xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดวอร์สารพิษเกษตรยกใหม่ หรือ “เสี่ยต่อ-ปชป.” คิด “ถอนทุน”??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เปิดวอร์ยกใหม่ ไฟต์ศึกสารพิษ ที่มีเงาทะมึนของทุนข้ามชาติอยู่เบื้องหลัง งานนี้สงสัยประชาธิปัตย์อยากเป็นพรรคต่ำสิบจึงไม่ฟังเสียงประชาชนที่หนุนให้ห้ามใช้ โดยยืนซดหมัดกับฟากของ “เสี่ยหนู” - อนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย ซึ่งยืนกรานค้านสุดลิ่มเก็บแต้มสะสมคะแนนนิยมอีกยก หนุนเนื่องด้วยการผนึกพลังเครือข่ายผู้บริโภค-ไบโอไทย และ 686 องค์กรต้านสารพิษ เตรียมแบนพรรคสีฟ้าถ้ายังดันทุรังไม่เลิก พร้อมกับคำถามจากสังคมหรือว่ามีรายการเตรียมกระสุนดินดำทำทุนรับกระแสการยุบสภาที่ดังหนาหูขึ้นเป็นลำดับ!? 

มหาศึกสารพิษเกษตรถือเป็นมหากาพย์ที่พลิกมติกลับไปกลับมา โดยมีตัวเล่น 3 เส้าหลัก ระหว่างสามรัฐมนตรีบิ๊กเบิ้ม จากสามพรรคการเมือง ที่นั่งคุมสามกระทรวงใหญ่  หนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานผู้ชงเรื่องและเปิดไฟเขียวอนุญาต โดย “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

 สอง กระทรวงสาธารณสุข โดย  “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสาหลักดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย

และ สาม กระทรวงอุตสาหกรรม  โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คีย์เมกเกอร์เคาะอนุมัติด่านสุดท้าย ซึ่งต่างฝ่ายต่างขับเคี่ยวผลัดกันรุกรับ โดยมีชะตาชีวิตของประชาชนคนไทยเป็นเดิมพันบนเกมผลประโยชน์ของบรรษัทสารเคมีเกษตรข้ามชาติ ที่ส่งออกเคมีเกษตรมาอาบผืนแผ่นดินไทยมูลค่าหลายหมื่นล้านในแต่ละปี

ถามว่าสารเคมีเกษตรหลักทั้ง 3 ชนิด ซึ่งเป็นนิยมใช้ในภาคเกษตรของไทยเป็นของใคร ก็ต้องตอบว่า บริษัทซินเจนทาของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันควบรวมกิจการกับเคมไชน่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กรัมม็อกโซน (พาราคอต), มอนซานโต้ สหรัฐฯ ซึ่งบริษัทไบเออร์ ยักษ์ใหญ่เคมีเกษตรของเยอรมนีเข้าซื้อกิจการ เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ราวด์อั๊พ (ไกลโฟเซต) ส่วนคอลร์ไพริฟอส สารพิษกำจัดแมลงที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก เป็นของดาวเคมิคอล-ดูปองท์ ยักษ์ใหญ่เคมีเกษตรของสหรัฐฯ ส่วนจะอยู่เบื้องหลังมหากาพย์ศึกสารพิษที่ยืดเยื้อหรือไม่ คำตอบก็พอรู้ๆ กันอยู่ว่าใช่ หรือไม่ใช่?

ก่อนเขี่ยลูกเปิดเกมยกใหม่ ย้อนทวนความตอนจบในยกก่อนหน้าสักเล็กน้อย นั่นคือหลังการเคลื่อนไหวกดดันของสังคมให้มีการแบนสารพิษเกษตรอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การมีมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และมีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายฉบับที่ 6 พ.ศ.2563 ห้ามไม่ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครองสารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืช 5 รายการ ประกอบด้วย 1.คอลร์ไพริฟอส 2.คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล 3.พาราควอต 4.พาราควอตไดคลอไรด์ และ 5.พาราควอตไดคลอไรด์ บิส เมทิลซัลเฟต มีผลบังคับเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ต่อมาคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติผ่อนผันการยกเลิกใช้สารพิษดังกล่าวจนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2563

ช่วงเวลานั้นหลายฝ่ายมองว่านั่นคือชัยชนะของเครือข่ายต่อต้านสารพิษ แต่เอาเข้าจริงตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าหาใช่ชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ อย่างที่  นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) หัวหอกฝ่ายต้านสารเคมีเกษตรอันตราย คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สงครามยังอีกยาวไกล เพราะต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการกลับมตินำพาราควอตและคอลร์ไพริฟอส ที่ประกาศเลิกให้เลิกใช้ไปกลับมาให้ใช้อีกครั้งเหมือนดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีการเดินเกมล็อบบี้และผลักดันจนพลิกกลับมติเลิกห้าม และกลุ่มคัดค้านสารพิษต้องออกมาสู้กันใหม่

ไม่นับว่าการเคลื่อนไหวให้แบนสารฆ่าวัชพืช “ไกลโฟเซต” ที่ยังไปไม่ถึงไหน ทำได้เพียงแค่การจำกัดการใช้เท่านั้น
แล้วคำเตือนให้จับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนสารพิษเกษตรของนายวิฑูรย์ ก็เป็นไปตามคาด การเปิดเกมยกใหม่นี้เขี่ยลูกโดยนายเฉลิมชัย สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการให้มีการทบทวนการแบนพาราควอต ตามหนังสือของสำนักงานรัฐมนตรี กลุ่มประสานงานการเมือง ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2563 เรื่องขอให้นำส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อทบทวนมติการยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ก่อนสิ้นสุดวันผ่อนผัน 29 สิงหาคม 2563

 นายเฉลิมชัย สั่งการในท้ายหนังสือดังกล่าวว่า “มอบปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามที่ร้องขอ” พร้อมลายเซ็น ลงชื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 

การขยับของนายเฉลิมชัย ข่าวดันรั่วไปเข้าหูเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ที่เสนอให้แบนสารพิษเกษตร ทางตัวแทนกลุ่มจึงขอเข้าพบ  นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคภูมิใจไทย เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ ห้ามใช้สารเคมีเกษตรตามประกาศข้างต้น


 จากนั้น นางสาวมนัญญา ผู้เปิดศึกเรียกร้องให้แบนสารพิษอย่างแข็งกร้าวมาตลอดก็ “เปิดวอร์” อีกครั้งกับ “เสี่ยต่อ” ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “คุณไม่หยุด ฉันก็ไม่หยุด !! ตราบใดที่ยังเห็นผู้บริโภคมีอันตรายอยู่ เราก็ไม่หยุด จะเอาสารพิษอันตรายกลับมาเพื่ออะไรคะ” พร้อมแนบลิงก์เพลง “ยุบเถอะ เลิกเถอะ” ซึ่งเป็นมิวสิกวิดีโอต้านสารพิษของ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงชื่อดัง 

แน่นอน เกมเปิดแล้วย่อมไม่มีใครหยุด เมื่อกลุ่มต้านอย่าง “ไทยแพน” ขยับ รับลูกโดย “มนัญญา” กลุ่มหนุนสารเคมีที่ตั้งท่าพร้อมอยู่ก่อนแล้วก็เดินหน้าเข้าหา “เสี่ยต่อ” โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย ไปยื่นหนังสือถึงนายเฉลิมชัย เมื่อบ่ายวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวอ้างถึงผลกระทบที่เกษตรกรได้รับจากการแบนสารพิษ ทำให้มีต้นทุนและหนี้สินเพิ่มขึ้น สารทางเลือกราคาแพงและใช้ไม่ได้ผล

ข้อเสนอของสมาคมฯ คือ ขอให้นายเฉลิมชัย ดำเนินการทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อนำไปสู่การทบทวนประกาศใหม่อีกครั้ง และขอให้นำมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่จำกัดการใช้สารพาราควอตมาใช้แทน

และยังมีคำขอที่ดูห่วงใยประชาชนเหลือคณาอีกด้วย โดยขอให้นายเฉลิมชัย ทำหนังสือถึงคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย

“สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ไม่ได้มาเดี่ยว แต่มากันแบบครบทีม มีทั้งตัวแทนเกษตรกร หมอ อดีตข้าราชการระดับสูง โดย  ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ  ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช กล่าวถึงประเด็นผลการศึกษาตรวจพาราควอตในเลือดหญิงมีครรภ์ และการตรวจพบในอุจาระเด็กแรกคลอด (ขี้เทา) ของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า รวบรัดเกินไป และย้ำว่าโรคภัยจากพาราควอตนั้นป้องกันและรักษาได้

อีกคนคือ นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการการเกษตร ที่ร่วมขบวนผลักดันเรียกร้องเอาพาราควอตคืนมา กล่าวถึงกระบวนการแบนสารพิษจนออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ไม่ชอบ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมากรมวิชาการการเกษตร ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเกษตร แต่คณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับเร่งรีบลงมติ

ฝ่ายสนับสนุนยกทีมกันมาหา “เสี่ยต่อ” ตามนัดหมาย จึงอย่าแปลกใจที่นายเฉลิมชัย จะรับเรื่องพร้อมกับชู้ตลูกจ่อประตูในทันที โดยรับปากทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมนำเสนอผลสำรวจจากนักวิชาการไม่พบสารพาราควอตตกค้างในสินค้าภายในประเทศ และเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการยกเลิกใช้สารพาราควอต

ท่าทีอีหรอบนี้ นายเฉลิมชัย จึงต้องรับศึกรอบด้าน ถูกตั้งคำถามรอบทิศทาง เพราะมติการแบนพาราควอต ผ่านถึงขั้นประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว และกระแสสังคมส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ไม่ใช่แค่การผลักดันของเอ็นจีโอไม่กี่คนเสียที่ไหน

หมัดสวนหนักสุดเห็นจะมาจากพรรครัฐร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดย “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในบทบาทรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระดมบุคลากรของกระทรวงฯ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้กลับทันควันในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายอนุทิน พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส จากกรณีนายเฉลิมชัย เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาทบทวนมติการแบนสารเคมีอันตรายดังกล่าว ด้วยการยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน มีข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการใช้สารเคมีเกษตรและเกิดการสะสมชัดเจน

 “..... ที่ผ่านมามีกระบวนการที่พยายามกดดันคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้มีการใช้สารเหล่านี้มาตลอด หากจำได้ มติการแบนสารเคมีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด แค่ 2-3 เดือน พอถูกกดดันก็เปลี่ยนแปลงอีก.... กรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาลต้องมีความมั่นคง แน่วแน่ ไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้

“..... ขอยืนยันว่ากรรมการ 2 คน ของกระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันมติการแบนสารเคมีอันตรายในภาคเกษตรเหล่านี้ โดยโหวตตามวิชาชีพแพทย์ ไม่ได้ไปกดดันใคร ซึ่งเรายืนยันแบบนี้มาตลอดไม่ใช่เฉพาะช่วงที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นเจตนารมณ์ที่มีมาตั้งแต่รัฐมนตรีคนก่อนๆ ซึ่งผมเห็นความสำคัญและมาสานต่อเจตนารมณ์....... ” นายอนุทิน กล่าว 

นพ.สุขุม กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากสารเคมีจะตกค้างตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จึงร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ นโยบายปี 2563 ซึ่งเป็นปีแห่งเกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าว่าประชาชนปลอดโรค ปลอดภัย ทั้งที่โรงเรียน โรงพยาบาล เรือนจำ และโรงแรม ต้องใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยมาประกอบอาหาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค

การเคลื่อนไหวของกระทรวงสาธารณสุข นับเป็นแรงกดดันที่สำคัญ โดยยกก่อนหน้า บรรดาโรงพยาบาลต่างๆ ต่างขึ้นป้ายต่อต้านการใช้สารพิษเกษตรกันอย่างครึกโครมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กระทั่งนำไปสู่มติห้ามใช้

หลังนายอนุทิน ออกนำทัพ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงงานวิจัยของ  ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เรื่องผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อตอกย้ำถึงอันตรายของสารพิษเกษตรอีกครั้ง

ศ.ดร.พรพิมล สรุปผลการวิจัยพบว่า ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูงจะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย ส่วนหลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20% และพบไกลโฟเซต สูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก

นอกจากนี้ ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย

ขณะที่สองรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลเปิดศึก ปฏิกิริยาจากเครือข่ายองค์กรเอ็นจีโอที่มีหัวหอกสำคัญคือ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายไทยแพน และไบโอไทย ก็ตั้งท่าสู้เต็มที่ และวางเป้าแบนพรรคประชาธิปัตย์ หากยังดันทุรังต่อไปไม่เลิก

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย จับพิรุธว่านายเฉลิมชัย ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการแบนสารพาราควอตโดยอ้างว่าได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกร ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าองค์กรดังล่าวเป็นตัวแทนของบริษัทค้าสารเคมีเกษตร ทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ และเคลือบแคลงใจในบทบาทและความจริงใจของพรรคประชาธิปัตย์ ทางเครือข่ายหารือและเห็นพ้องกันว่าหากนายเฉลิมชัย แจ้งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกเลิกการแบนพาราควอต เครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นเกษตรกร นักวิชาการ เอ็นจีโอ และประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะประกาศแบนพรรคประชาธิปัตย์ ทันที

 “.... การแบนครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน หากประชาธิปัตย์ไม่มีความจริงใจต่อประชาชน พรรคการเมืองนี้ก็ไม่ควรได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป แม้จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ก็มีโอกาสสูญพันธุ์ได้” ผอ.ไบโอไทย กล่าว 

ด้าน  นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่เสนอยกเลิกการแบนพาราควอตถือว่าไม่เหมาะสม เพราะเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปแล้ว และได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแล้ว ดังนั้น จะจับตาดูว่าเมื่อใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ชงเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ทบทวนการแบนพาราควอต เครือข่ายผู้บริโภคก็จะประกาศแบนพรรคประชาธิปัตย์ ทันที

 “.....ช่วงหาเสียง ทีมเศรษฐกิจของพรรคชูนโยบายแบน 3 สารพิษ ดังนั้น อยากให้รัฐมนตรีเกษตรฯ คิดทบทวนให้ดี พวกเรายังอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ มีที่เหยียบที่ยืนในสังคมไทย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว 

คนที่ปวดเศียรเวียนเกล้าจากการเปิดวอร์สารพิษยกใหม่นี้ของพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมกองหนุนของทั้งสองฝ่าย โดยมีบรรษัทข้ามชาติอยู่เบื้องหลัง เห็นจะไม่มีใครเกิน  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเพิ่งดึงฟืนออกจากกองไฟกรณีทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ ก็มาเจอกับศึกสารพิษเข้าให้อีก 
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเปิดศึกของสองพรรคร่วมรัฐบาลกรณีสารพิษเกษตรว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่กระทบกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะการทำงานย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันถือเป็นเรื่องปกติ เราต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน การคิดไม่เหมือนกันหรือคิดต่างกันก็เป็นไปได้ แต่ก็ต้องฟังเหตุฟังผลซึ่งกันและกันเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง

“รัฐบาลเองก็ต้องเลือกหนทางที่ดีที่สุดเพื่อชีวิตที่ดีของเกษตรกร ความปลอดภัยของผู้บริโภค และประชาชนซึ่งถือเป็นความสำคัญในอันดับต้นๆ ของทุกภารกิจ เพราะฉะนั้น ผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนจะต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ไม่ให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน .... ”

สัญญาณจากนายกรัฐมนตรี ทำให้ท่าทีของนายอนุทิน ในเวลาต่อมาซอฟท์ลง แม้ว่าจะย้ำหนักแน่นถึงการแบนสารพิษ แต่ก็ขอรอดูความเคลื่อนไหวของฝั่งนายเฉลิมชัย เสียก่อน

“.... ไม่ต้องกังวลเพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงสารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส ถูกแบนไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว ... ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศเป็นกฎกระทรวงออกมาแล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล .... “ นายอนุทิน กล่าวยืนยัน และยังบอกว่า ได้พบกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ แล้ว นายเฉลิมชัย บอกว่า มีคนร้องเรียนมาเลยเสนอเรื่องให้เจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการฯ พิจารณาเท่านั้น

"..... กระทรวงสาธารณสุข แถลงจุดยืนไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมว่า ยังคัดค้านการใช้สารเคมีเหล่านี้เพื่อการเกษตร แต่ก็ยังมีความพยายามของผู้ประกอบการ ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหา แต่คิดว่าคงไม่มีใครพิจารณาเข้าๆ ออกๆ เพราะของอันตรายก็คือของอันตราย.... เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ และเลขานุการ ว่าจะบรรจุเป็นวาระการประชุมหรือไม่ ซึ่งใครก็สามารถเสนอเรื่องได้แต่จะโหวตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ" นายอนุทิน กล่าว

 ศึกยกนี้สงบลงโดยพรรคประชาธิปัตย์เพลี่ยงพล้ำ ความพยายามของเลขาฯพรรคฯ ถูกสังคมตั้งคำถามทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ทุนข้ามชาติหรือไม่? จะเอาสารพิษกลับมาทำไม? นอกจากเสียจากว่าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังคิดจะถอนทุนตุนเสบียงเอาไว้เผื่อวันข้างหน้าในห้วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสภาพง่อนแง่นจะถูกเฉดออกจากพรรคร่วมเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะทำตัวเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุดก็แผลงฤทธิ์เรื่อง “เรือดำน้ำ” ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า กระแสเรื่องการอัปเปหิค่ายสีฟ้ามีมาอย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับกระแส “ดีลลับ” กับ “พรรคเพื่อไทย” เข้ามาร่วมรัฐบาลแทน ซึ่งถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ดังจะเห็นได้จากท่าทีอันเอื้ออาทรของ “พรรคเพื่อไทย” ที่มีต่อรัฐบาล เช่น กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาจนกลายเป็น “แผลเป็น” ที่ “พรรคก้าวไกล” ไม่สนิทใจในการทำงานร่วมกันจนถึงทุกวันนี้ 

ที่สำคัญคือถ้าปรับค่ายสีฟ้าออกไป กระทรวงใหญ่ๆ ที่พรรคพลังประชารัฐจำต้องยกให้ในการดีลร่วมรัฐบาล เช่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ก็จะกลับมาอยู่ในมือของพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำหนักการเคลื่อนไหวของ “เฉลิมชัย” ที่ดูเร่งรีบ เร่งร้อน รับเรื่องจากกลุ่มสนับสนุนสารเคมี ดูกระเหี้ยนกระหือรือเป็นพิเศษนั้น เป็นไปในทางที่สังคมสงสัยกันอย่างบังเอิญ ?

อะไรต่อมิอะไรจึงชวนสงสัยในท่าทีเร่งรีบ เร่งร้อนของ “เสี่ยต่อ” ที่รับเรื่องจากกลุ่มหนุนสารเคมีด้วยท่าทีกระเหี้ยนกระหือรือเป็นพิเศษ งานนี้ เสี่ยต่อ” ต้องตอบข้อสงสัยสังคมให้ชัด ประชาชนมาก่อน หรือบริษัทค้าสารเคมีมาก่อน ?!! 


กำลังโหลดความคิดเห็น