xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แบเบอร์ “หวยแพง” (ไม่) จบที่รัฐบาลลุงตู่? จับตา “รื้อโควตา” เดินหน้า “สลากฯ ออนไลน์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สลากฯ ใบละ 80 บาท หาซื้อแทบไม่ได้ ส่วนใหญ่วางขายในท้องตลาดตกใบละ 90-150 บาท ยิ่งเลขดังยิ่งราคาพุ่งลิบ!

นั่นคือความเป็นจริงของ  “สลากฯ เกินราคา” ซึ่งเป็นปัญหาคั่งค้างมานาน แถมไม่ต่างจาก “ลิงแก้แห - ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง” มีความพยายามแก้กันมาตั้งแต่สมัย “ลุงตู่ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “หัวหน้า คสช.” กุมอำนาจในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ช่วงปี 2557 จวบจนปัจจุบันเป็น “นายกฯ สมัย 2” จากรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง ก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ได้

ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คลอดมาตรการแก้ปัญหาต่างๆ นานา ทั้ง มาตรา 44 รื้อโควตาหวย เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลาก ผ่านระบบซื้อ-จองของธนาคารกรุงไทย เพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขาย จากงวดละ 37 ล้านฉบับ เป็นงวดละ 100 ล้านฉบับ ฯลฯ แต่ท้ายที่สุด ปัญหาสลากฯ แพงยังไม่หายไปไหน

ล่าสุด เกิดกรณีกลุ่มผู้ค้าสลากฯ ในภาคอีสาน รวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคากฎหมายกำหนด 80 บาท ประสบปัญหา “โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล” หรือ “หวยกล่อง” (1 กล่อง มี 5 เล่ม / 1 เล่ม มี 100 ใบ) ถูกบรรดา  “ยี่ปั้ว”  ผู้ค้าคนกลาง กว้านซื้อสลากฯ ปั่นราคา จากต้นทุนใบละ 70.40 บาท พุ่งเป็นราคาใบละเกือบ 90 บาท ทำให้ผู้ค้ารายย่อยที่ไม่มีโควตาต้องซื้อสลากฯ ราคาแพงไปจำหน่ายประชาชนเกินราคา

สถานการณ์สลากฯ เกินราคาเป็นปัญหารุนแรงเรื้อเพียงใด พิจารณาได้จากคำสารภาพของ ายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ยอมรับถึงปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคายังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคามาหลายระยะ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับสาเหตุของปัญหาจำหน่ายสลากฯ เกินราคา ฉายภาพชัดเจนหากย้อนผ่านเส้นทางสลากฯ ก่อนถึงมือประชาชน เริ่มแรกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะจำหน่ายให้เฉพาะผู้ที่ได้โควตา ซึ่งในปัจจุบันมีการซื้อขายสลากฯ กันหลายทอด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สลากฯ มีราคาสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ฉบับละ 80 บาท

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากฯ ออกจำหน่ายงวดละ 100 ล้านฉบับ จำหน่ายผ่านตัวแทนซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ

1. จัดสรรผ่านระบบโควตาให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม 33 ล้านฉบับ แบ่งเป็นผู้ค้าสลากรายย่อยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 28,519 ราย จำนวน 156,248 เล่ม (1 เล่ม มี 100 ฉบับ),จัดสรรให้คนพิการ 3,592 ราย จำนวน 18,034 เล่ม และจัดสรรให้สมาคม องค์กร มูลนิธิ 899 ราย ซึ่งมีสมาชิก 25,858 ราย จำนวน 155,718 เล่ม และ 2. จัดสรรผ่านระบบซื้อ - จองล่วงหน้า ของธนาคารกรุงไทย67 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากซื้อ 10,000 ราย จำนวน 50,000 เล่ม และสลากจอง 124,000 ราย จำนวน 620,000 เล่ม

โดยในแต่ละงวดนั้น มีจำนวนผู้รับสลากไปจำหน่ายทั่วประเทศ 191,969 ราย ขณะที่มีผู้ซื้อราวๆ 20 ล้านคนต่องวด

ทั้งนี้ สลากฯ ที่ได้จัดสรรให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ หรือ ผู้ที่ได้โควตา ราคาเล่มละ 7,040 บาท เฉลี่ยฉบับละ 70.40 บาท แต่ผู้ได้โควตาจำนวนมากจะส่งขายต่ออีกทอด ให้กับ ผู้ค้าสลากฯ คนกลาง ที่เรียกว่า  “ยี่ปั๊ว” ตกราคา เล่มละ 8,800 – 8,900 บาท เฉลี่ยฉบับละ 88 และ 89 บาท

ลำดับต่อมา ยี่ปั๊ว จะนำสลากรวมชุด ชุด 2 ใบ, 5 ใบ, 10 ใบ และ 15 ใบ เป็นต้น และจำหน่ายในราคาเพิ่มขึ้น ราคาเล่มละ 9,300 บาทโดยประมาณ เฉลี่ยฉบับละไม่เกิน 93 บาท จากนั้นจะมี ผู้ค้ารายย่อยมารับซื้อต่อไป เรียกว่า  “ซาปั๊ว สี่ปั๊ว”  ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้นทุนราคาสลากปรับสูงขึ้น จำหน่ายให้ประชาชนเกินราคาตามกฎหมายกำหนด 80 บาท แถมยิ่งเลขดังยิ่งแพงขึ้นไปอีก

ข้อมูลจากงานเสวนา เรื่อง “การปรับโครงสร้างกระจายสลาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา” สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ค้าสลากฯ โดยเฉพาะรายย่อย ขายสลากเกินราคา ดังนี้
 
หนึ่ง - จำนวนสลากที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานสลากฯ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ละงวดสำนักงานสลากฯ จะจัดสรรสลากให้ผู้ค้าสลากรายย่อยรายละ 5 เล่ม (500 ฉบับ) ผู้ค้าสลากมีต้นทุนในการไปหาเงินมารับสลากงวดละ 35,200 บาท หากขายสลากหมดเกลี้ยงได้กำไร 4,800 บาท หรือ เดือนละ 9,600 บาท หักค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และค่าเดินทางแล้ว แทบไม่เหลืออะไร

 สอง - ผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง ต้นทุนสลากฯ ออกจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใบละ 70.40 บาท ยังไม่ทันได้ถึงมือผู้บริโภค รับซื้อกันที่ใบละ 80 - 85 บาท จะให้ผู้ค้าสลากขายใบละ 80 บาทได้อย่างไร ยกตัวอย่าง อ.วังสะพุง จ.เลย ทันทีที่สลากซื้อ-จองส่งไปถึงที่ทำการไปรษณีย์ มีพ่อค้าไปตั้งโต๊ะรับซื้อกันเล่มละ 40,000 – 42,500 บาท หรือ ใบละ 80 - 90 บาท เป็นต้น

 สาม - การกระจายสลากบางส่วนไม่ถึงมือผู้ค้าสลากตัวจริง ยกตัวอย่าง ผู้ค้าสลากที่ไม่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากตามระบบเดิม หรือ จองซื้อผ่านระบบของธนาคารกรุงไทยไม่ได้ ผู้ค้าสลากกลุ่มนี้ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร จำเป็นต้องไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๋ว ซาปั๋วมาขาย

 สี่  - สำนักงานสลากฯใช้วิธีขายขาดให้กับตัวแทนจำหน่าย สลากเหลือ เลขไม่สวย ขายไม่ออก สำนักงานสลากฯ ไม่รับคืน ทำให้ผู้ค้าสลากต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ทั้งหมด

 ห้า  - ตัวแทนจำหน่ายสลาก ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ได้รับการจัดสรรโควตาสลากมาแล้วไม่เอาไปขายเอง แต่เอาไปขายต่อ

 หก  - ผู้บริโภคนิยมซื้อสลากชุด และเลขดัง ยอมจ่ายเงินซื้อสลากราคาแพง เพื่อให้ได้เลขที่ต้องการ ขณะที่สำนักงานสลากฯ เอง ก็ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม “คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ บอร์ดกองสลาก”  ที่มี นายพชร อนันตศิลป์  อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ประชุมวาระเร่งด่วน เมื่อช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา พิจารณาการจัดระบบโควตา และระบบซื้อจองสลากจากธนาคารกรุงไทยใหม่ ให้กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติผู้ขายสลากในระบบให้ชัดเจน ดึงผู้ที่ต้องการขายสลากตัวจริงเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการนำสลากไปขายต่อหรือขายช่วงให้กับผู้ค้ารายอื่น ที่นำไปสู่การรวมชุดสลากและทำให้สลากราคาแพง

โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้มากที่สุด  ทั้งจากกลุ่มที่ได้โควตา 33 ล้านฉบับ ในระบบซื้อจอง 67 ล้านฉบับ ตลอดจนคนที่เข้าไม่ถึงโควตาจำหน่าย ส่วนจะปรับโครงสร้างการกระจายสลากอย่างไร ผ่านเว็บไซต์ แอพลิเคชัน โฟกัสกรุ๊ป เปิดห้องประชุม และรับจดหมายเปิดผนึก ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษารวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ เพื่อดึงผู้ค้าตัวจริงเข้ามาอยู่ในระบบ ลดปัญหาการซื้อสลากจากตลาดขายส่ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สลากฯ เกินราคา

นอกจากนี้ บอร์ดกองสลากฯ สั่งการให้คณะทำงานไปศึกษาการขายสลากใบแบบออนไลน์ ซึ่งในหลักการจะต้องมีโครงสร้างเหมือนเดิม แต่อาจจะยอมให้มีการเปลี่ยนมือสลากฯ ได้หนึ่งครั้ง เพื่อลดกระบวนการของพ่อค้าคนกลางให้ได้มากที่สุด และต้องไม่กระทบกับผู้ค้าสลากฯ แบบใบในระบบปัจจุบัน เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2564

ทั้งนี้ มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้พิการขอให้สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากเพิ่ม จากงวดละ 100 ล้านฉบับ เป็น 104 ล้านฉบับ เพื่อแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา ซึ่งในประเด็นเรื่องการขอให้เพิ่มการจัดพิมพ์สลากฯ ทางสำนักงานสลากฯ ออกมาให้ข้อมูลว่าความต้องการขายน่าจะเกิน 100 ล้านฉบับจริง แต่ความต้องการซื้อไม่ได้เพิ่มเกิน 100 ล้านฉบับ ดังนั้น จะไม่เพิ่มการพิมพ์สลากฯ เกินจากปัจจุบัน จำนวน 100 ล้านฉบับ

อย่างไรก็ตาม 6 ปี ที่ผ่านมา มีการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากฯ ต่อเนื่อง ปี 2557 พิมพ์สลากออกขาย 37 ล้านใบ ปี 2558 เพิ่มเป็น 50 ล้านใบ ปี 2559 เพิ่มเป็น 60 - 65 ล้านใบ ปี 2560 เพิ่มเป็น 56 - 71 ล้านใบ ปี 2561 พิมพ์เพิ่ม 89 - 90 ล้านใบ ปี 2562 เพิ่มเป็น 90 - 100 ล้านใบ และปี 2563 เพิ่มเป็น 100 ล้านใบ

จะเห็นว่าการเพิ่มจำนวนพิมพ์สลากฯ ไม่ใช่คำตอบของปัญหาสลากฯ เกินราคา เพียงแต่ผลที่ตามมา ทำให้สำนักงานสลากฯ ขึ้นแท่นเป็นรัฐวิสาหกิจเบอร์ 1 ที่นำส่งรายได้เข้าคลังมากที่สุดเท่านั้น

 สรุปสุดท้าย คงต้องติดตามกันว่ามาตรการต่างๆ ที่บอร์ดกองสลากฯ กำลังคลอดออกมาทั้งรื้อโควตาฯ ใหม่ และออกสลากฯ ออนไลน์ จะแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา ได้มากน้อยเพียงใด ไหนๆ ก็พยามแก้กันมาตั้งนาน อย่าให้พยามเป็นศูนย์! 


กำลังโหลดความคิดเห็น