ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สำหรับประเทศไทยนั้นมีอัตราการเสียชีวิตเทียบกับประชากร 100,000 คน ด้วยโรคมะเร็งมากที่สุดแซงหน้าอัตราการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ โรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคปอดตามลำดับ
จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งประเทศไทยปี พ.ศ. 2557 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบ “ผู้ป่วยรายใหม่” 122,757 คน เป็นเพศชายจานวน 59,662 คน และเพศหญิง 63,095 คน
โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกใน ชายไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่วนมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและท่อน้าดี มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปอด
เมื่อเปรียบเทียบอันดับและอัตราการเกิด โรคมะเร็งกับปี พ.ศ. 2548 พบว่ามะเร็งที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกทั้งเพศชายและเพศหญิงยังคงเดิม แต่ อัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง
และจากข้อมูลของ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในปี พ .ศ. 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็ง 70,075 คน เป็นเพศชาย 40,161 คน เพศหญิง 29,914 คน ซึ่งถือว่ามะเร็งเป็นสาเหตุการตาย อันดับหนึ่งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกในเพศชาย ได้แก่ มะเร็ง ตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอยหอย มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็ง หลอดอาหาร
ส่วนมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็ง เต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 อันดับแรก ของประเทศ คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งคิดเป็น 51.86% ของมะเร็งทั้งหมด [1]
สำหรับการอัตราการรอดชีวิต 5 ปี กับโรคมะเร็งชนิดต่างๆในประเทศไทยโดยรวมแล้ว การอัตรามีชีวิตรอดเกิน 50% เรียงจากมากที่สุดไปหาน้อยได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้
ส่วนโรคมะเร็งในประเทศไทยที่มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ต่ำกว่า 50% แต่ไม่ต่ำกว่า 20% เรียงจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งเม็ดเลือดขาว
ส่วนโรคมะเร็งในประเทศไทยที่มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ต่ำที่สุด คือต่ำกว่า 20% เรียงจากมากที่สุดไปหาน้อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ
ความน่าสนใจคือสถิติอัตราการมีชีวิตรอดในโรคมะเร็งของประเทศไทย “เพิ่มมากขึ้น”ระหว่างปี พ.ศ. 2542 -2552 ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่จะมีอาการที่สังเกต มีการตรวจคัดกรองได้มากขึ้น ทำให้ตรวจพบได้ก่อน และสามารถใช้การผ่าตัดเข้าร่วมทำให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต 5 ปีให้สูงขึ้นได้ ซึ่งโรคเหล่านี้ถือว่าการรักษาในประเทศไทยมีพัฒนาการดีขึ้น แม้โรคเหล่านี้จะยังมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ
สำหรับโรคมะเร็งในประเทศไทยที่มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี “ลดต่ำลง” ได้แก่ โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็งตับ โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับและโรคมะเร็งปอดนั้นยังมีอุบัติการณ์ของโรคติดอันดับแรกๆของประเทศไทย [2]
ทั้งนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เคยเผยแพร่รายละเอียดพบว่าจังหวัดที่มีอุบัติการณ์มะเร็งปอดมากที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ อุดรธานี ระยอง กรุงเทพมหานคร ฯลฯ [3] ส่วนมะเร็งตับพบมากที่สุดทั้งภูมิภาคอีสานและรองลงมาคือภาคเหนือ ซึ่งในประเด็นมะเร็งตับนั้นพบสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่มาจากพยาธิใบไม้ในการรับประทานอาหารไม่สุก [4] [5]
อย่างไรก็ตามในประเด็นอัตราการรอดชีวิตนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวพันกับเพียงแค่ความสามารถในการรักษาของแพทย์ หรือ ระยะที่เป็นมะเร็งเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วยด้วยว่าอายุในขณะที่เป็นมะเร็งนั้นมีอายุเท่าใด เพราะยิ่งมีอายุมากหรือเป็นผู้สูงวัยแล้ว โอกาสที่จะรักษาแล้วรอดชีวิตในระยะเวลา 5 ปี ย่อมต่ำกว่าประเทศที่มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า
แน่นอนว่าโอกาสการเกิดของโรคมะเร็งของผู้สูงวัยย่อมมีได้มากกว่ากลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า และความจริงแล้วเมื่อเป็นผู้สูงวัยแล้วย่อมสามารถเป็นโรคและเสียชีวิตได้หลายโรค รวมถึงโรคมะเร็งด้วย และเมื่อเกิดขึ้นในผู้สูงวัยก็ย่อมทำให้โอกาสมีชีวิตรอด 5 ปีหลังจากการตรวจพบมะเร็งอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยด้วย
ซึ่งเมื่อสำรวจสถิติการเสียชีวิตโดยโรคมะเร็งชนิดต่างๆต่อประชากร 100,000 คนนั้น จะพบว่ากลุ่มประชากรผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นส่วนใหญ่คือกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น [2] และแปลว่าประเทศไทยจะยิ่งมีอัตราการรอดชีวิตต่ำลงมากขึ้นในหลายโรคเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมที่สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อโรคมะเร็งปอดและมะเร็งตับกลายเป็นวิกฤติที่ทั้งอุบัติการณ์แห่งโรค ตลอดจนอัตราการรอดชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงการลดความเสี่ยงต่างๆอุบัติการณ์ของโรคเหล่านี้ให้ลดน้อยลง ตั้งแต่ การปรุงอาหารสุกของภาคอีสาน การลดการสูบบุหรี่และการดื่มสุราให้น้อยลง การลดมลพิษของฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งตับและมะเร็งปอดให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, แผนยุทธศาสตร์สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2565
http://www.nci.go.th/th/Today/download/แผนยุทธศาสตร์สถาบันมะเร็งแห่งชาติ%20พ.ศ.%202560-2564_27919.pdf
[2] Our World in data, Thailand Cancer
https://ourworldindata.org/search?q=Thailand+cancer
[3] Nimit Martin, Cancer in Thailand Vol.IV, Chapter 11,
http://www.nci.go.th/th/File_download/Cancer%20In%20Thailand%20IV/C-II-01.PDF
[4] Petcharin Srivatanakul, Epidemiology of Liver Cancer in Thailand, Asian Pac J Cancer Prev, 2001; 2(2):117-121
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12718642/
[5] S Sriamporn, et al., Prevalence of Opisthorchis viverrini infection and incidence of cholangiocarcinoma in Khon Kaen, Northest Thailand, 2004, May; 9 (5): 588-94. Doi:10.1111/J.1365-3156.2004.01234.x.
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1365-3156.2004.01234.x