xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขาดทุนยับ บินไทยจ่อยุบ “ไทยสมายล์” ไม่รอดแน่แค่รอเวลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อบริษัทแม่คือ การบินไทย อยู่ในอาการร่อแร่ บริษัทลูกอย่าง  “ไทยสมายล์” ก็ยากที่จะรอด เพราะแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่อยู่ในกระบวนการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางต้องมีแนวทางชัดเจนว่าจะตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตและฟื้นคืนชีพได้อย่างไร

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  กรรมการการบินไทย ที่มีหมวกใบใหญ่ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คีย์เมกเกอร์ตัวจริงที่เข้ามาสะสางปัญหาในการบินไทย พูดถึงอนาคตของไทยสมายล์ในแผนฟื้นฟูการบินไทยว่าคงต้องควบรวม หรือพูดง่ายๆ คือยุบทิ้ง สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของลูกค้า กระทั่ง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร  รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องแตะเบรกเบาๆ เดี๋ยวรอความชัดเจนอีกสักหน่อยเสียก่อน 
 
การฟื้นฟูการบินไทยซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงไทยสมายล์นั้น มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ตามไทม์ไลน์ที่ว่าตลอดเดือนสิงหาคมนี้ เป็นเวลาที่ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนการขอทำแผนฟื้นฟูฯ นัดแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นัดที่สอง 20 สิงหาคม หลังจากนั้นจะไต่สวนอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม เป็นการสืบพยานของผู้คัดค้าน

ตามแผนฟื้นฟูฯ ที่นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอยู่ตรงที่ว่าการฟื้นฟูการบริหารต้องแปลงเปลี่ยนการบริหารงานโดยการปรับโครงสร้างบริษัท จากที่ผ่านมาเกิดขึ้นผิดพลาดและเกิดช่องโหว่ในการบริหาร เช่น การไม่มีเจ้าของบริษัทที่แท้จริงและผู้บริหารในอดีตเข้ามาทำงานที่รับเงินเดือนอัตราสูง และการบริหารงานมีปัญหาจากประสิทธิภาพของผู้บริหารในอดีต รวมทั้งผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน

ส่วนแนวทางการฟื้นฟูกิจการการบินไทย จะพิจารณาแก้ปัญหาและอุปสรรคของการบินไทยที่สำคัญ คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างรุนแรงทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาการบินไทยทำการบินระหว่างประเทศเป็นหลัก เมื่อไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้จึงกระทบกับผลดำเนินงานมาก ดังนั้น จำเป็นต้องปรับทำการบินในประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งในขั้นตอนการทำแผนฟื้นฟูกิจการจะพิจารณาประเด็นนี้ เช่น การควบรวมกับสายการบินไทยสมายล์

“ผมเห็นด้วยกับการควบรวม เพราะการบินไทยถือหุ้นในไทยสมายล์ 100% แต่ที่ผ่านมามีการแยกบริหารและแยกคณะกรรมการบริษัท ทำให้การบินไทยเข้าไปควบคุมไทยสมายล์ไม่ได้ รวมทั้งมีการนำผลขาดทุนของไทยสมายล์มาให้กับการบินไทย ดังนั้นเมื่อการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงไม่สามารถแบกรับภาระของผู้อื่นได้” นายพีระพันธุ์ กล่าว

 ผลประกอบการไทยสมายล์แอร์เวย์งวด 6 เดือน สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 มียอดขาดทุนสะสม 10,305 ล้านบาท โดยบริษัทแม่คือการบินไทย ประเมินว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีข้อบ่งชี้ที่อาจเกิดการด้อยค่าของเงินลงทุนในไทยสมายล์แอร์เวย์ รวมทั้งคาดว่าจะได้รับคืนของเงินลงทุนต่ำกว่ามูลค่าบัญชี และได้พิจารณาตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนทั้งจำนวน 

ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ตั้งเมื่อ 17 ตุลาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท การบินไทย ถือหุ้น 100% โดยเริ่มทำการบินวันที่ 10 เมษายน 2557 ใช้รหัสสายการบิน WE โดยมีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดในช่วง 7 ปีนับจากการก่อตั้งบริษัท

ส่วนผลประกอบการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ระบุว่า ไตรมาสแรกปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 456 ล้านบาท โดยผลขาดทุนส่วนใหญ่เป็นของบริษัทใหญ่ 22,676 ล้านบาท คิดเป็นผลขาดทุนต่อหุ้น 10.39 บาท เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 0.20 บาท

ส่วนไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,525 ล้านบาท โดยการขาดทุนสุทธิส่วนใหญ่เป็นของบริษัทใหญ่ 5,340 ล้านบาท คิดเป็นการขาดทุนต่อหุ้น 2.45 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนต่อหุ้น 3.15 บาท

กล่าวโดยสรุป ช่วงครึ่งแรกปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลขาดทุนสุทธิรวมกันราว 28,029 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 21,607 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ 6,422 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นราว 336%

เมื่อผลประกอบการทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูกขาดทุนยับเยิน นอกเหนือจากกรณีที่ต้องตัดสินใจตัดอวัยวะคือ ไทยสมายล์ แล้ว การบ้านใหญ่อีกข้อคือ การเพิ่มรายได้ของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของการบินไทยแต่ละหน่วยธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น โดยให้แต่ละหน่วยธุรกิจมีอิสระในการสร้างรายได้ ซึ่งเดิมแต่ละหน่วยธุรกิจจะเน้นการทำงานเพื่อรองรับการทำงานของการบินไทยเป็นหลัก ยังไม่มีการแยกหน่วยธุรกิจออกเป็นบริษัท

หน่วยธุรกิจที่เล็งๆ กันไว้ว่าสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ คือ หน่วยธุรกิจครัวการบิน จะต้องเพิ่มการสร้างรายได้จากการสายการบินอื่นมากขึ้น ในขณะที่หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน จะต้องสร้างรายได้จากการให้บริการสายการบินอื่นเพิ่มขึ้น

อีกไฮไลท์ของแผนฟื้นฟูฯ เล็งเป้าไปยังการเพิ่มการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านระบบออนไลน์ โดยนายพีระพันธ์ ระบุชัดเจนว่า จะยกเลิกการจำหน่ายตั๋วผ่านระบบเอเย่นต์แน่นอน เพราะที่ผ่านมาระบบเอเย่นต์ทำให้การบินไทยได้ประโยชน์จากการจำหน่ายตั๋วลดลง และการบินไทยต้องให้สิทธิประโยชน์กับเอเย่นต์มาก

นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยปรับจำนวนตำแหน่งระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพราะบางส่วนไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร รวมทั้งมีการกำหนดค่าตอบแทนตำแหน่งในอัตราที่สูง ตำแหน่งที่เจอปรับแน่คือตำแหน่งที่มีลักษณะงานซ้ำซ้อน เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันเป็นตำแหน่งเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและลดค่าใช้จ่ายด้านผลตอบแทนของบริษัท เช่นที่ผ่านมาเมื่อเจอปัญหากลุ่มงานลักษณะเดียวกันแต่มีตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ดูแลถึง 3 คน

 “การฟื้นฟูกิจการการบินไทยไม่ยาก เพราะปัญหาอยู่ที่จะทำหรือไม่ทำ ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ทำจึงมีปัญหาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เหมือนปัญหาของสายการบินไทยสมายล์ ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดแต่ไม่มีการแก้ปัญหา” นายพีรพันธุ์ กล่าว 

สัญญาณไฟเขียวชัดเจน แต่นายชาญศิลป์ก็ต้องขอแตะเบรกสักนิด โดยระบุว่าข่าวเรื่องการยุบ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทยนั้น ขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลล้มละลายกลาง ตามที่ขอยื่นคำร้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อกระบวนการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลจึงจะพิจารณาว่า บริษัท การบินไทยฯ ควรเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือไม่ รวมทั้งศาลจะแต่งตั้งคณะผู้ทำแผน ซึ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป หลังจากนั้น คณะผู้ทำแผนจะดำเนินการจัดทำแผนซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 3 ถึง 5 เดือน

ระหว่างนี้ ไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย และเป็นสายการบินแบบ Full Service ยังคงให้บริการในเส้นทางภายในประเทศและภูมิภาคเหมือนเดิม แม้ว่าไทยสมายล์จะมีผลประกอบการขาดทุน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยสมายล์ ก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้นตามลำดับ กล่าวคือขาดทุนน้อยลง

นอกจากนั้น ไทยสมายล์ ยังได้รับ 2 รางวัลจากการจัดอันดับ โดยเว็บไซด์ทริปแอดไวเซอร์ (Tripadvisor Travellers’ Choice Airline Awards) ประจำปี 2563 ได้แก่ รางวัลแรกเป็น สายการบินยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชีย เป็นครั้งที่ 3 และรางวัลที่สองเป็น สายการบินยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของประเทศไทย ติดต่อกันเป็นปีที่ 4

อีกทั้งการบินไทย และไทยสมายล์ ยังเป็นสองสายการบินแรกของประเทศไทยที่ได้รับมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยให้แก่ผู้โดยสารตลอดการเดินทาง บริษัทฯ ขอให้ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น รวมทั้งสาธารณชนเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะจัดทำแผนการกำกับดูแลบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำกำไรได้ต่อไป


 ก็ต้องติดตามการปลุกชีพสายการบินแห่งชาติกันต่อไปว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ที่แน่ๆ ไทยสมายล์ คงสิ้นชื่อ 


กำลังโหลดความคิดเห็น