่องโหว่ทำให้เกิดขบวนการจัดหาสัตว์ป่าสัตว์แปลกไปขายในตลาดมืด

ดังเช่นที่ นายเพชร มโนปวิตร นักวิชาการอิสระด้านการอนุรักษ์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าสวนสัตว์เป็นสถานที่ที่มีความต้องการสัตว์ป่ามาจัดแสดง ขณะเดียวกันกลายเป็นช่องทางของขบวนการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่า ทุกครั้งที่สัตว์เกิดหรือตาย จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาหาผลประโยชน์ หากสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดนั้นๆ เป็นที่ความต้องการ มีมูลค่าสูง กำไรได้ดี ยิ่งคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของระบบสวนสัตว์ ทั้งเรื่องการจัดการประชากรสัตว์ และคุณภาพชีวิตบุคคลากร นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องปฎิรูปโดยด่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น