xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรับเงิน เสี่ยงรับโรค...

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์



การระบาดของโคโรนาไวรัสทั่วโลกยังไม่ลดลงจนอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ มียอดผู้ติดเชื้อรวมแล้วกว่า 35 ล้านราย คนเสียชีวิตมากกว่า 1 ล้าน วัคซีนและยารักษายังอยู่ในระหว่างการทดลอง ล่าสุดมีผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ทดลองใช้เยียวยาอยู่

ยังต้องใช้เวลาอีกหลายวัน กว่าจะรู้ผลชัดว่า ทรัมป์จะหายจากไวรัสตัวร้าย ซึ่งทำให้คนอเมริกันติดเชื้อกว่า 7.5 ล้านราย คนตายกว่า 1.01 รายแล้ว หลายประเทศในยุโรปตะวันตก รวมทั้งรัสเซีย มีการระบาดระลอก 2 ส่งผลกระทบรอบใหม่

ประเทศไทยดูเหมือนไม่หวั่น เพราะที่ผ่านมามั่นใจว่าเอาอยู่ ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ว่าเป็น 1 ในปฐพีในการตั้งรับกับการระบาด นั่นเป็นเพราะมีระบบสาธารณสุขและบุคลากรการแพทย์เยี่ยม

ด้วยเหตุนี้ฝ่ายบริหาร การเมืองพยายามหางานให้ภาคสาธารณสุขทำเสมอ ที่ผ่านมาก็รับคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ และมีคนต่างชาติเข้ามาด้วยเหตุต่างๆ ทำให้มีคนติดเชื้อช่วงการกักตัว แทบทุกวัน เป็นภาระต่อเนื่องสำหรับแพทย์

ภาคการเมืองก็คุยฟุ้งเรื่องความสำเร็จในการจัดการกับโรคระบาด ทั้งๆ ที่ไม่ได้ส่งเสริมงบประมาณอย่างเต็มที่เหมือนกัน การทุ่มเงินเพื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในจำนวนเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท รัฐบาลเจียดให้ภาคสาธารณสุขเพียง 4 หมื่นล้าน

เทียบกับยอดรวมแล้ว ถือว่าเป็นเศษเงินเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงอยู่รอดของประเทศโดยรวม และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน

ด้วยความมั่นใจ และอยากหาเงินรายได้ ภาคการเมืองร่ำๆ ขอเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจภายใต้เงื่อนไขพิเศษเพื่อหารายได้ ทั้งคุมเข้ม คัดสรรผู้มีสิทธิเดินทางเข้ามา โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว นักลงทุนกระเป๋าหนัก

เป็นการเล็งผลเลิศหรือสะท้อนให้เห็นสภาวะจนแต้ม หิวเงิน หรือเหตุอื่นๆ ที่จะหารายได้เข้าประเทศ โดยต้องดูว่าเหตุผลและความจำเป็นแท้จริงคืออะไรกันแน่

ก่อนหน้านี้มีเสียงเตือนซ้ำซากจากฝ่ายแพทย์เสมอว่าประชาชนต้องระวังอย่าการ์ดตกเพราะยังมีความเสี่ยงกับการระบาดระลอกใหม่ ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัย ทิ้งระยะห่างทางสังคม และหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

โดยทั่วไปแล้วมาตรการที่ว่านี้ไม่เข้มงวดเหมือนแต่ก่อน เป็นเพราะไม่มีการระบาดในประเทศมีแต่กลุ่มคนไทยและคนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ และติดเชื้อช่วงการกักตัวมีจำนวนไม่มากก็จริง แต่เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์

เป็นความสิ้นเปลืองงบประมาณ ภาระของประเทศ ทำให้ความเสี่ยงยังมีอยู่สูง

ความหิวกระหายเงินจากนักท่องเที่ยว นักลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่าจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ ดูแล้วถึงอย่างไรก็ไม่คุ้ม ถ้าเกิดพลาดพลั้ง มีการระบาดของเชื้อโรครอบใหม่ ต้องฟื้นมาตรการคุมเข้มในพื้นที่มีปัญหา

นั่นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศซึ่งอยู่ในสภาวะถดถอย ชาวบ้านเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน

ความโหยหิวเงินนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุนเป็นที่เข้าใจได้เพราะประเทศไทยเคยพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกและเงินนักท่องเที่ยวซึ่งเข้ามาในประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สร้างรายได้มหาศาล คนมีงานทำในภาคบริการมาก

เมื่อรายได้จากการส่งออกลดลง จนอยู่ในขั้นติดลบ นักท่องเที่ยวที่เคยมาเกือบ 40 ล้านคนต่อปีหายหน้าจนแทบไม่เหลือ จึงเป็นการสูญเสียรายได้มหาศาล เสนาบดีผู้รับผิดชอบงานท่องเที่ยวต้องดิ้นรนหาผลงาน ด้วยการเร่งหารายได้

มีการกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักระยะยาว ตรวจคุมเข้มและกักตัว 14 วันตามมาตรฐาน แต่ไม่มีใครหรือมาตรการอะไรรับประกันว่าการควบคุมเช่นนี้จะไม่เกิดความผิดพลาด และถ้ามีใครจะรับผิดชอบและทำอย่างไร

ซ้ำร้ายความหิวเงินจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศยังมีคนหน้ามืด กล้าเสนอว่าระยะการกักตัวควบคุมคนในกลุ่มพิเศษอาจจะเป็นเพียงแค่ 7 วันเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยยอมผ่อนปรนมาตรการควบคุมอำนวยความสะดวก

สภาวะการหิวเงินนักท่องเที่ยวและนักลงทุนสะท้อนให้เห็นความยากลำบากของรัฐบาลในการหารายได้ จนต้องนำพาประเทศและประชาชนเข้าสู่ภาวะเสี่ยงด้วยความจำเป็นจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตายซากมานานและการบริหารที่ล้มเหลว

ซ้ำร้ายมาถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโคโรนาไวรัส แต่ยังดีสามารถควบคุมได้

การดำเนินนโยบายเปิดประเทศเช่นนี้ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งส่วนน้อยจะได้รับผลประโยชน์จากเงินของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ถ้าเกิดการระบาดต้องมีการคุมเข้ม เงินที่ได้ไม่พอเมื่อเทียบกับงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายกับการเยียวยาและฟื้นฟู

ทุกวันนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องเงินที่ต้องใช้จ่าย ต้องกู้กว่า 6 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 เงินจ่ายสำหรับเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยสำหรับบางหน่วยในการรับมือกับศึกโควิด-19 ระลอกแรกล่าช้า แม้งานได้ผ่านไปแล้ว ถ้ามีรอบใหม่จะทำอย่างไร

มีเสียงเตือนจากแพทย์แล้วว่าเดือนหน้าเสี่ยงกับการระบาด ถ้ายังปล่อยให้คนเข้ามาในประเทศต่อเนื่อง เพราะเจ้าของงานไม่ได้รับภาระร่วมกับกลุ่มแพทย์ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แม้กระทั่งการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ชุดป้องกัน หน้ากาก ฯลฯ

ไม่มีใครรับปากว่าจะตากหน้ารับผิดชอบ มีแต่อยากเอาหน้า เสนอโครงการ มีตัวอย่างให้เห็นหลายประเทศ ก็ยังทำตัวเป็นคนไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา


กำลังโหลดความคิดเห็น