ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน จะจัดกิจกรรมเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึง "เยาวชนทุกกลุ่ม"
แต่ยังไม่ยืนยันว่า มีกลุ่มเยาวชน กลุ่มไหนพร้อมร่วมเวทีบ้าง สภาพัฒน์ บอกว่าหลังจากมาจัดที่กรุงเทพฯ แล้วจะค่อยๆเวียนไปยังจังหวัดอื่นๆ อยากได้เยาวชน เข้ามาพูดคุย ประมาณ 120 คนขึ้นไป ระหว่างวันที่ 2-3 ก.ย.63 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี แม้จะประเดิมไปแล้ว ก่อนการประชุมครม..สัญจร ที่ จ.ระยอง ภายใต้ชื่อการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีแสดงพลังสร้างสรรค์ของประชาชนคนรุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีนักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน ทั่วจ.ระยอง เข้าร่วมทั้งสิ้น 99 คน จาก 37 สถาบัน
"สภาพัฒน์ โยนคำถามเป็นประเด็นให้เยาวชนแสดงความคิดเห็น โดย"ใช้ภาษาให้จ๊าบ" สอดคล้องความเข้าใจ และความสนใจของเยาวชน และ"กระตุกต่อมคิด" จากภาพข่าวของภาครัฐ ในการประชุมครม.สัญจร ที่จ.ระยอง จะเห็นว่ารัฐบาลเปิดให้ตัวแทนนักเรียนนักศึกษาที่ร่วมระดมสมอง เข้าไปนั่งในห้องประชุมครม.ด้วย
เป็นตัวแทนเด็ก กลุ่มละ 1 คน นำ "ผลเวิร์กชอป" เสนอต่อที่ประชุมครม. ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่สภาพัฒน์กำหนดไว้แล้ว ที่ส่วนใหญ่เน้นประเด็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
เวทีนี้ได้วิทยากรจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมสร้างความเข้าใจ กับ " 7 กลุ่มย่อย"ได้แก่ (1) การศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร (2) EECและเศรษฐกิจระยอง (3) คุณภาพสิ่งแวดล้อมและแนวทางการแก้ไขปัญหา (4) E-Sport กับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ (5) จังหวัดระยอง ในอนาคต (2025) (6) มุมมองคนรุ่นใหม่ต่อโรคโควิด-19 และ (7) การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนา
ตรงนี้หาอ่านได้ตามข่าว มติครม. 25 ส.ค.63
ไม่มีประเด็น "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การเมือง"
อย่างไรก็ตาม มติครม.ดังกล่าว ให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเจ้าภาพรวบรวมข้อเสนอไปกำหนดนโยบาย "ในอนาคต"
ช่วงเดียวกัน เมื่อ 24 ส.ค นักเคลื่อนไหวระดับมัธยมศึกษา ที่เรียกตัวเองว่า "ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย" (AST)และ Uncommon International Group (UNG)เข้ายื่นข้อร้องเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ข่าวว่า ได้เปิดเผยรายชื่อโรงเรียนอย่างน้อย 109 แห่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นและคุกคามนักเรียนที่ร่วมแสดงออกทางการเมืองในรั้วโรงเรียน มีข้อมูลจากกลุ่มนี้ เป็น “แพลตฟอร์มการรับเรื่องร้องเรียน" ที่ถูกพัฒนาโดยนักเขียนโปรแกรมระดับมัธยม และนักศึกษา ใช้เวลาราว 1 สัปดาห์เท่านั้น เพื่อเป็นช่องทางให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองถูกข่มขู่คุกคามจากการแสดงออกทางการเมือง ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังภาคีนักเรียนฯ ผ่านระบบออนไลน์
ข้อมูลทั้งหมดถูกยื่นต่อ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ คณะทำงาน รมว.ศธ.ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรี และ นายวัลลพ สงวนนาม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการด้วยการให้ผู้บริหารกระทรวง "สแกนคิวอาร์โคว้ด" จากนั้นรายชื่อโรงเรียนที่ถูกเยาวชนร้องเรียน ก็จะปรากฏขึ้นมา ตามด้วย "คิวอาร์โคว้ด ชุดที่ 2" ที่แสดงหลักฐานการร้องเรียนเบื้องต้นจากนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ
กลุ่มผู้บริหาร รับปากจะนำข้อมูลทั้งหมดไปรายงาน "นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ." ในวันที่ 15 ก.ย. เนื่องจากมีนโยบายให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนอยู่แล้วในทุกประเด็น อาทิ การคุกคามในสถานศึกษา, หลักสูตรการเรียนการสอน, ทรงผม โดยให้นักเรียนนำเสนอประเด็นได้อย่างอิสระ และคาดการณ์ว่าจะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปดำเนินการต่อไป
ขณะที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย - Associate of students in Thailand'เมื่อ 24 ส.ค. เผยแพร่ข้อเสนอด้านมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล โดยสรุปดังนี้
เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ด้านการคุกคาม ข่มขู่ ทำร้าย บุคลากรทางการศึกษา อาทิ นักเรียน นักศึกษา ครู ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการต่างๆ ที่ปราศจากมาตรการการป้องกันที่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากรายงานของการรับคำร้องเรียนที่เกี่ยวกับ การข่มขู่ คุกคาม จากประกาศ เรื่องการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา และ การเปิดรับฟังความคิดเห็น ของนักเรียนนักศึกษา ที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของรัฐธรรมนูญ ที่สอดคล้องกับหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ
ทางกลุ่มได้นำไปทำการศึกษา วิพากษ์ อภิปราย รับรายงาน จากนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาจากทั่วประเทศ ควบคู่กับการสอดส่องความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจทางการศึกษา ว่ามีการออกมาตรการการรับมืออย่างไร มีความเถียรภาพ และประยุกต์ได้จริงหรือไม่
ผลลัพธ์ที่มาจากการแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็น และการศึกษาที่สอดคล้องกับประกาศข้างต้นและอื่น ๆ ในวงกว้าง (รับข้อร้องเรียน สังเกตุความเคลื่อนไหวทางสังคม และเปิดพื้นที่สนทนาสาธารณะ) สรุปได้ว่า มาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษา และความไม่โปร่งใสของข้อมูล ที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะชนของทางกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้รับผลตอบลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และไม่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ปัญหาได้จริงในระดับประเทศ ที่มีเรื่องของความแตกต่างทางแนวคิด สังคม สถานะ วิถีชีวิต และโอกาส มาเกี่ยวข้อง
จากการรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการของ AST และ UNG เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปด้านข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่าด้วยมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล
ทางคณะบริหารของ ASTและ UNGขอประกาศความท้าทาย เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างจริงจัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. หลังจากที่ตัวแทนจากกลุ่ม ได้นำข้อเสนอ ฯ ขอกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการออกแถลงการณ์มาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ที่สอดคล้องกับความยืดหยุ่นในการแสดงออกต่าง ๆ ภายใต้สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยึดตามโครงสร้างทางสิทธิและเสรีภาพ ความเท่าเทียม การกระจายโอกาสในระดับสากล ที่มาพร้อมกับแนวทางการป้องกันปัญหาด้านการข่มขู่ คุกคาม และการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะที่ไม่โปร่งใส ในวันที่ 27 ส.ค.63
หาก ทางกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถออกประกาศมาตรการการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้นได้ ทางกลุ่ม จะแสดงตัวเป็นผู้นำสาธารณะในการออกแถลงการณ์มาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะในวงกว้าง และดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ตามแผนที่เตรียมไว้ อาทิ การรวบรวมข้อมูลและวางแผนพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์มสาธารณะ ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรทางการศึกษาในวงกว้าง ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับการป้องกันการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล และการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมในอนาคต
แต่หาก สามารถออกประกาศมาตรการการดำเนินการต่างๆ ที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้นได้ รวมถึงทางคณะบริหารของกลุ่ม มีความเห็นพ้องตรงกันตามหลักประชาธิปไตย ว่าประกาศฯนั้น สามารถเป็นที่ยอมรับได้และใช้ได้จริง และยืนหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความเหมาะสมในอนาคตอย่างสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้น ทางกลุ่มจะดำเนินการที่สอดคล้องกับการรับฟังข้อคิดเห็นของสาธารณชน เพื่อสนับสนุนมาตรการการดำเนินการต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ
2. ขอความกรุณาจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการเผยแพร่ระบบใดๆ ที่เป็นส่วนนำร่องแนวทางเพื่อรับมือกับมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของทางกระทรวงศึกษาธิการเอง ในวันที่ 1 ก.ย.63
หากทางกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถเผยแพร่ระบบ ที่จะสามารถรองรับประกาศ ฯ ที่เหมาะสมของตนได้ ทาง กลุ่มฯจะออกระบบที่จะมารองรับและสอดคล้องกับประกาศมาตรการการดำเนินการของทางกลุ่มเอง จะแสดงตัวเป็นผู้นำสาธารณะในการเผยแพร่ระบบเพื่อรองรับมาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะในวงกว้าง และดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ตามแผนที่เตรียมไว้ แต่หากทางกระทรวงศึกษาธิการ สามารถเผยแพร่ระบบที่รองรับมาตรการการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับประกาศของทางกระทรวงฯ ที่เป็นที่ยอมรับได้ รวมถึงทางคณะบริหารของกลุ่ม มีความเห็นพร้องตรงกันตามหลักประชาธิปไตยว่า ระบบนั้น ๆ สามารถเป็นที่ยอมรับได้และใช้ได้จริง และยืนหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความเหมาะสมในอนาคตอย่างสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้น ทางกลุ่ม จะดำเนินการที่สอดคล้องกับการรับฟังข้อคิดเห็นของสาธารณะชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ
ตอนที่เขียนเรื่องนี้ ไม่รู้ว่า กลุ่มจะได้รับความคืบหน้าอย่างไร หลังจากข้อมูลได้ผ่านระบบ open chat จากผู้ร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิโดยใคร เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยประชาชนทั่วไป, ให้ชื่อสถานศึกษา/หน่วยงานที่ต้องการร้องเรียน, ระบุชื่อผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิของผู้ร้องเรียน พร้อมแนบวิดีโอหรือภาพประกอบคำร้อง โดยข้อมูลของผู้ร้องเรียนจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
ขณะที่ข้อมูลเบื้องต้น ได้มีการสอบทานข้อมูลจากผู้ร้องเรียนผ่านระบบ open chat ก่อนส่งเรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียนต่อไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในจำนวนนี้ คือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยได้ส่งข้อมูลชุดแรกให้ กมธ. แล้ว แว่วว่า ขณะนี้กลุ่มนักเรียนนักศึกษา เตรียมเดินหน้าในหลายพื้นที่ เช่น ในวันที่ 5 ก.ย. กลุ่มนักเรียนเลว เตรียมไปขอพบ รมว.ศึกษา อีกครั้ง หรือ กลุ่ม ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย ก็พร้อมเข้าไปขอรับฟังความคืบหน้าจากข้อเสนอข้างต้น รวมไปถึง เยาวชนปลดแอก ก็พร้อมดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้า รมว.ศึกษาธิการ ก็มีคิวต้องไปแจ้งต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
เวทีทั้งหมดนี้ เป็นการสรุปผลการเคลื่อนไหว จากกรณีที่ตลอดเดือน ส.ค. มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาหลายโรงเรียนทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติ" เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และ "ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ" ทว่าได้ปรากฏภาพและคลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ว่าครูบางส่วนได้พยายามปิดกั้นการแสดงออกของเด็ก ๆ
แต่ตอนนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่า ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย นักเรียนเลว เยาวชนปลดแอก หรือกลุ่มอื่นใด จะเข้าร่วมเวทีแสดงพลังสร้างสรรค์ของ "ประชาชนคนรุ่นใหม่" ของคนรุ่นใหม่ ด้วยภาษา "จ๊าบ"ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ ที่จัดโดยรัฐบาล หรือไม่.