xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

MADE IN THAILAND วาระแห่งชาติTHAI FIRST พยุงเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) [ภาพซ้าย] | อุตสาหกรรมเหล็กคือเรือธงในการส่งเสริมสินค้า Made in Thailand
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “โครงการ Made in Thailand” ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน หันมาให้การสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พยายามขับเคลื่อนมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2558

สาระสำคัญของข้อเสนอสนับสนุนสินค้า Made in Thailand เป็น  “วาระแห่งชาติ” ต้องการยกระดับเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทยแบบยั่งยืนในอนาคต

การสนับสนุนสินค้าไทย Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ มีความคืบหน้าตามลำดับ ที่ผ่านมา ส.อ.ท. มอบหมายให้  “ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเลิศ (ไออีซี)” ทำหน้าเป็นศูนย์ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าไทย พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลคุณลักษณะสินค้า ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลฐานข้อมูลกลางสินค้าแห่งชาติ (National Product Catalog) กับข้อมูลคลังสินค้า E - Catalog ภายใต้ระบบ E - Market ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบการจัดซื้อหลักของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดของประเทศ

ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้ผลิตในประเทศไทยรายใดบ้าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการเลือกสินค้าของหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสในการจัดซื้อ รวมถึงลดการนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ผลิตในประเทศ

 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าประเทศไทยต้องเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศจึงต้องเร่งโครงการ Made in Thailand โดยเร็ว เพื่อให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใช้สินค้าไทย สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถขายสินค้าได้ราคาสูงกว่าไม่เกิน 10% เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลก ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สาหัส เห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออกของไทย 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.) ยังติดลบ 7.72% ทั้งปีนี้ โดย กกร. ประเมินว่าจะติดลบ 10 - 12 %

ทั้งนี้ ส.อ.ท. จัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากากรระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งแท่นเป็นประธาน จะมีการพิจารณาในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563

ประกอบด้วย 1. สนับสนุนสินค้า Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ 2. ยืดการชำระเงินกู้ออกไปอีก2ปี (2564 - 2565) โดยพักชำระเงินต้นจนถึงเดือน ธ.ค. 2565 สำหรับชำระดอกเบี้ยให้จ่ายเพียงบางส่วน โดยในช่วง 6 เดือนแรก (พ.ย.2563 - เม.ย.2564) ชำระ 10% ของดอกเบี้ยรายเดือนที่เกิดขึ้น

3.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ เอสเอ็มอี ปีภาษี 2563 - 2565 โดยจะต้องเข้าระบบ E - Filling 4.การกระตุ้นและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาคต มอก. การขอใบอนุญาตโรงงาน, ค่าใช้จ่ายในการตรวจรับและรับรองมาตรฐาน, ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนา และการซื้อสินค้าฉลากเขียว มาหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว และค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เป็นระยะเวฃา 1 ปี

5. ยกเว้นค่าปรับร้อยละ20 ของภาษีที่ขาดการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ที่ประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 คลาดเคลื่อนเกินร้อยละ 25 เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 6.สามารหักค่าใช่จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาการอบรม หรือ Outing ของบริษัท เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ

7. ขยายเวลาผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกไปอีก 2 ปี โดยยังคงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินลงทุนเดิมไว้ เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19

8. ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 62 จนถึงวันที่ 31ธ.ค. 2563 และ 9. ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะปี 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจในการขอเงินกู้ โดยได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

สำหรับประเด็นการสนับสนุนสินค้า Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ประเดิมด้วย “ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก” โดยกระทรวงอุตสาหกรรมรับลูก ส.อ.ท. เร่งเครื่องผลักดันให้กรมบัญชีกลางพิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐในส่วนของงานโยธา เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น จัดทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องใช้สินค้าที่ภาคอุตสาหกรรมไทยผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ประกอบกับนโยบาย “Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน”ของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

ล่าสุด รัฐบาลขานรับข้อเสนอของ ส.อ.ท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเน้นผลิตภัณฑ์ในประเทศเป็นหลัก หรือ Made in Thailand เรื่องร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …ในหมวดส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา

สาระสำคัญ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยใช้เงินงบประมาณไม่น้อยกว่า 30% ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากเอสเอ็มอีที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและรายชื่อไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมทั้ง หากประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แล้ว พบว่าผู้เสนอราคาที่เป็นเอสเอ็มอีเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกินกว่า 10% ให้เลือกเอสเอ็มอื่นแทน

พร้อมกับกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์ของร้านค้าสหกรณ์ หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ รับรอง และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ โดยเฉพาะงานก่อสร้างให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนและต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กทั้งหมดที่ใช้

และหากการจัดซื้อจัดจ้างพบว่าผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ขณะที่ผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเสนอราคาสูงกว่ารายของต่างชาติไม่เกิน 3% ให้พิจารณาเลือกผู้ประกอบการของไทย

 นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าการขับเคลื่อนส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ของรัฐบาล หากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ยึดปฏิบัติกันอย่างจริงจัง จะช่วยอุตสาหกรรมภายในประเทศในภาพรวมสามารถฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบโควิด-19 แม้ว่าต้นทุนของการใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศสูงกว่า แต่ในภาพรวมของการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย ย่อมให้ผลเชิงบวกต่อเนื่องมากกว่า

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียน แต่เผชิญวิกฤตเหล็กทุ่มตลาดจากต่างชาติปริมาณมาก ที่ผ่านมาพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเหล็กมากถึ 2 ใน 3 ของการบริโภคเหล็กของประเทศ ดังนั้น หากต้องพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และความมั่นคงแห่งชาติ

อ้างอิงข้อมูลโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม 44 โครงการ มีการประเมินจากผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ สามารถใช้สินค้าเหล็กในประเทศได้เป็นมูลค่าถึงประมาณ 110,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมกว่า 139,000 คน และช่วยให้ GDP ของประเทศปรับตัวดีขึ้น


 การส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ประเดิมอุตสาหกรรมเหล็ก หากรัฐมีการต่อยอดในอุตสากรรมอื่นๆ ต่อไป เชื่อได้ว่าจะขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นวิกฤตทางศรษฐกิจที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น