xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เสียงเพรียกจากสังเวียนผ้าใบ “มวยภูธร” จะอดตายกันอยู่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คนวงการมวยรวมตัวกันหลายร้อยชีวิตบุกกระทรวงการท่องเที่ยว เรียกร้องรัฐให้พิจารณาอนุมัติการแข่งขันมวยต่างจังหวัดโดยด่วน นำโดย เสี่ยโบ๊ท - ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ ผู้บริหารค่ายมวยเพชรยินดี อะคาเดมี่ และ “ดาบรันสารคาม - ร.ต.อ.นิรันดร์ ยศพล หัวหน้าค่ายมวยดาบรันสารคาม เป็นตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐ “ปลดล็อกมวยภูธร”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) และ “สนามมวย” เป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญ โดยเฉพาะการแข่งขันมวยแชมเปี้ยนเกียรติเพชร สนามมวยลุมพินี รามอินทรา ด้วยมีเซียนมวยคนหนึ่งติดโควิด 19 จากคนในครอบครัวที่เดินทางกลับจากประเทศอิตาลี กระทั่งเซียนมวยรายนี้กลายเป็น Super spreader แพร่เชื้อให้คนที่มาสนามมวยวันนั้นมากกว่า 50 คน ก่อนลุกลามแพร่กระจายทั่วประเทศ ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เวทีมวยทั่วประเทศต้องปิดสนาม ธุรกิจมวยได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกันกิจการอื่นๆ คนวงการมวยต่างตั้งตารอด้วยความหวังให้รัฐเปิดสนามมวยเพื่อกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งโดยเร็ว

กระทั่ง เข้าสู่เดือน ก.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อนุญาตให้กีฬามวยกลับมาจัดการแข่งขันได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเข้มงวด จัดระบบปิดภายใต้การแข่งขันแบบ New normal เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดสนามสม่ำเสมอ จำกัดจำนวนผู้เข้าชมในสนาม15 เปอร์เซ็นต์ของความจุ สูงสุดไม่เกิน 1,000 คน

มาตรการคลายล็อกดังกล่าว ทำให้เวทีมวยมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เริ่มทยอยเปิดสนามจัดการแข่งขันไปแล้ว เว้นก็แต่เวทีมวยต่างจังหวัดที่เรียกกันว่า “มวยภูธร” หรือ “มวยล้อมผ้า(สังกะสี)” ยังไม่สามารถเริ่มจัดการแข่งขันได้ เพราะระเบียบต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย

การแข่งขันมวยไทยในต่างจังหวัดเป็นรูปแบบเวทีมวยล้อมผ้าหรือล้อมสังกะสีเป็นการชั่วคราว ไม่ได้เป็นเวทีมาตรฐานเช่นเดียวกับเวทีใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่นสนามมวยลุมพินี, สนามมวยราชดำเนิน ฯลฯ สำหรับรองรับการแข่งขันที่เป็นกิจจะลักษณะ ด้วยเหตุนี้แนวทางการจัดการแข่งขันของ เวทีมวยชั่วคราว และ เวทีมวยมาตรฐาน จึงมีความแตกต่างกันออกไป

แม้รัฐคลายล็อกกีฬามวยให้กลับมาจัดการแข่งขันได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. แต่ในความเป็นจริงสนามมวยต่างจังหวัดอย่าง “มวยภูธร” ยังไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ ไม่มีหนังสืออนุญาตให้แข่งขัน หรือคู่มือการแข่งขันให้กับมวยภูธร นับตั้งแต่รัฐสั่งห้ามกีฬาแข่งขันทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้คนในแวดธุรกิจมวยภูธร

กระทั่ง วันที่ 31 ส.ค. 2563 คนวงการมวยรวมตัวกันหลายร้อยชีวิตบุกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำโดย  “เสี่ยโบ๊ท” นายณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ ผู้บริหารค่ายมวยเพชรยินดี อะคาเดมี่ และ “ดาบรันสารคาม” ร.ต.อ.นิรันดร์ ยศพล  หัวหน้าค่ายมวยดาบรันสารคาม ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐ “ปลดล็อกมวยภูธร” ให้สามารถจัดการแข่งขันมวยไทยได้ทั่วประเทศโดยด่วน

เสี่ยโบ๊ท - ณัฐเดช ผู้บริหารค่ายมวยคนดัง ออกมาเป็นกระบอกเสียงของคนวงการมวยทั่วประเทศ ฉายภาพความเดือดร้อนของธุรกิจมวยไทย เวทีมวยมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้เริ่มจัดการแข่งขันได้แล้วแต่ยังต้องประคองตัวให้พ้นวิกฤต ค่าตัวนักมวยลดลง 50% คนดูลดลงรายได้ลดลง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือมวยต่างจังหวัดที่ไม่มีเวทีมวยมาตรฐานให้แข่งขัน เพราะไม่สามารถจัดการแข่งขันได้มาหลายเดือนแล้ว ศบค. ยังไม่อนุญาตให้จัดได้ ทำให้คนมวยเดือดร้อนกันทั้งประเทศ นำสู่การเรียกร้องขอให้ปลดล็อกดังกล่าว

“มวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติ อยากให้สนใจเหลียวแลเพื่ออนุรักษ์ศิลปะประจำชาติด้วย มีคนเดือดร้อนมากมาย คนมวยภูธรอยากได้คำตอบว่าจะกลับมาแข่งขันได้เมื่อไร ในรูปแบบไหน มีมาตรการอะไรบ้าง พวกเราทุกคนพร้อมจะทำตามมาตรการทั้งหมด เพราะต้องการกลับมาทำงานหาเลี้ยงตัวเองให้เร็วที่สุด มวยภูธรได้มีการเตรียมตัววางคู่มวยกันไว้แล้ว และไม่ได้ต้องการว่าให้มีคนดูเต็มสนาม แต่อยากให้กลับมาจัดได้ก็พอ”

“...ถึงวันนี้ คนมวยเขาอยากได้เพียงแค่ขอโอกาส ได้กลับมาดำเนินกิจกรรมตามวิถีของพวกเขา ขอลองดูก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้มวยได้กลับมาชกกัน ขอให้มีผู้เข้าชม แม้จะมีกฏระเบียบเฝ้าระวังวิกฤตไวรัสโควิดพวกเขาก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่ขอเพียงแค่ได้กลับมาจัดการแข่งขันเพื่อให้มีอาชีพรายได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่จะคาดหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมภายในปีนี้นั้น คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องยอมรับว่า การจัดมวยทุกวันนี้ รายได้หลักมาจากยอดผู้ชมชาวต่างชาติที่เข้ามาดูเป็นสำคัญ ซึ่งปีนี้คงไม่ทันแน่ และถึงตอนนี้การจัดมวยก็ยังประสบปัญหาขาดทุน เข้าเนื้อกันหมด"” นายณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ ผู้บริหารค่ายมวยเพชรยินดี อะคาเดมี่ ระบุ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวหลังจากคนวงการมวยเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ให้สามารถจัดการแข่งขันมวยไทยได้ทั่วประเทศว่า มีคำสั่งปลดล็อกให้จัดการแข่งขันมวยทั่วประเทศมีผลเริ่มตั้งแต่วั 1 ก.ย. 2563 เหมือนกีฬาชนิดอื่นๆ แต่ขอให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบอย่างเข้มงวด คืออนุญาตให้มีผู้เข้าชมได้ 15 เปอร์เซ็นต์ และต้องไม่เกิน 1,000 คน ที่สำคัญต้องเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก เพื่อความปลอดภัยต่อสังคมส่วนรวม โดยลำดับต่อไปจะเร่งออกประกาศและทำหนังสือแจ้งทั่วประเทศให้รับทราบ เพื่อให้คนวงการมวยได้กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ทันที

ส่วนการเยียวยาวกิจการมวยไทย สำหรับนักมวยที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย จะได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือ 7 กลุ่ม คือ นักมวย อายุ 15 - 17 ปี - นักมวย 18 ปีขึ้นไป, ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน, หัวหน้าค่ายมวย, ผู้จัดการนักมวย, ผู้จัดรายการแข่งขัน และนายสนามมวยนักมวย คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท นอกจากนี้ ที่ประชุมอนุกรรมาธิการกีฬามวยอนุมัติงบ 20,445,000 บาท สำหรับสงเคราะห์ค่ายมวย 1,185 ราย เบิกจ่ายได้ตั้งแต่ 1.ก.ย. เป็นต้นไป

ด้าน นายวิบูณ จำปาเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่าเวทีมวยภูธรในส่วนของสนามมวยชั่วคราว สามารถกลับมาจัดแข่งขันได้ตามคู่มือการจัดมวยไทยที่ ศบค. ระบุไว้ได้ทั้งหมด โดยต้องคำนึงถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ประเด็นสำคัญต้องขออนุญาตจัดการแข่งขันชกมวยจากสำนักงานควบคุมกีฬามวยในจังหวัดนั้นๆ และในช่วงการแข่งขันจะมีเจ้าหน้าที่จาก กกท. จังหวัดไปสังเกตการณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังเช่นกรณีคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีที่เกิดขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ดี ล่วงเวลานานกว่า 6 เดือน “มวยภูธร” หรือ “มวยล้อมผ้า (สังกะสี)” กำลังกลับมาฟาดแข้งบนสังเวียนผ้าใบกันอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น