xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลการสำรวจการรักษามะเร็งแต่ละชนิดในประเทศไทย อัตราการรอดชีวิตเท่าไหร่? (ตอนที่ 2) : รู้แล้วยังไง? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


จากรายงานของอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2542-2552 นั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งรังไข่นั้นมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะความน่าเป็นห่วงในเรื่องโรคมะเร็งตับและมะเร็งปอดนั้น มีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยต่อปีเป็นจำนวนมาก และอัตราการรอดชีวิต 5 ปีอยู่ในระดับต่ำทั้งคู่


อย่างไรก็ตามในประเทศไทยนั้นการรายงานอัตราการรอดชีวิต 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งนั้นมีการรวบรวมและรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ หรือตัวเลขอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเทียบกับประชากร 100,000 คน ก็เพราะเหตุว่าการจะทราบตัวเลขอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นจะต้องเก็บข้อมูลรายละเอียดย้อนหลังไปของผู้ป่วยที่เสียชีวิตแต่ละรายเป็นเวลานานถึง 5 ปี และหลายคนก็อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายงานอัตราการรอดชีวิต 5 ปีว่าจะรู้ไปเพื่ออะไร และจะมีประโยชน์กับการรักษาหรือการพัฒนาการรักษาอย่างไร?




ตัวอย่างเช่น การรายงานในรูปแบบเดิมๆ ดังเช่นการรายงานอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2552 นั้นเราอาจจะต้องตั้งคำถามว่าอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ยังมีรายละเอียดไม่มากพอว่าความสัมพันธ์ ระยะของการเป็นโรคมะเร็ง อายุของผู้ป่วย วิธีการรักษานั้นส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิตอย่างไร?

เพราะคุณค่าของข้อมูลเหล่านี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจว่าผู้ป่วยและคนในครอบครัวจะเลือกรักษาหรือไม่ ด้วยวิธีการใด และด้วยงบประมาณเท่าไหร่ เพราะมีคนจำนวนมากต้องเสียค่าใช้จ่าย ขายทรัพย์สิน หรือก่อหนี้สิน หรือแม้กระทั่งสิ้นเนื้อประดาตัว เพื่อมารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งของผู้ป่วยเองหรือคนในครอบครัว หากมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ในระดับสูงก็อาจจะคุ้มค่าในการสูญเสียทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้น แต่จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไปกว่านั้นหากสูญเสียเงินทองมากมายและยังไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้

แม้ในปัจจุบันภาครัฐได้จัดให้มีการสาธารณสุขพื้นฐาน รวมถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยจะสามารถมีเตียงเพียงพอในโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยทุกคน ผู้ป่วยในโรงพยาบาลภาครัฐมีความแออัด แต่ในขณะที่โรงพยาบาลภาคเอกชนแม้จะมีความสะดวกแต่ก็มีค่ารักษาพยาบาลแพงมากทั้งนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ออกรายงานอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ของผู้ป่วยมะเร็งบางประเภทที่เป็นกันมากในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2560 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้แยกเพศ และระยะของโรคมะเร็ง แต่ยังไม่ได้รายงานแยกแยะรายละเอียดของอายุ แต่ก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการชั่งน้ำหนักของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก จึงนำเสนอมากราฟดังกล่าวมาในบทความฉบับนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยที่จะวางแผนต่อไป






ดังนั้น หากโรคมะเร็งชนิดที่มีอัตราการรักษาโรคอยู่ในระดับสูงมาก เช่น โรคมะเร็งเต้านม สุภาพสตรีก็ควรจะตรวจสังเกตตัวเองประจำและพบแพทย์ทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถรักษาได้ทัน ในขณะที่โรคมะเร็งลำไส้ก็มีอัตราการอดชีวิต 5 ปีอยู่ในระดับสูงหากมีการรักษาตัวเองได้ทัน

อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งปอด และมะเร็งตับนั้นอาจจะไม่แสดงอาการให้เห็นได้ง่ายนัก และส่วนใหญ่คนที่มีอาการก็มักจะเป็นระยะที่ 3 และ 4 แล้ว ดังนั้นโรคมะเร็งตับจึงมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก และส่วนใหญ่ก็มักจะเสียชีวิตภายใน “ปีแรก”








แต่สำหรับผู้สูงวัยมากๆ ที่มีอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป อัตราการรอดชีวิตจะต่ำลงมากๆ ดังนั้นหากลงทุนงบประมาณกับการรักษาเพื่อหวังให้หายก็อาจจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นคนในครอบครัวอาจจะพิจารณาและตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยให้ยอมรับความจริงและตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร ด้วยงบประมาณอย่างไร หรือเตรียมตัวสำหรับการบริหารจัดการแบบประคับประคองอย่างไรในบ้านให้นานที่สุด (ซึ่งบทบาทของกัญชาจะมีความสำคัญมากในกลุ่มนี้) และดำเนินชีวิตให้มีความสุขที่สุดและจัดการวางแผนเตรียมตัวทุกอย่างให้เรียบร้อยสำหรับการเดินทางจากโลกนี้ไปสู่สุขคติ

ยิ่งในประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้นด้วยแล้ว ผู้สูงวัยจะต้องเดินทางจากโลกนี้ไปด้วยโรคใดโรคหนึ่งแน่ๆ เพราะไม่มีใครเป็นอมตะได้ และต้องจากไปด้วยโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นโรคยอดฮิต โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ด้วยเฉพาะโรคมะเร็งในผู้สูงวัยด้วยแล้ว อัตราการรอดชีวิตจะต่ำมาก จนอาจไม่คุ้มค่าที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาแผนปัจจุบัน

ในสังคมผู้สูงวัยที่กำลังดำเนินไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนควรจะมีความรู้ที่ต้องเริ่มดูแลและวางแผนชีวิตและสุขภาพตั้งแต่วันนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผนการฝึกอบรมในการดูแลผู้สูงวัยตั้งแต่วันนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกายภาพ อาหาร สมุนไพร นักกิจกรรม การนวด การกดจุด การดูแลผู้สูงวัยติดเตียง ความรู้เหล่านี้กำลังจะมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

แต่เนื่องด้วยยุคนี้ โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 และทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาในการวางแผนในการลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งให้น้อยลง เช่น การยกเลิกสารพิษการเกษตร ,การเลือกใช้พลังงานสะอาดและการควบคุมกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อลดฝุ่นละอองขนาด P.M.2.5, การควบคุมผลกระทบของโลหะหนักและสารหนูจากเหมืองต่างๆ, การควบคุมการใช้ยาคุมกำเนิด, การรณรงค์เพื่อลดหรืองดการบริโภคเนื้อแปรรูป, การปล่อยน้ำเสียและมลพิษทางอากาศของโรงานอุตสาหกรรม, การเพิ่มภาษีในเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลทำลายสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความกล้าหาญและคำนึงถึงผลประโยชน์ในสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนเป็นสำคัญ

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น