ปฏิวัติวงการสุขภาพ เทียบระบบสาธารณสุข สิทธิบัตรทองแบบใหม่-เก่า ทำอะไรได้บ้าง หลัง “อนุทิน” ประกาศยกระดับ “บัตรทอง” คนไทยต้องรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ไม่มีคำว่าผู้ป่วยอนาถา
แบบใหม่เอื้อประชาชน ลำบากหมอ?
ปฏิวัติวงการสุขภาพ หลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศมอบนโยบายให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกระดับสิทธิ์ บัตรทอง ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล
และจากนี้ยังยืนยันว่า ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน
“สิ่งที่อยากเห็น คือ เมื่อผู้ป่วยไปรักษาที่ไหน ก็ต้องได้รับบริการตรงนั้นเลย ไม่ต้องมาแยกว่าจดทะเบียน รพ.แถวบ้านต้องใช้สิทธิตามนั้น ไม่ใช่อีกต่อไป ซึ่งต้องพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยความรวดเร็ว
เพราะเรื่องสุขภาพประชาชนจะรอไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และเชื่อว่า สปสช. ก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่ผมทำให้เป็นนโยบายจะได้มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จะต้องไม่มีคำว่าอนาถา คนไทย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีในระบบสาธารณสุขของไทย”
ส่วนจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่ที่ประชาชนจะได้ใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกโรงพยาบาล ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าต้องทำให้รวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ซึ่งเรื่องอื่นๆ อย่างเครือข่ายรพ.ต่างๆ ก็พร้อมหมดแล้ว ซึ่งท่านเลขาธิการ สปสช.ได้รับเรื่องไปแล้ว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังย้ำอีกว่า จากนี้ไปจะไม่มีผู้ป่วยอนาถา คำว่าผู้ป่วยอนาถาต้องไม่มี ความเหลื่อมล้ำไม่มี คนไทยจะอนาถาไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน
สำหรับสิทธิบัตรทองแบบใหม่นั้น หากมาลองเทียบแบบเก่า ก็สรุปได้คือจะเปลี่ยนจากเดิมที่ให้รักษากับโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ เปลี่ยนเป็นรักษาได้ทุกโรงพยาบาล สามารถใช้สิทธิบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้
ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมคงต้องรอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันความชัดเจนอีกครั้ง สำหรับสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ
ขณะเดียวกัน แน่นอนว่าหลังจากมีประกาศจะยกระดับบัตรทองขึ้น สังคมหลายส่วนก็ตั้งคำถามถึงปัญหาช่องโหว่ พร้อมมีกระแสว่าหากให้สิทธิคนไข้รักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องรักษาในโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองจะทำให้คนไข้จะไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด หรือในโรงพยาบาลศูนย์ งานหนักก็จะไปตกอยู่ที่หมอตรวจไม่ไหว เพราะคนจะแห่กันไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ กันหมด
เทียบบัตรเก่ากับข้อจำกัดในการรักษา
อย่างที่ทราบกันดีว่าสิทธิบัตรทองนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิใช้บัตรทอง เพียงแค่บัตรประชาชนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ก็สามารถขึ้นทะเบียนรับสิทธิบัตรทองได้
นอกจากนี้ กยังไม่เว้นแม้แต่เด็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชน ก็สามารถใช้ใบสูติบัตรไปขึ้นทะเบียนได้เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพของประกันสังคม ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นใดจากรัฐเท่านั้น
อย่างกรณีของเด็กหากมีสวัสดิการจากพ่อแม่ที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานวิสาหกิจอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับสิทธิบัตรทอง
โดยหลักๆ แล้ว บัตรทองให้สิทธิในการรักษาพยาบาล ตรวจ วินิจฉัยโรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง รวมถึงโรคเฉพาะทางต่างๆ ทั้งในฐานะผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ค่ายาเวชภัณฑ์ ค่าอาหารและค่าห้อง การจัดส่งต่อผู้ป่วยกรณีที่ต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลศูนย์
นอกจากนั้น ยังให้สิทธิการวางแผนครอบครัว คุมกำเนิด ฝากครรภ์ คลอดบุตร (ไม่เกิน 2 ครั้ง) วัคซีนตามนโยบายของรัฐ การตรวจคัดกรองความเสี่ยง เช่น วัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม บริการทันตกรรม บริการแพทย์แผนไทยและบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด
สิทธิในการใช้บัตรทองเบื้องต้นจะต้องไปใช้สิทธิที่หน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกที่เข้าร่วมตามที่มีสิทธิอยู่
หากมีสิทธิอยู่ ก็สามารถยื่นแค่เพียงบัตรประชาชนเพื่อใช้สิทธิได้เลยไม่จำเป็นต้องใช้บัตรทองไปยื่นเพื่อรับการรักษาพยาบาลแล้ว ทางหน่วยบริการจะสามารถตรวจสอบสิทธิให้ได้ เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหมดทุกระบบเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ หากหน่วยบริการไม่สามารถรักษาได้ก็จะทำการส่งตัวคนไข้ให้ไปรักษายังโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นต่อไป แต่หากเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถใช้สิทธิข้ามเขตได้ โดยสามารถใช้สิทธิได้ 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง
ส่วนบัตรทองสามารถใช้กับโรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่นั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเท่านั้น เช่น หัวใจหยุดเต้น หมดสติ เลือดออกไม่หยุด หายใจไม่ออก ขาดน้ำรุนแรง วิกฤตจากอุบัติเหตุชัด ปากเบี้ยว วิกฤตจากไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็สามารถเลือกรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านโดยแจ้งเป็นเหตุฉุกเฉิน โดยที่ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ส่วนหากเป็นเรื่องการต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่หน่วยบริการทางการแพทย์ที่เรามีสิทธิอาจไม่มีแพทย์เฉพาะทางนั้น ต้องแจ้งความจำนงกับโรงพยาบาลเอกชนที่เราจะขอใช้สิทธิก่อนว่าสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่
ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัด อยากรักษาในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้นถึงจะใช้สิทธิบัตรทองได้เลยทันที แต่หากเป็นการรักษาโรค เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง ต้องปรึกษาแพทย์ที่หน่วยบริการการแพทย์ที่เรามีสิทธิเพื่อให้ออกใบส่งตัวให้ แต่หากเป็นการรักษาโรคทั่วไปไม่สามารถใช้สิทธิได้
ไม่เพียงเท่านี้ สิทธิบัตรทองก็ไม่สามารถฟรีไปหมดทุกอย่าง สำหรับกรณี เช่น ภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม การแปลงเพศ การตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาที่เกินกว่าความเห็นของแพทย์ การบาดเจ็บการอุบัติเหตุรถยนต์ การบำบัดฟื้นฟูกรณีติดยาเสพติด การเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้น ปลูกถ่ายหัวใจ ปลูกถ่ายไตกรณีไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายตับในเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตั้งแต่กำเนิด เป็นต้นจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ยตรทองได้
การรักษาด้วยกรณีดังกล่าวจึงต้องจ่ายเงินเอง รวมถึงหากเป็นการรักษาโรคทั่วไปแต่ผู้ป่วยไปใช้สิทธิข้ามเขต หรือการขอห้องนอนพิเศษเมื่อเป็นผู้ป่วยใน แบบนี้ก็ต้องจ่ายเองเช่นกัน
ข่าว : MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **