xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้การเมือง-นายทุนเป่าคดี“บอส” เชื่อมั่นยุติธรรมวูบ ตร.ยันสอบสปีดรถ-โคเคนทันเส้นตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเปิดผลโพลคดี “บอส” ประชาชนเชื่อมีอำนาจมืดทั้งฝ่ายการเมืองและกลุ่มนายทุนเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เผยรับไม่ได้กรณีถ่วงเวลาจนคดีหมดอายุความ แทรกแซงจนทำสำนวนล่าช้า ไม่พอใจกฎหมายใช้ไม่ได้กับทุกคน กระบวนการยุติธรรมซื้อได้ด้วยเงินและอำนาจ ส่วนความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมลดวูบเหลือ 0.99 คะแนนจากเต็ม 5 สน.ทองหล่อ ย้ำเร่งสอบเพิ่มคดีความเร็วรถ เสพยา มั่นใจส่งอัยการทันเส้นตาย 28 ส.ค.นี้ ด้านทนายสุกิจ ยันรื้อคดีไม่ได้ จี้คืนพาสปอร์ต

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยถึงผลการสำรวจ "โพลล์คดีบอส เขย่ากระบวนการยุติธรรม” ว่า ผลสำรวจในครั้งนี้ ได้ทำแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ความรู้สึกและความคาดหวังต่อคดี และความรู้สึกและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม โดยผลที่ออกมา สิ่งที่คนรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ส่วนหนึ่ง คือ คดีนี้ดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและจากอิทธิพลของกลุ่มนายทุน

ทั้งนี้ ในการตอบแบบสอบถาม มีประชาชนทุกกลุ่มอายุร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 4,008 คน และในจำนวนนี้ 2,056 คน มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เคยเรียนหรือทำงานในด้านที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่เคยเข้าสู่กระบวนการทางคดี เช่น เป็นพยาน ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย และกลุ่มที่มีประสบการณ์ทั้ง 2 ลักษณะ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับแบบสอบถามในส่วนของความรู้สึกและความคาดหวังต่อคดี มีเรื่องที่ผู้ตอบรู้สึกไม่ดีหรือรับไม่ได้มากที่สุด มี 2 เรื่อง และมีคะแนนใกล้เคียงกัน คือ อันดับหนึ่ง การทำสำนวนคดีที่ยืดระยะเวลาออกไปอย่างไม่มีเหตุสมควรจนคดีหมดอายุความ และรองลงมา คดีนี้ดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและจากอิทธิพลของกลุ่มนายทุนในเรื่องการทำสำนวนล่าช้า ส่วนอันดับสาม คนมีประสบการณ์ไม่พอใจกับการมีพยานบุคคลเพิ่มเติมหลังผ่านไปหลายปีมาหักล้างความผิด โดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และคนไม่มีประสบการณ์จะมองเรื่องการพบสารเสพติดในเลือดของผู้ต้องหาแต่ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา

“TIJ มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินคดีในฐานความผิด “ขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” พบว่าคดีในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีระยะเวลาดำเนินคดีในชั้นตำรวจ 14 วัน โดยคดีที่ทำสำนวนได้รวดเร็วที่สุด ใช้เวลาเพียง 3 วัน และช้าที่สุดอยู่ที่ 284 วัน ส่วนในชั้นพนักงานอัยการ ตั้งแต่การรับสำนวนถึงมีคำสั่งฟ้อง ส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 8 วัน คดีที่เร็วที่สุดใช้เวลา 1 วัน และช้าที่สุด 344 วัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าในภาพรวมไม่พอใจอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับการดำเนินคดีนี้ ผู้ตอบถึง 56.76% ระบุว่าไม่พอใจที่กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค เพราะกระบวนการยุติธรรมถูกซื้อได้ด้วยเงินและอำนาจ

ส่วนความความคาดหวังต่อคดี ผู้ตอบกว่า 89% ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างละเอียด สวบสวนและดำเนินคดีผู้ที่ร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ต้องรื้อคดีใหม่ ทั้งขับรถโดยประมาท และใช้ยาเสพติด รวมทั้งต้องนำตัวผู้ต้องหากลับมารับโทษให้ได้ หากศาลตัดสินว่าผิดจริง

นายกิตติพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของความรู้สึกและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม พบว่า ก่อนที่จะทราบรายละเอียดความผิดปกติในคดีของนายวรยุทธ ค่าเฉลี่ยของความเชื่อมั่นมีคะแนนอยู่ที่ระดับ 2.40 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน แต่เมื่อทราบรายละเอียดของคดีนี้แล้ว ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม ลดเหลือเพียง 0.99 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยมีผู้ตอบถึง 46% ที่ให้เพียง 0 คะแนน และยังมีความเห็นให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม โดยมีผู้ให้ความคิดเห็นถึง 2,893 คน ซึ่งคิดเป็น 72.18% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

ขณะที่บทบาทของ “ตำรวจ” ในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานและทำสำนวนคดี ผลสำรวจระบุว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ หรือ 57.86% เห็นด้วยว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมแล้ว ที่เหลือ 26.48% บอกว่าไม่เหมาะสม และ 15.66% ตอบว่าไม่แน่ใจ ส่วนบทบาทของ “อัยการ” ผู้ตอบ 73.97% เห็นว่าการถ่วงดุลการทำงานของตำรวจโดยการตรวจสำนวนและใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง มีความเหมาะสม แต่ 75.98% บอกว่าอัยการควรมีบทบาทในการสอบสวนและการทำสำนวนมากขึ้น ขณะที่บทบาทของ “ศาล” ผู้ตอบ 82.27% บอกว่า ศาลควรมีบทบาทมากขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาทั่วไป เพิ่มเติมจากการพิจารณาตามสำนวนที่ส่งมาเท่านั้น และ 85.48% ยังเห็นว่า การใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มาให้การประกอบการพิจารณาคดี ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอกมากกว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม และอีก 82.09% เห็นว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ควรมีน้ำหนักมากกว่าพยานบุคคล

ส่วนคำถามว่าคดีนี้สะท้อนปัญหาจากช่องโหว่ของระบบหรือตัวบุคคล ได้ผลสรุปที่น่าสนใจ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ระบบงานกระบวนการยุติธรรมดีอยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาเพราะผู้ปฏิบัติไม่สุจริตหรือไม่มีประสิทธิภาพ และยังเห็นว่าคดีนี้ จะมีส่วนผลักดันให้คนในกระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างโปร่งใสขึ้น และเกิดการปฏิรูประบบงาน โดยมีสัดส่วนเท่ากันทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอว่าควรจะมีช่องทางให้ประชาชนติดตามขั้นตอนและผลการพิจารณาคดีต่างๆ ตามที่สนใจได้อย่างสะดวก แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีโดยตรง

วันเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนเพิ่มเติมสำนวนคดีนายวรยุทธ ว่า ประเด็นความเร็วรถที่อัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ขณะนี้เหลือพยานอีก 1 ปากที่ยังต้องสอบ คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ซึ่งเบื้องต้นได้ให้ข้อมูลมาบางส่วนแล้ว แต่จะต้องเชิญมาสอบถามข้อมูลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาคดีเสพโคเคน ได้เริ่มสอบสวนซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ กำหนดประเด็นและบุคคลที่จะทำการสอบสวนไว้แล้ว บางส่วนก็เป็นบุคคลเดิมที่เคยให้ข้อมูลไว้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จในวันที่ 28 ส.ค.2563 เพื่อส่งสำนวนให้อัยการตามกำหนดนัดอย่างแน่นอน

ด้านนายสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความ กล่าวถึงคดีนายวรยุทธว่า การตั้งคณะทำงานและตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ขึ้นมา เป็นเพียงการตั้งขึ้นมาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ โดยสาเหตุที่รื้อ เพราะความเห็นของประชาชน จึงอยากฝากบอกว่าอย่าเอาเสียงของประชาชนมาทำลายกระบวนการยุติธรรม โดยมองว่าคดีนี้เป็นคดีการเมือง ไม่ใช่คดีอุบัติเหตุทั่วไป ส่วนใครอยู่เบื้องหลัง ก็ทราบกันอยู่ มองว่าบอสถูกกลั่นแกล้ง และจากการติดตามข่าว รู้ว่าบอสอยากจะกลับมาไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศคืนพาสปอร์ต ให้เขากลับมาที่ไทย ใช้ชีวิตเหมือนผู้บริสุทธิ์ทั่วไป จึงอยากขอความเป็นธรรมให้บอส อย่ารังแกกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น