xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ชง9ข้อ ฟื้นภาคธูรกิจ ลุ้นศบศ.เคาะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ส.อ.ท.เผยข้อเสนอ 9 ประเด็นฟื้นธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หวังให้ที่ประชุม"ศบศ."พิจารณาเพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งยืดชำระเงินกู้ 2 ปี สนับสนุนสินค้าไทยเป็นวาระแห่งชาติ ขยายระยะเวลาผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เสนอ 9 ประเด็น เพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ กรณีผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพื่อใช้ประกอบการประชุม คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา โดยเตรียมนำประเด็นดังกล่าวสู่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ในเร็วๆ นี้

สำหรับ ประเด็น 9 ข้อ ที่ได้เสนอไป ได้แก่ 1. สนับสนุนสินค้าไทยเป็นวาระแห่งชาติ 2. ยืดการชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี (ปี 64-65)โดยพักชำระเงินต้นจนถึงธ.ค.65 สำหรับการชำระดอกเบี้ย ให้จ่ายเพียงบางส่วนโดยช่วง 6 เดือนแรก (พ.ย.-เม.ย.64)ชำระ10% ของดอกเบี้ยรายเดือนที่เกิดขึ้น 3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ปี63-65 โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filing

4. การกระตุ้นและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาต มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) , การขอใบอนุญาตโรงงาน, ค่าใช้จ่ายในการตรวจรับ และรับรองมาตรฐาน, ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนา การซื้อสินค้าฉลากเขียวมาหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว และค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าเป็นระยะเวลา 1 ปี

5. ยกเว้นค่าปรับ 20% ของภาษีที่ขาดจากการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ที่ประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ตลาดเคลื่อนเกิน 25% เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 6. สามารถหักค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรมหรือ Outing ของบริษัทเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย

7. ขยายระยะเวลาผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกไปอีก 2 ปี โดยยังคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินลงทุนเดิมไว้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 8. ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 62% จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.63 และ 9. ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 63 เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจในการขอเงินกู้ โดยได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น