xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บัตรทอง รักษาได้ทุก รพ.” ฝันจริงหรือฝันค้าง...ยกระดับสาธารณสุขไทย?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีที่  “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศ  *“ยกระดับสิทธิบัตรทอง”  หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประชาชนรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกประชาชน เพิ่มเติมจากกรณี เจ็บป่วยฉุกเฉิน (UCEP) ที่มีสิทธิรักษาได้ทุกแห่ง ถือเป็นประเด็นร้อนในแวดวงสาธารณสุขไทย ณ เวลานี้


 “สิ่งที่อยากเห็น คือ เมื่อผู้ป่วยไปรักษาที่ไหน ก็ต้องได้รับบริการตรงนั้นเลย ไม่ต้องมาแยกว่า จดทะเบียน รพ.แถวบ้านต้องใช้สิทธิ์ตามนั้น ไม่ใช่อีกต่อไป ซึ่งต้องพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยความรวดเร็ว เพราะเรื่องสุขภาพประชาชน จะรอไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และเชื่อว่า สปสช. ก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่ผมทำให้เป็นนโยบาย จะได้มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง จะต้องไม่มีคำว่าอนาถา คนไทย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีในระบบสาธารณสุขของไทย” 

นายอนุทิน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบบสุขภาพกับการเมืองไทย” ในการประชุม Board Relation and Empowering คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563พร้อมทั้งมอบนโนบายให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการยกระดับหลักประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน

กล่าวสำหรับ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ระบบการให้บริการสุขภาพของ สปสช. มีการพัฒนามาตลอดเกือบ 20 ปี เพิ่มสิทธิการรักษาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้นิยาม Universal Health Coverage อันหมายถึงประชาชนคนไทยต้องได้รับการบริการอย่างครอบจักรวาล เรียกว่า ทั่วถึง เท่าเทียม ถ้วนหน้า เข้าถึงได้ ไม่แบ่งแยก ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อยกเว้น

ความคืบหน้าล่าสุด สปสช. อยู่ระหว่างยกร่างรายละเอียดเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ บอร์ด สปสช. ซึ่งในประเด็นนี้  นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือจะต้องผ่านความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการประชาพิจารณ์เสียก่อน ตลอดจนการพิจารณาวางระบบให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เป้าหมายต้องการอำนวยความสะดวกสบายแก่ประชาชน

ส่วนรายละเอียดจะเป็นไปตามนโยบายที่ นายอนุทิน เสนอให้สิทธิบัตรทองสามารถเลือกรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้หรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด แม้โดยเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกแง่มุมปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบสาธารณสุขไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นเพิ่มภาระแก่โรงพยาบาล ซ้ำเติมปัญหาระบบบัตรทองที่หมักหมมอยู่

ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์แสดงความ “ไม่เห็นด้วย”  เริ่มตั้งแต่ เฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ของ  นพ.วิทวัส ศิริประชัย ระบุว่าการให้สิทธิคนไข้รักษาที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องรักษาที่โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนบัตรทอง สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือคนไข้จะแห่แหนกันไปโรงพยาบาลใหญ่กันหมด เพราะมีความเชื่อว่าโรงพยาบาลใหญ่มีมาตรฐานการรักที่ดีกว่า จะเกิดการกระจุกตัวของคนไข้ที่โรงพยาบาลจังหวัดโรงพยาบาลศูนย์แห่งใหญ่ ที่นี้จะทำให้งานโหลดหนักมากเสียบรรดาจนแพทย์ทำงานกันไม่ไหว

“ระบบของเดิมที่ให้รักษาที่ รพ. ที่ขึ้นทะเบียน อันนั้นคือเพื่อกระจายๆ คนไข้ไปยัง รพ. ที่รักษาโรคนั้นไหวตามศักยภาพของ รพ. ที่ต้องทำ ไม่ใช่ให้รักษาที่ไหนก็ได้ (ยกเว้นสิทธิฉุกเฉิน UCEP อันนั้นรักษาที่ไหนก็ได้) แต่ให้ขั้นตอนการย้ายสิทธิมันง่ายขึ้น แบบที่ตอนนี้ สปสช. ให้ย้ายสิทธิผ่านแอปมือถือได้ง่ายขึ้น แต่การให้รักษาใน รพ. ที่ขึ้นทะเบียนไว้ยังมีความจำเป็นอยู่ ไม่งั้นมั่วซั่วแน่

“ยังไม่รวมถึงกรณีคนไข้ตระเวนเปลี่ยนหมอไปเรื่อยๆ มันเคยมีมาแล้ว แบบคนไข้ไปรักษาหมอที่นึง แล้วปกติถ้าไม่หาย มันมีลำดับขึ้นว่าจะส่งตรวจหาโรคต่อไปยังไง ปรากฎคนไข้พอไม่หายก็คิดว่าหมอไม่เก่ง ย้ายไปรักษาที่อื่น พอไม่หายอีก ก็วนลูปไปเรื่อยๆ สุดท้ายกว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งก็สายไปแล้ว

“ระบบนี้ที่มากับ 30 บาทแต่แรกเริ่ม คิดมารอบคอบดีแล้ว เราทำให้คนไข้ย้ายสิทธิได้สะดวกขึ้น แต่เรื่องการรักษาเขตที่ขึ้นทะเบียนไว้ ยังมีความจำเป็นอยู่ ที่สำคัญคือการพัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่า และการทำฐานข้อมูลเวชระเบียนคนไข้ให้เชื่อมต่อกันได้ในเครือข่าย รพ. รัฐทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำได้ ตอนนั้นเราจะทำให้คนไข้สะดวกขึ้นแบบมหาศาล โดยที่จะไม่เกิดเหตุคนไข้มากระจุกตัวกันใน รพ. ใหญ่ๆ จนล้นแน่” 
 
สอดคล้องกับ เฟซบุ๊กเพจ หมอขอบ่นหน่อยเหอะ AggressiveDoctor โพสต์แสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับนโยบายของนายอนุทิน โดยอธิบายว่าหากคนไข้สิทธิบัตรทองสามารถเข้าได้ทุก รพ. สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนไข้มากมายจะตรงไป รพ. ใหญ่โดยตรง โดยไม่ผ่าน รพ.ชุนชม จนเกิดเป็นปัญหาที่จะตามมา ดังต่อไปนี้ 1. เตียงไม่พอ 2. คนไข้ได้รับการตรวจและรักษาช้ากว่าเดิม 3. หมอมีเวลาให้คนไข้แต่ละคนน้อยกว่าเดิม มีโอกาสเกิดความผิดพลาด ได้มากขึ้น 4. รพ. ขาดทุนมากขึ้น 5. ระบบสาธารณสุข พังเร็วขึ้น 6. อนามัย / รพ.ชุมชน จะถูกยุบในอนาคต เพราะค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่าบำรุงรักษา ไม่คุ้มงบประมาณที่จะจ่ายให้

อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง เป็นสิทธิตามกฎหมายที่คุ้มครองคนไทย ที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรัฐวิสาหกิจ หรือสิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้มีสิทธิเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากเจ็บไข้ได้ป่วยรัฐจะให้การดูแลรักษา

มีงานวิจัยระบุชัดเจนถึงข้อดีของระบบบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงการรักษาและไม่ต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ไม่ต้องขายบ้าน จำนำรถ จำนองที่ดิน เพื่อหาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงหูฉี่เหมือนในสมัยก่อนโน้น แต่อีกมุมหนึ่งของระบบบัตรทองนั้นเพิ่มภาระให้โรงพยาบาลตลอดจนบุคคลากรทางการแพทย์ ส่งผลกระทบให้ทำให้บางโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง
สิทธิตามระบบบัตรทอง เดิมกำหนดให้เข้ารับรักษาตามโรงพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นการวางระบบสร้างหลักประกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

ยกเว้น กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (UCEP) สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ใช้สิทธิการรักษาตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

สำหรับการเข้าถึงสิทธิ UCEP ผู้ป่วยต้องเข้าข่าย 6 อาการฉุกเฉินวิกฤต ดังต่อไปนี้ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

 ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เป็นสิทธิด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานคุ้มครองคนไทยจำนวนกกว่า 48 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ในปี 2564 สืบเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีประชาชนย้ายมาจากสิทธิประกันสังคมจากเหตุว่างงาน จำนวน 990,750 คน 

กล่าวเฉพาะสิทธิตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” การรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือ Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทันที ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยจะมีกองทุนตามสิทธิการรักษารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤต แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง

มีงานวิจัยระบุว่า ต้นทุนบริการ UCEP โรงพยาบาลเอกชนสูงกว่ารัฐ 4.7 เท่า เช่นต้นทุนการให้บริการ UCEP กรณีเดียวกัน โรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เฉลี่ยอยู่ที่ 47,272 บาท ทำให้โรงพยาบาลเอกชนประสบภาวะขาดทุนและไม่อยากเข้าร่วม โดยที่ผ่านมารัฐให้ค่าชดเชยเอกชนต่ำกว่าต้นทุน อยู่ที่ 40 - 50% ของราคา กล่าวคือรัฐคืนเงินให้เอกชนไม่ถึงครึ่ง ทั้งนี้ มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเปิดเผยว่าเคยขาดทุนถึงเดือนละ 3 ล้าน
ตามข้อมูลยังระบุอีกว่าตั้งแต่เริ่มนโนบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP มีประชาชนเข้าถึงบริการตลอดเพิ่มขึ้นอย่าง เกิดการรับรู้และตระหนักในการสิทธิสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามตัวเลขการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งต่ำลง เป็นการบ่งชี้ว่าค่าชดเชยบริการไม่เป็นไปตามที่โรงพยาบาลคาดหวัง

 อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลต่อนโยบาย “ยกระดับสิทธิบัตรทอง” ให้สิทธิรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนเพิ่มเติม ตามแนวคิดของนายอนุทิน เป็นประเด็นที่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบ ยิ่งฟังเสียงสะท้อนจากหมอแล้วเรียกว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากเพียงเดินหน้านโยบายหวังเรียกคะแนนนิยม ดีไม่ดีระบบประกันสุขภาพของคนไทยจะพังครืนเอาเสียง่ายๆ ส่วนบทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 




กำลังโหลดความคิดเห็น