xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ตำรวจ” ออกหมายจับใหม่ “บอส-กระทิงแดง” แต่ “อัยการ” ยังลอยตัวและ “สิระ” มวยล้มต้มคนดู??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในคดี “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา”  ขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ ชน  ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555 ฝากฝั่ง “สำนักงานอัยการสูงสุด” ดูเหมือนจะ  “ตัดจบ”  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยความน่าสนใจหลังจากคณะกรรมการอัยการ(กอ.) ที่มี “อรรถพล ใหญ่สว่าง” มีมติไม่ตั้งกรรมการสอบการใช้ “ดุลยพินิจ”  ของ “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุดในการสั่งไม่ฟ้องบอส อีกหนึ่งคณะกรรมการที่  “นายวงศ์สกุล กิติพรหมวงศ์”  อัยการสูงสุด ตั้งขึ้นมา ตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ที่มี “นายสมศักดิ์ บุญทอง”  อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงานก็ประกาศลาออก

นายวงศ์สกุลตั้งคณะทำงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา และนายสมศักดิ์ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลในเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์พบว่า อดีตรองอัยการสูงสุดผู้นี้ได้มีข้อเสนอแนะในการตั้งกรรมการชุดใหม่ไว้ 4 ข้อดังนี้


 (1) ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการตามระเบียบใหม่ซึ่งได้แก่ อสส. น่าจะหาคนที่เป็นกลางมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับของสังคมมิใช่คนใกล้ชิด อสส.และประธาน ก.อ.เป็นกรรมการตรวจสอบ


(2) ให้กรรมการตรวจสอบมีอำนาจตรวจสอบในทุกประเด็นไม่ใช่มีข้อจำกัดสอบได้เฉพาะบางประเด็น ต้องให้เกียรติกรรมการ


(3) ผู้มีอำนาจหรือเคยมีอำนาจในสำนักงานอัยการสูงสุดเลิกออกความเห็น ชี้นำกรรมการไม่มีกรรมการคนไหนอยากทำงานท่ามกลางความขัดแย้ง มีข้อจำกัด และมีข้อชี้นำจากผู้มีอำนาจ


(4) ศรัทธาของประชาชนจะกลับคืนมาได้ความสามัคคีของผู้มีอำนาจต้องเกิดขึ้นก่อน จริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันไม่ใช่เอาปัญหามาเป็นเกมในการแย่งชิงอำนาจ ร่วมกันแก้ปัญหาเถอะครับ  ดังนั้น จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กันขรมทั้งแผ่นดินว่า เรื่องเก่าๆ ในฝั่งของสำนักงานอัยการสูงสุดน่าจะจบสิ้นลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใช่หรือไม่ แม้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) เผยผลสำรวจคดี “บอส อยู่วิทยา” สิ่งที่ประชาชนรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดคือ การทำคดีล่าช้า และดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและอิทธิพลของกลุ่มนายทุน
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความมืดมนอนธการ ดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะ “ล้อมคอก” เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดเตรียมออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับรองอัยการสูงสุดซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน โดยอยู่ระหว่างรอประกาศราชกิจจานุเบกษา

 ความน่าสนใจของระเบียบนี้อยู่ตรงที่เมื่อมีผู้เสนอเรื่องต่อ ก.อ. กล่าวหารองอัยการสูงสุดว่ากระทำผิดวินัย ให้ ก.อ.พิจารณาสอบสวนขั้นต้นเพื่อให้ได้ความจริงและเป็นธรรมโดยมิชักช้า 

แปลไทยเป็นไทยก็คือ นายเนตร นาคสุขคงจะปลอดภัยไร้มลทิน แต่จะมีการ “ล้อมคอก” เพื่อกระชับกระบวนการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของ “รองอัยการสูงสุด” ให้ไร้ช่องว่างช่องโหว่ เพราะการออกระเบียบดังกล่าวบ่งบอกชัดเจนว่า ไม่เคยมีระเบียบและกฎหมายในลักาณะนี้มาก่อน

สำหรับในฝากฝั่งของ  “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” กลับมีความคืบหน้าให้เห็นโดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ร.ต.อ.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ รอง สว.(สอบสวน) สน.ทองหล่อ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งเป็นหมายจับเดิมที่เหลืออยู่ข้อหาเดียว พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับนายวรยุทธ 3 ข้อหา ประกอบด้วย

 1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหายมีผู้ถึงแก่ความตาย 2.ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และ 3.ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที และเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) โดยผิดกฎหมาย 

การขอออกหมายจับดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลออกมา แต่ก็แสดงให้เห็นว่า มีความผิดพลาดในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเกิดขึ้นจริงดังที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า คดีที่พลิกกลับมา “ทำใหม่” นี้จะเดินหน้าไปอย่างไรและจะมี “ใคร” ได้รับโทษสักกี่มากน้อย

ส่วนการสะสางปัญหาโดย  คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มี  นายวิชา มหาคุณ  ประธาน ก็มีปัญหาพอสมควร เนื่องจากการีตรวจสอบในบางประเด็นยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จะมีการต่ออายุไปอีก 30 วันเพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์

“ที่ประชุมได้หารือกันเพื่อทำรายงานเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 โดยจะทำโครงสร้างและรวบรวมเพื่อนำไปสู่การทำรายงานฉบับใหญ่ เพราะครบกำหนด 30 วัน โดยจะดำเนินการยื่นในวันที่ 31 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม บางประเด็นอาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะเวลา 30 วันที่ทำหน้าที่ถือว่าน้อยมาก ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หยุด และถึงที่สุด ถือว่าเราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเสนอนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งการทำสำนวนคดีตั้งแต่แรกว่ามีข้อบกพร่องอะไร และขั้นตอนของอัยการก็ใช้เวลานาน เนื่องจากมีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ เราได้ขอความเห็นจากอดีตอัยการสูงสุดถึง 4 คน เพื่อให้ช่วยดูว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นกรณีที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่และควรจะปรับปรุงอะไร ทั้งหมดถือเป็นประโยชน์มาก เพื่อนำไปสู่การประกอบความเห็น เพื่อให้แน่ใจว่าจุดบอด จุดบกพร่องของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน”

“ในการจัดทำข้อสรุปคดีนี้ นายกฯเห็นด้วยกับรายงานของเราที่บอกว่า การเป็นผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำสูงสุดขององค์กรต้องรับผิดชอบ จะไปสั่งการแล้วบอกว่าไม่ติดตามไม่ดูแลไม่ได้ แต่จะต้องลงลึกถึงตรงนั้น ส่วนจะรับผิดชอบแค่ไหน ต้องไปดูรายละเอียด เพราะเราพูดกันมากว่า ถึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดระเบียบ ก็อาจจะผิดจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่าหากผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกดำเนินการเหมือนกัน”อาจารย์วิชาอธิบายและยืนยันว่า กระบวนการออกหมายจับครั้งใหม่ของนายวรยุทธ เป็นผลพวงมาจากคณะกรรมการชุดนี้ที่ได้แจ้งกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่า มีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง

แต่ที่พิสดารและแหกโผมาก็คือท่าทีของ “สิระ เจนจาคะ” ในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่ประกาศยุติการสืบสวนสอบสวนกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ไปเสียดื้อๆ

 ใครๆ ก็รู้ว่า “สิระ” เป็น “เด็กใคร” และมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับบรรดา “Deep State” ในรัฐบาลนี้อย่างไร  

ดังนั้น การที่ กมธ.ซึ่ง “สิระ” เป็นประธานตัดจบการตรวจสอบคดีบอสจึงถูกตีความได้ว่า เพื่อมิให้มีการ “ลากไกลไปมากกว่านี้” เพราะอาจจะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับ “ตัวละคร” ที่มีบทบาทสำคัญในการเป่าคดี ดังนั้น การที่อยู่ๆ “สิระ” เลิกงานกลางคัน จึงถูกไม่น่าแปลกใจอะไรที่ถูกมองว่าเป็น  “มวยล้มต้มคนดู”  แม้ว่าเขาจะปฏิเสธก็ตาม
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การตัดจบของสิระหนีไม่พ้นที่จะกระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาล ทั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้คือรัฐบาล คสช.และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งว่า มิได้สนใจใยดีที่จะ  “ปฏิรูปบ้านเมือง”  ดังที่ได้ประกาศไว้แต่อย่างใด

 จะใช้คำว่า “สอบตก” ในเรื่องนี้ก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก. 


กำลังโหลดความคิดเห็น