xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คลังถังแตก-วังวนน้ำเน่า” รับน้องใหม่“ขุนคลังปรีดี”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ความท้าทายในการทำงานของผม แม้ว่าบรรยากาศยังไม่เป็นใจมากนัก แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยก็ยังแข็งแกร่ง ทั้งแนวรบภายนอกและภายใน ทำให้ไทยมีภาวะเศรษฐกิจที่ทนทาน แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาสที่ผ่านมา ไม่หดตัวมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน โดยอัตราการเติบโตของไทย ติดลบ 12.2% สิงคโปร์ ติดลบ 13.2% มาเลเซีย ติดลบ 17.1% จึงเชื่อว่าประเทศไทย ได้ผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจกำลังเริ่มจะพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้าจะขยายตัว 4-5%”

คือคำประกาศ “เรียกความเชื่อมั่น” ของ “ขุนคลังป้ายแดง”  ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง 
จริงๆ แล้วตัวเลข 4-5% ของจีดีพีที่เป็นเป้าขยายตัวปีหน้านั้น หากไม่มีวิกฤตอะไรมาซ้ำอีก ก็ไม่ได้สูงเกินกว่าเอื้อมถึง เป็นไปอย่างที่ “ปรีดี” ว่าไว้ว่า ประเทศไทยยังมีพื้นฐานที่ดีด้านเศรษฐกิจ บวกกับความแข็งแกร่งของมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19
หากฟังผิวเผินก็อาจจะ “เคลิบเคลิ้ม” ไปกับ “ทั่นขุนคลัง” แล้วเชียว แต่ก็อดคิดถึง “ข่าวร้าย” เมื่อสัปดาห์ก่อนไปไม่ได้ ที่ว่า “รัฐบาลถังแตก เงินคงคลังไม่พอใช้”

จนคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติกู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.14 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยรายจ่ายขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเงินกู้ในรอบปีงบประมาณ 2563 นั้นไม่เพียงพอ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลงราว 9% หรือกว่า 3-4 แสนล้านบาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

โดยเฉพาะรายการเงินเดือนข้าราชการที่เป็นรายจ่ายตายตัว

ที่ว่า “รัฐบาลถังแตก” ยิ่งน่าหวาดวิตกไปใหญ่ เพื่อมีการเปิดเผยว่า การกู้เงิน 2.14 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นการ “กู้เต็มเพดาน” ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด สำหรับปีงบประมาณ 2563 ที่สามารถกู้ได้ 6.38 แสนล้านบาท

หากการจัดเก็บรายได้ไม่กระเตื้องในช่วงไตรมาสสุดท้าย ก็ยังเท่ากับว่า “เงินคงคลัง” ที่จำเป็นต้องใช้ยังขาดไปอีกอย่างน้อย 1 แสนกว่าล้านบาท

ไม่นับรวมก่อนหน้ากับมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท จำนวนนี้เป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะยืนยันว่า ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำกว่า 60% หลังรวมการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในทางบัญชีแล้วก็ตาม

สถานการณ์ตอนนี้ก็เท่ากับ “ปรีดี” โดดลงมารับ “เผือกร้อน” เต็มมือ

ร้อนแค่ไหนไม่ทราบ แต่ ครม.สัญจร ที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ต่างจังหวัดครั้งแรกๆของ “รมว.ปรีดี” กลับเลือกที่จะไม่ชวน “นักข่าวกระทรวง” ติดตามไป เพื่อถือโอกาสสร้างความคุ้นเคย

จนเม้ากันกระหึ่มว่า “ปรีดี” พยายามเลี่ยงการชี้แจงกรณีเงินคงคลังไม่พอจ่าย จนต้องขอ ครม.กู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท กันเลยทีเดียว

แนวโน้มอย่างนี้ทำให้ “ฝัน” จีดีพี 4-5% ในปีหน้าก็เป็นได้แค่ “ฝัน” ในเมื่อเครื่องยนต์สำคัญอย่าง “ส่งออก-ท่องเที่ยว” ก็ยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจองค์รวมของโลกก็ยังหัวทิ่มอยู่
หากในสถานการณ์ปกติ ช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ ในเดือน ต.ค.ของทุกปี ถือจะเป็นช่วงที่สดใดของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สำหรับปีงบประมาณ 2564 อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น หากดูแนวโน้มจากปีงบประมาณ 2563 ช่วงวิกฤตโควิด-19
ต้องไม่ลืมว่า งบประมาณปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะผ่านสภาฯในเดือน ก.ย.นี้นั้น เป็นงบประมาณขาดดุลอีก 6 แสนล้านบาท ซ้ำร้ายแผนงานโครงการต่างๆก็ยังไม่ได้ปรับให้เข้ากับสถานการณ์หลังโควิด-19 เท่าที่ควร ส่งผลให้แนวโน้มการเก็บรายได้ น่าจะเข้าอิหรอบเดียวกับปี 2563 ที่ไม่ได้ตามเป้า

โอกาสที่ต้องกู้เงินเพิ่มเพียงมาอุดช่วงโหว่ก็มีความเป็นไปได้สูง

ซ้ำร้าย “ฝี” ที่ปลูกไว้ ก็อาจจะ “แตกโพละ” เร็วๆนี้

อย่างมาตรการการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6-7 เดือน จากผลกระทบการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของสถาบันการเงินต่างๆ กำลังจะ “หมดโปรฯ” ช่วงสิ้นเดือน ต.ค.63 เสียด้วย

ตามรายงานมี “ลูกหนี้” ที่เข้าโปรแกรมกว่า 16.3 ล้านราย ยอดหนี้รวม 6.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดหนี้รวมในสถาบันการเงินทั้งประเทศ

คำถามมีว่า จะมีซักกี่มากน้อยที่สามารถกลับมาชำระหนี้ปกติได้ และน่ากลัวว่าจะกลายเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ซ้ำวิกฤตขึ้นมาอีก
แม้ว่า “ปรีดี” จะอยู่ในทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และถูกเส้นสนกลไกภายในรัฐบาลพอสมควร หากแต่ก็คงไม่ต่างจากการเล่นกีฬา ที่ทั้ง “สนามซ้อม-สนามจริง” ก็ต่างกัน บทบาทการเป็นที่ปรึกษา หรือลงมาเล่นเอง ก็ยิ่งต่างกันไปใหญ่
สำคัญไปกว่านั้นการประสานงานภายในกระทรวงการคลังก็ส่อเค้าจะมีปัญหากัน ระหว่าง “ปรีดี” กับ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง  ที่อยู่มาก่อน
น่าสนใจว่าเป็นเวลามากกว่าครึ่งเดือนแล้วที่ “ปรีดี” เข้ามารับตำแหน่ง แต่ยังไม่ปรากฏการแบ่งงานที่เป็นทางการออกมา

ที่สำคัญในทางการเมืองรู้กันดีว่า การปรับ ครม.งวดนี้ “สันติ” เป็นคนหนึ่งที่ช้ำพอสมควร เพราะต้องการอัพเกรดขึ้นเป็น รมว.คลัง หรือไปเป็น “ว่าการ” ที่อื่น ในฐานะที่เคยผ่านประสบการณ์ “กระทรวงเกรดเอ” มาแล้ว

แต่ด้วยติด “โควตานายกฯ” จนไม่สามารถขยับไปไหนได้ จึงต่อรองขอดูแลหน่วยงานเพิ่มขึ้น

จากเดิมที่เคยได้รับการมอบหมายให้ดูแล กรมธนารักษ์, กรมบัญชีกลาง, กรมศุลกากร, บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.), องค์การสุรา, โรงงานไพ่ และในส่วนของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

แม้ปริมาณงานเดิมจะไม่ได้ขี้เหร่ แต่ก็มีข่าวว่า “สันติ” หมายตาอยากดูแล “กรมขุมทรัพย์” อีกแห่ง นั่นคือ “กรมสรรพสามิต” หน่วยงานจัดเก็บรายได้สำคัญของประเทศ

แต่ก็ไม่ยอมที่จะเสีย “กรมศุลกากร” ที่เป็นหน่วยจัดเก็บรายได้มากที่สุดไป

อันน่าจะเป็นเหตุทำให้เกิดรายการ “งัดข้อ” กันในการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระยอง ระหว่าง “ปรีดี-สันติ” ตามรายงานข่าวที่ว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้อง “สั่งเบรก” วาระแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังกะทันหัน

ด้วยโผเดิมที่ “สันติ” ในฐานะรักษาราชการแทน รมว.คลัง เป็นผู้จัดไว้ก่อน “ปรีดี” จะเข้ามานั้น เสนอข้าราชการระดับสูง 4 ราย คือ 1.จำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็น รองปลัดกระทรวงการคลัง 2.พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็น อธิบดีกรมศุลกากร 3.ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็น อธิบดีกรมสรรพสามิต และ 4.วรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่ากรมธนารักษ์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง
เมื่อพิจารณาถึงวาระดังกล่าว “ปรีดี” ขอเปลี่ยนตัวกลางอากาศโดยเสนอให้ “ลวรณ” เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้วโยกให้ ประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร.มาเป็น อธิบดีกรมสรรพสามิต แทน “พชร”

เป็นเหตุให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงว่า ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อจากเอกสารที่เสนอ ครม.มาได้ และแนะนำว่า หากจะเปลี่ยนตัว ต้องถอนวาระออกไปก่อนแล้วนำมาเสนอใหม่

เอาเข้าจริงไม่ว่า “ลวรณ - พชร - ประภาส” ก็ถือเป็น “มือทำงาน” ของ “รัฐบาลลุงตู่” มาตั้งแต่ยุค “สี่กุมาร” คุมทีมเศรษฐกิจทั้งสิ้น ฝีไม้ลายมือของแต่ละชื่อที่ว่าไปล้วนแล้วแต่เป็นที่ยอมรับ

ปัญหาคือ “ฝ่ายการเมือง” ต้องการวาง “คนของตัวเอง” มาคุมหน่วยจัดเก็บภาษี ที่มีเป็นทางผ่านของรายได้ประเทศจำนวนมหาศาล แบบมี “เลศนัย”

งานนี้ คงต้อง “วัดพลัง” กันอีกพอสมควร คนหนึ่งก็ “เจ้ากระทรวง” ที่ถือเป็นโควตานายกฯ ขณะที่อีกคนแม้จะเป็น “ช่วยว่าการ” แต่ก็เป็นขาใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “คนที่รู้ว่าใคร” ให้ท้ายอยู่

เทียบฟอร์มแล้วก็สูสีดู๋ดี๋กันแบบที่ว่าโต๊ะพนันออกราคาต่อรองลำบาก


 ไม่ว่าจบอย่างไร ก็พอสรุปได้แล้วว่า ยังไม่ถึงเดือนดี “ปรีดี” คงเริ่มซึ้งแล้วว่า “วังวนน้ำเน่า” เป็นเช่นไร 

แล้วทำไม “คนดี-คนเก่ง” ถึงอยู่กันไม่ค่อยได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น