xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือน : เหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



ความเป็นธรรมหมายถึง สภาวะที่ตรงกับความเป็นจริง หรืออีกนัยหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับเหตุ ตามความสภาวะแห่งความเป็นจริง เช่น ผลที่เกิดจากเหตุไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ก็จะไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ในทางกลับกัน ผลที่เกิดจากเหตุที่ถูกต้อง และเป็นธรรม ก็จะต้องเป็นผลที่ถูกต้อง และเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรมในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาข้อที่ว่า หว่านพืชชนิดใด ก็จะได้ผลผลิตจากพืชชนิดนั้น ยทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ

โดยนัยแห่งความเป็นธรรม และไม่เป็นข้างต้น ถ้าบุคลากรซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษากฎหมาย และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้คนในสังคม ยึดหลักความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับทุกคนที่กระทำผิดกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเสมอภาคกัน โดยยึดหลักปัจจยาการ หรืออิทัปปัจจยตาคือผลเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดี ผลจะต้องดี ในทางกลับกัน ถ้าเหตุไม่ดีผลที่ออกมาก็จะไม่ดี เชื่อว่าได้ทุกคนในสังคม จะได้รับความเป็นธรรมโดยเสมอภาคแน่นอน

แต่ในความเป็นจริง กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเท่าที่ผ่านมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มิได้เป็นตามหลักการเหตุและผลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้จากคดีความที่เกิดขึ้น และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีทั้งที่จบลงด้วยความเป็นธรรม และไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณี ทั้งในส่วนที่เป็นโจทก์และจำเลย ทั้งนี้น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ผู้ต้องหาในคดีเป็นคนมีฐานะทางการเงิน และมีสถานะทางสังคม รวมไปถึงการมีเส้นสายในทางราชการหรือการเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำหน้าที่สอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานทำงานได้ยาก เนื่องจากถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของฝ่ายจำเลย จึงนำผลของการสอบสวนบิดเบือนจากความเป็นจริง ในส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญ และทำให้สำนวนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พอที่จะเอาผิดกับจำเลยได้

2. เมื่อการสอบสวนตามนัยแห่งข้อ 1 มาถึงมืออัยการ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาในการสั่งฟ้อง และไม่สั่งฟ้อง จึงกลายเป็นช่องว่างในการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง อัยการสามารถส่งกลับมาให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่เห็นไม่ครบถ้วนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการ แต่ในกรณีที่อัยการกับตำรวจเห็นตรงกัน เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง และสั่งคืนตำรวจและฝ่ายตำรวจไม่โต้แย้งเกิดขึ้นได้เป็นส่วนใหญ่ และที่เป็นเช่นนี้เองคือช่องว่างจำเลยซึ่งมีอิทธิพลเหนือโจทก์ ทั้งในทางการเงิน และทางสังคมหลุดรอดไปได้ในชั้นอัยการ

3. ในกรณีที่อัยการส่งฟ้องศาล ทั้งๆ ที่สำนวนไม่ครบถ้วน ก็เป็นช่องว่างให้ศาลยกฟ้องได้เช่นกัน

จากปัจจัย 3 ประการข้างต้น จะเห็นได้จากกระบวนการยุติธรรมในขั้นซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ และอัยการมีช่องทางให้ผู้กระทำผิดซึ่งมีอิทธิพลทางด้านการเงิน และมีฐานะทางสังคมวิ่งเต้นได้ง่าย และมีโอกาสหลุดรอดได้มากที่สุด

วันนี้และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยกำลังสับสนเกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ และอัยการ ในกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงแก่ความตายเมื่อปี 2555 และอัยการได้สั่งไม่ฟ้อง และทางฝ่ายตำรวจไม่โต้แย้งในปี 2563

แต่ในทันทีที่ข่าวการไม่สั่งฟ้องปรากฏทางสื่อ ผู้คนในสังคมต่างแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการซึ่งรับผิดชอบในคดีนี้อย่างกว้างขวาง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาความจริงเกี่ยวกับคดีนี้ถึง 4 คณะคือ

1. คณะกรรมการที่สำนักงานอัยการแต่งตั้งขึ้น

2. คณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งขึ้น

3. คณะกรรมการที่ทางกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภาฯ แต่งตั้งขึ้น

4. คณะกรรมการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น

ในขณะที่เขียนบทความนี้ คณะกรรมการที่สำนักงานอัยการแต่งตั้ง ได้ดำเนินการเสร็จและมีการแถลงผลของการทำงานสรุปได้ว่า การสั่งไม่ฟ้องของอัยการชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด แต่มิได้ลงลึกถึงรายละเอียดและเหตุผลที่ว่า ทำไมอัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่อัยการเคยไม่รับอุทธรณ์ร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา และสั่งฟ้อง พร้อมกันนี้ไม่โยนเผือกร้อนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับสารเสพติดคือโคเคน ซึ่งไม่ปรากฏในสำนวนของตำรวจ

ส่วนอีก 3 คณะยังดำเนินการไม่เสร็จ จึงต้องรอฟังคำแถลงกันต่อไปว่าผลจะออกมาอย่างไร

แต่ไม่ว่าคดีนี้จะยุติหรือเดินต่อ และสุดท้ายผลจะออกมาอย่างไรในเวลานี้ผู้คนในสังคมได้มองกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนซึ่งตำรวจ และอัยการรับผิดชอบเป็นลบไปแล้วในระดับหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น