นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและนักธุรกิจกลางคืนชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “หนีไปก่อน ผ่อนหนักเป็นหลุด”ระบุว่า 7 กลยุทธ์ หลุดคดี สังคมตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร
ผมจึงขอสาวไส้ให้ฟังว่า “คนรวย” เขาทำกันแบบไหน แต่ขอโทษนะครับ คนจน อด
1. “ยื้อเวลาให้นานที่สุด”
หาข้ออ้างเลื่อนเวลาไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งรีบไปพบตำรวจ เพราะเวลาเพิ่งมีเรื่อง กระแสยังแรง ต้องรอให้คลื่นลมสงบ จะอ้างอะไรก็อ้างไป ถ่วงเวลาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ไม่สบาย ป่วยโรคอะไรก็ขุดขึ้นมาได้ ไม่ว่าเบาหวาน ความดัน ฉี่ไม่สุด หาใบรับรองแพทย์มาประกอบยืนยัน
หรืออ้างธุรกิจยุ่งเหยิง ต้องไปจัดการงานสำคัญที่ต่างจังหวัดต่างประเทศก็ว่าไป เพราะมีตำแหน่งแห่งหนสำคัญ ไม่มีใครไปแทนได้
2. “ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด”
อันนี้สำคัญ เพราะกฎหมายเปิดช่อง หวังจะให้ไปคานอำนาจตำรวจ ไว้ผดุงความยุติธรรมให้กับผู้ต้องสงสัย สามารถขอให้อัยการสั่งตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ที่ตำรวจไม่ได้สอบเอาไว้ได้
แต่กลับกลายเป็นช่องโหว่ให้พวกรู้มากเอามาใช้ยื้อเวลา และเพื่อให้สอบในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น
อันนี้ช่วยขยายเวลาเพิ่มขึ้นอีกนาน เพราะตำรวจยังส่งฟ้องไม่ได้ ต้องไปสอบเพิ่มตามที่ผู้ต้องหาร้องเรียนไว้กับอัยการสูงสุด
แม้ว่าบางคำร้องอัยการสูงสุดก็รับ บางคำร้องก็ไม่รับ ส่วนของบอสน่ะหรือ? ไม่ต้องห่วงครับ รับเรียบร้อย
พุทโธ่! ก็กฎหมายเขาให้อำนาจเอาไว้ ขึ้นอยู่กับ "ดุลยพินิจ” รู้จักไหม?
3. หากไม่พอ มีเส้นสายในสภา ให้ไป "ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการสภา”
ไม่ว่ากรรมาธิการการตำรวจ ยุติธรรม ป.ป.ช. ขั้นนี้หากไม่มีเส้นสายอย่าไปหวัง หลายร้อยหลายพันเรื่องที่ชาวบ้านร้องมา แต่กรรมาธิการคัดเอาเฉพาะบางเรื่อง จะให้สอบทุกเรื่องได้อย่างไร ส่วนเรื่องของบอสเหรอครับ ก็รับไปสอบแน่นอน!
นี่ก็เสียเวลาไปอีกโข เพราะกว่าจะเอาเข้าที่ประชุม กว่าจะสอบเสร็จ อ้างได้อีกว่าอยู่ระหว่างการประชุมของคณะกรรมาธิการ แม้ไม่มีอำนาจ แต่ก็เกรงใจ ยื้อเวลาไปได้ เขยิบไปอีก
4. "บั่นทอนสำนวนให้อ่อน”
สำนวนแข็ง ทำให้อ่อน สำนวนอ่อน ทำให้อ่อนมาก หลักฐานอะไรจะทำให้หาย พยานที่ไหนจะเพิ่มก็รีบยัดเข้ามาตอนนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัว เพราะจะไปปรากฏอยู่ในสำนวน
เรียกว่า กลยุทธ์ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ไอ้ปื๊ด” ส่วนไหนไม่เป็นประโยชน์ตัดทิ้งได้ก็ตอนนี้แหละ เลื่อนเวลามาเนิ่นนานถึงตอนนี้ เป็นปีแล้ว กระแสเริ่มหาย คนเริ่มลืม พยานไหนแข็ง อ้างว่าตอนนั้นสมองมึนงง เครียด ขอให้การใหม่
5. "ยอมให้ออกหมายจับตามขั้นตอน"
ท้ายสุด ออกหมายจับโชว์เสียหน่อย ตัวอยู่ไหนให้จับได้ที่นั่น แต่ที่ไหนได้ ก็แค่อย่าไปปรากฏตัวในที่สาธารณะ อย่าไปเดินห้าง อย่าไปกินข้าวให้คนเขาเห็น
หรือออกไปหลบต่างประเทศเสียเลย ถือโอกาสพักร้อน บางคนปักหมุดที่ ปอยเปต เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือหากระดับบอสก็ยุโรปลอนดอน มีเครื่องบินส่วนตัว ไปได้ทั่วโลกยกเว้นเมืองไทย
6. "ถอนหมายจับ"
ถึงขั้นนี้ก็เข้าสู่กระบวนการขอถอนหมายจับ เป็นอันจบหมดเรื่อง ยินดีต้อนรับกลับบ้านได้
เวลคั่มโฮมครับ!
แต่สำคัญ ต้องป้องกันไว้ก่อน เผื่อใครร้องเรียน ให้รองฯ ที่ใกล้เกษียณเซ็น เผื่อเหลือเผื่อขาด จะได้อ้างว่าไม่รู้เรื่อง เพราะได้มอบหมายให้ไปแล้ว ผมยุ่ง ประชุมอยู่
ปั๊ดโธ่ว งานมันเยอะ จะให้ไปรู้ทุกเรื่องได้ไง
พออะไรเข้าที่เข้าทาง ต่อให้ใครไปร้องก็ทำอะไรไม่ได้เสียแล้ว กระบวนการจบ ถอนหมายจับเรียบร้อย คดีปิด เป็นอันสิ้นสุด กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย
7. “หากเรื่องแตกก่อน ยังมีก๊อกสอง”
หากหลุดเข้าสู่กระบวนการศาล แต่เมื่อสำนวนปวกเปียก หลักฐานไม่มี สู้ยังไงก็ชนะขาดที่ศาลชั้นต้น จบตรงนี้ดีกว่าเยอะ ไม่ต้องไปเสี่ยงเซียมซี เดี๋ยวงานงอก
เห็นไหมว่ากระบวนการมันยิ่งยาว ยิ่งฟอกง่าย อย่างบอสเลื่อนยื้อได้ถึง 8 ปี อะไรที่เคยชัดก็เริ่มเลือนลาง ทั้งความเร็ว ทั้งพยาน ล้วนอ่อนระโหยโรยแรง จางหายไปกับสายลมผงเข้าตา สังคมออกมาเอะอะโวยวายก็ทำอะไรไม่ได้ สายไปเสียแล้ว
ที่ว่าไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายให้ไปฟ้องเองอย่างที่พูด มันทำไม่ได้หรอกครับ เพราะครอบครัวผู้เสียหายรับเงินเยียวยามาแล้ว พร้อมเซ็นว่าไม่ติดใจไปฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา ก่อนรับเงินต้องเซ็นกันรับจบตรงนี้ เลิกแล้วต่อกัน
อย่างนี้ถึงต้องหนีไปก่อน โอกาสรอดยังมี ออกหมายจับแล้ว ยังถอนหมายจับได้ ช่างเป็นที่กรุณาโดยแท้ ทั้งๆ ที่เจ้าตัวยังไม่ได้โผล่เยื้องกรายแวะขึ้นศาลแม้สักครั้งเดียว
ฟังแล้วอย่าได้แปลกใจไป
“คนจนทำบ่ได้ดอกครับ”